SHORT CUT
ชายหนุ่มสองคนเดินมาตามทางโรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.แม่สอด จ.ตาก คนที่เดินนำไว้ผมยาว สวมแว่นสายตา ร่างกายท่อนบนไม่มีลักษณะใดโดดเด่น ผิดก็แต่ท่าเดินเก้กังที่มีที่มาจากขาเหล็กที่เขาสวมแทนขาซ้าย
เขาเดินมาหยุดตรงหน้าเก้าอี้แล้วยิ้มแหยเผยคราบสีแดงเลือดนกติดตามไรฟัน เขานั่งลงและถอดขาเทียมออก เผยให้เห็นขาที่ถูกตัดเหนือระดับหัวเข่า อันมีที่มาจากกระสุนปืนของรัฐบาลทหาร
มิน ลัน (Min Lun) ถูกยิงเข้าที่เข่าข้างซ้ายระหว่างเดินประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา เขาถูกควบคุมตัวไปที่โรงพยาบาลทหาร ก่อนถูกตัดขา และส่งเข้าเรือนจำในฐานะนักโทษการเมือง
หากมองแค่ภาพลักษณ์ภายนอก ยากจะเดาได้ว่านี่คือหนึ่งในศิลปินแรปเปอร์ที่มีชื่อเสียงของเมียนมา เจ้าของผลงานเพลง ‘Generation Lee’ เพลงแรปต่อต้านรัฐที่มียอดวิวในยูทูปแล้ว 185,000 ตรั้ง
“เพลงของผมมันค่อนข้างดังเลยแหละ พวกต่อต้านรัฐบาลทุกคนรู้จักเพลงนี้กันทั้งนั้น” มิน ลันกล่าวพร้อมอมยิ้ม
แม้ถูกแบ่งออกจากกันด้วยเส้นแบ่งรัฐชาติ แต่ไทยและเมียนมาต่างมีประสบการณ์ร่วมกันถึงการยึดอำนาจ กลวิธีชกใต้เข็มขัดเล่นนอกเกมเพื่อตัดตอนประชาธิปไตย ต่างกันแต่วิธีที่ภาคประชาชนเลือกรับมือกับสิ่งที่เกิดขี้น
SPRiNG นั่งลงพูดคุยกับแรปเปอร์ชาวเมียนมาถึงชีวิตหลังรัฐประหาร การทำดนตรีต่อต้านเผด็จการ และความฝันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในวัย 24 ปี
บาร์ที่ 1: แรป รัฐประหาร ขาเทียม
“ตอนนั้นชีวิตผมปกติและสนุกมาก ผมทำในสิ่งที่อยากทำ แค่ทำเพลงฮิปฮอปไปเรื่อยๆ” มินลันย้อนถึงชีวิตช่วงนั้น
ก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร มิน ลัน เป็นเพียงเด็กมหาวิทยาลัยปี 2 สาขาประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่หลงรักในเสียงดนตรี เขาเล่นคีย์บอร์ดและสามารถร้องเพลงได้หลายแนว สตริง, ป็อป รวมถึงแรปที่เขาหลงไหลมากที่สุด
ความธรรมดาของมิน ลันและชาวเมียนมาจำนวนมากเปลี่ยนไป เมื่อกองทัพเมียนมาประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ออง ซาน ซู จี ด้วยข้ออ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้ง พร้อมประกาศสภาวะฉุกเฉิน โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งหลังจากนี้ 1 ปี
แต่จากประสบการณ์ที่ส่งผ่านรุ่นสู่รุ่น ชาวเมียนมาไม่เชื่อคำสัญญาของกองทัพอีกต่อไป ประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตยลุกฮือขึ้นทั่วประเทศ มิน ลันก็เช่นกัน เขาเข้าร่วมการเดินขบวนต่อต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลทหารก็ยกระดับมาตรการตอบโต้ผู้ชุมนุม จากแก๊สน้ำตา สู่กระสุนยาง และกระสุนจริงในท้ายที่สุด
กระทั่งวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564 เป็นอีกวันหนึ่งที่มิน ลันและเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกราว 60 คน ลงถนนเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร วันนั้นเองที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล มิน ลันเล่าว่าเจ้าหน้าที่สลายชุมนุมด้วยกระสุนจริง เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้เขาเสียเพื่อนสนิท 4 คน คนหนึ่งถูกยิงเข้าที่ศีรษะ อีกคนถูกยิงทะลุหน้าอก ส่วนเขาถูกยิงเข้าที่บริเวณหัวเข่าซ้าย เขาถูกพาตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลทหาร และทีมแพทย์ตัดสินใจตัดขาตั้งแต่ช่วงเหนือเข่าซ้ายของเขาทิ้ง หลังจากนั้นเขาถูกส่งตัวเข้าสู่เรือนจำเป็นเวลา 6 เดือน
“มันเป็นช่วงเวลาที่มืดมิด มืดหม่นมาก ผมไม่มีความหวังเหลือเลย ไม่มีใครรู้ว่าพวกนั้นจะทำอะไรกับเราบ้าง ตอนนั้นผมคิดว่าผมต้องตายแน่ๆ” มิน ลันยอมรับว่าระหว่างการถูกคุมขังในฐานะนักโทษการเมือง เขามีปัญหาทั้งร่างกายและจิตใจ และเคยพยายามทำร้ายตัวเองบ่อยครั้งด้วยการเอาหัวโขกกำแพงเรือนจำ
“ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าตายไป ทุกอย่างก็คงจบ แต่คนอื่นๆ ล่ะ เพื่อนผมที่อยู่ในป่าล่ะ พวกเขาเองก็เป็นนักศึกษาที่มีเป้าหมายที่สวยงามในชีวิตเหมือนกัน แต่พวกเขาต้องยอมเข้าป่าเสี่ยงชีวิตต่อต้านรัฐบาล ผมจะลืมพวกเขาได้อย่างไร ผมยังตายไม่ได้ ผมบอกตัวเองแบบนั้น” มิน ลันเล่าว่าหนังสือและเพื่อนจากเรือนจำคืออีกสองสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาผ่านช่วงเวลานั้นมาได้
ภายหลังที่ออกมาจากเรือนจำ มิน ลัน กลับไปพักฟื้นกับครอบครัว ก่อนปล่อยเพลง Generation L33, Gone but Remain และอีกหลายเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและการต่อต้านรัฐบาลทหาร
“ทุกอย่างมันเกี่ยวกับการเมืองทั้งนั้น ผู้หญิงที่ต้องอยู่ในครัว เด็กๆ ที่ไม่มีหนังสือเรียน เราไม่มีทางหนีการเมืองได้พ้น” มิน ลันยอมรับว่าประสบการณ์ที่รัฐประหารมอบให้แก่เขา มีส่วนอย่างมากที่ทำให้มุมมองต่อโลกของเขาเปลี่ยนไป
“ในความคิดของผม ศิลปินคือคนธรรมดาที่เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่อยู่ใต้ถุนสังคม คนที่ด้านล่างสุดของสังคม ศิลปินต้องเป็นมนุษย์ ไม่มีสิ่งฉาบหน้า ปราศจากแฟชั่น เปลือยเปล่าอย่างมนุษย์ที่แท้จริง” มิน ลันกล่าว
นับตั้งแต่ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ มิน ลัน ตัดสินใจเข้าป่าร่วมต่อต้านรัฐบาลทหารกับกองกำลัง PDF เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่งที่ มิน ลัน เดินทางเข้าออกป่าเพื่อสนับสนุนงานต่อต้านรัฐบาลทหารในฐานะทีมสื่อ
“ผมรู้สึกว่าการต่อต้านมันเป็นความรับผิดชอบของผม ผมพยายามช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ผมทำดนตรี พยายามระดมเงิน แม้แต่พูดคุยให้กำลังใจคนอื่นที่อยู่ในป่า ผมคิดตลอดว่าจะช่วยพวกเขาอย่างไรได้บ้าง” มิน ลุนเล่า
“ผมยอมรับการต่อต้านในฐานะสิ่งที่มนุษย์ควรจะทำ พวกเราไม่ได้อยากจับปืนเพื่อเข้าสู่สงครามไปฆ่าใครหรอก แต่เพราะเราสูญเสียทุกอย่างไปให้กับการรัฐประหาร เราจึงต้องลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเอง” เขาเล่าถึงสาเหตุที่ลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลทหาร
ถึงแม้ในตอนนี้ มิน ลันจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2566 แต่เขายังคงเดินทางเข้าออกเมียนมาอยู่บ่อยครั้ง และยังคงช่วยงานต่อต้านทุกอย่างที่ทำได้ รวมถึงเปิดสตูดิโออัดเพลงสำหรับตัวเองและเพื่อนพ้องที่อยากทำเพลง
บาร์ที่ 2: ชีวิตในประเทศไทย
นับเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่งที่ มิน ลัน อาศัยอยู่ในประเทศไทย เขายอมรับกับเราว่าในตอนที่ตัดสินใจข้ามมา เขาไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น และเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยจับกุมตัว 1 ครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
“พวกเราไม่มีเอกสารอะไรกันเลย พาสปอร์ต วีซ่า ไม่มีแม้แต่บัตรชมพู (บัตรข้ามแดนชั่วคราว) เพราะเอกสารเหล่านั้นอาจทำให้พวกเราไม่ปลอดภัย” มิน ลัน
เขายอมรับว่าชีวิตที่ประเทศไทยไม่ได้ง่ายดายนัก เขาไม่มีอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่ง ต้องอยู่อย่างหลบซ่อนโดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่เมียนมาที่แฝงตัวอยู่ในไทย กระทั่งได้รับความช่วยเหลือในเรื่องเอกสารจาก Joy House กลุ่มเอ็นจีโอที่ผลักดันเรื่องคุณภาพชีวิตคนเมียนมาในไทย
“พวกเพื่อนและครอบครัวของผมเขาย้ายไปอยู่ต่างประเทศกันหมดแล้ว และเขาชวนผมไปอยู่ด้วยกันนะ มาเลเซีย, สิงคโปร์ หรือแม้แต่อเมริกา พวกเขาบอกว่าชีวิตผมจะดีกว่านี้ที่นั่น” มิน ลันเล่า “แต่จะให้ผมทิ้งทุกคนไปได้ยังไงล่ะ ผมทำไม่ได้หรอก และที่นี่ (ประเทศไทย) ยังเป็นสถานที่ที่ทำให้ผมได้ทำในสิ่งที่อยากทำ”
มิน ลันตระหนักดีถึงปัญหาต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย ภายหลังการรัฐประหารของกองทัพ ตั้งแต่ผู้อพยพ, การลักลอบเข้าเมือง จนถึงปัญหาสังคมเช่นอาชญากรรม ซึ่งเขารู้สึกขอบคุณและเสียใจในเวลาเดียวกัน เพียงแต่เขาวิงวอนให้สังคมไทยให้โอกาสและยึดมั่นในความเป็นมนุษย์
“ผมอยากให้คนไทยเข้าใจว่าพวกเราทุกข์ระทม ไม่มีบ้านให้กลับ ต้องห่างจากครอบครัว ตอนนี้ชาวเมียนมาเหมือนอยู่ในความมืดมิด ฉะนั้น ผมอยากขอร้องว่าได้โปรดอดทนและเห็นใจพวกเราหน่อย”
“พวกเราสัญญาว่าเมื่อแสงสว่างหวนกลับมา เราจะแสดงความขอบคุณและจะตอบแทนในทุกสิ่งที่ได้รับ” เขาทิ้งท้าย
บาร์ที่ 3: ความฝันของแรปเปอร์ขาเดียว
นับตั้งแต่สูญเสียขาซ้าย มิน ลันยอมรับว่าเขามองโลกเปลี่ยนไปมาก เขารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับทุกคนมากขึ้น มองคำว่า ‘ครอบครัว’ ไปไกลเกินกว่าสายเลือด แต่รวมถึงทุกคนที่มีความฝันเหมือนกัน มีหัวใจดวงเดียวกัน และมีเป้าหมายเหมือนกัน
“ตั้งแต่ผมเสียขาซ้าย ผมคิดว่าผมโตขึ้น เข้าใจหลายอย่างมากขึ้น รู้สึกหลายอย่างขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นบทเรียนที่สอนผมว่าควรมีชีวิตอย่างไร และสิ่งไหนที่สำคัญสำหรับผม”
“ผมกลับไปฟังเพลงที่ตัวเองแต่งตอนอายุ 15 - 16 ปี ผมคิดว่ามันฟังดูโง่มาก (หัวเราะ) ตอนนี้ทุกเพลงของผมเปลี่ยนไปหมด ผมคิดเรื่องความเป็นมนุษย์เยอะมาก และมันคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงตั้งชื่ออัลบั้มว่า ‘มนุษย์นิยม (Humanism)’” เขากล่าวพร้อมหัวเราะเสียงดัง
มิน ลันเคยเปลี่ยนไว้ในบทเพลงของตัวเองว่า "ความฝันคือสิ่งเดียว ที่เป็นปีกให้ฉันบิน (The dream is ..... Still spreading my wings to fly)" เขาขยายความประโยคนั้นว่าความฝันคือสิ่งสำคัญและจุดเริ่มต้นของสิ่งยิ่งใหญ่ มันสร้างสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้ อย่างโทรศัพท์หรือเครื่องบิน และมีแต่ความความฝันเท่านั้นที่ทำให้คนเราเอาชนะขวากหนาม เพื่อมุ่งหน้าสู่ชีวิตที่ดีกว่าเดิม
สำหรับตัวเขาเอง ในตอนนี้เขามีความฝันอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือการพาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย
“ในตอนนี้ พวกเรา (ชาวเมียนมา) ไม่มีความสุขทางร่างกาย แต่เราต้องเชื่อว่าเราสามารถทำได้ทุกอย่าง ถึงแม้พวกเราจะอ่อนแอกว่ากองทัพมาก แต่ถ้าเราคิดว่าเราแข็งแกร่ง เราร่วมมือกัน เราจะยืนขึ้นด้วยกัน แล้วสู้กลับจนเราชนะในที่สุด”
และอีกข้อหนึ่งคือ การได้ทำเพลงที่ช่วยเหลือมนุษย์คนอื่น
“ตอนที่ผมอายุ 20 ปี ความฝันของผมคือการได้ทำเพลง แค่นั้นเอง” มิน ลัน เริ่มเล่า “ตอนนี้ความฝันของผมก็ยังเหมือนเดิม เพียงแต่มันใหญ่มากขึ้น ผมอยากทำเพลงที่ช่วยผู้คนที่ทุกข์ระทม ไม่ใช่แค่ในเมียนมา แต่ในทุกหนทุกแห่ง ทุกประเทศ ทุกเมือง ทุกคนที่เจ็บปวด ผมอยากทำเพลงแบบนั้น”
"ตอนนี้ผมอายุ 24 ปี ผมไม่รู้ว่าจะมีชีวิตต่อไปอีกนานแค่ไหน แต่ตอนนี้ผมรู้ว่าสิ่งไหนที่สำคัญกับผมในทุกๆ วัน ทำให้ผมเปรียบเทียบและเลือกทำเฉพาะสิ่งที่สำคัญได้ และรู้จักชั่งแม่งกับสิ่งที่ไม่สำคัญ"
ภาพถ่าย: สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล