SHORT CUT
ผ่างบ 68 : สูงสุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เทให้ “ดิจิทัลวอลเล็ต ซอฟพาวเวอร์” กับงบประมาณ 3.74 ล้านล้านบาท จะปั๊มหัวใจให้ไทยฟื้นหรือไม่?
3,752,700, ล้านบาท คืองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ของประเทศไทย เป็นงบประมาณรายจ่ายที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายมาเพื่อให้รัฐบาลพิจารณา หลังจากการพิจารณาร่วมกันของ สส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ทำให้เกิดการตัดงบออกไปจากที่ขอได้ทั้งสิ้น 7,824 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งคิดเป็น 0.2% ของงบประมาณทั้งหมด
งบ 68 คือสัญญาณว่าถึงเวลาที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินด้วยการออกแบบงบประมาณของตัวเองอย่างเต็มตัว ต่างจาก งบ 67 ที่ร่างใช้จ่ายถูกร่างมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ซึ่งงบ 68 ยังถูกจัดแบบขาดดุลต่อเนื่องมา คือวางแผนที่จะใช้จ่ายเป็นเงินมากกว่ารายได้ที่รัฐจะสามารถจัดเก็บได้ โดยจะกู้เงินมาโปะทดแทน 900,000 ล้านบาท หรือกว่า 23.1% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นการทำงบประมาณขาดดุลสูงสุดตั้งแต่ปี 2557
สัดส่วนเงินกู้ครั้งนี้ เป็นจำนวนมากที่สุดในรอบกว่า 10 ปี เพื่อตอบสนองนโยบายเรือธงของรัฐบาล โดยงบประมาณส่วนใหญ่กว่า 21.5% ถูกจัดอยู่ในงบกลางที่จัดมาตอบสนองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ “ดิจิทัลวอลเล็ตหมื่นบาท” ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 31% ซึ่งจัดงบไว้ 187,700 ล้านบาทในงบประมาณปี 68 จากกรอบวงเงินทั้งโครงการที่ 450,000 ล้านบาท
นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มงบกระทรวงวัฒนธรรมถึง 26.3% เพื่อตอบสนองนโยบายซอฟพาวเวอร์ที่เป็นอีกหนึ่งนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย กว่า 25,900 ล้านบาท เป็น 0.7% ของงบทั้งหมด โดยพบว่าเป็นงบประมาณส่งเสริมการท่องเที่ยวกว่า 69.8% แต่ 2 ใน 3 เต็มไปด้วยโครงการสร้างถนนและงานก่อสร้างอื่นๆ
งบประมาณของกระทรวงกลาโหม 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนราว 5 พันล้านบาท ในกองทัพบก มีการพูดถึงการซื้อยานเกราะล้อยางจากประเทศจีนกว่า 100 คัน มูลค่า 7 พันล้านบาท แทนที่จะซื้อหาจากบริษัทในประเทศที่ได้การรับรองมาตรฐานการแล้ว ส่วนกองทัพเรือ มีโครงการจัดซื้อเครื่องบินลำเลียง 2 ลำทดแทนที่ปลดประจำการไป และยังไม่มีการพิจารณาเรื่องเรือฟริเกตในรอบนี้ หลังถูกปัดตกไปในงบ 67 และในกองทัพอากาศมีการจัดงบเตรียมจัดซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน กริพเพน(JAS 39 Gripen E/F) ที่ปลดประจำการ โดยจะได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจด้วย
การตั้งงบที่ดันหนี้สาธารณะของไทยขึ้นไปเกือบชนเพดาน ทำให้รัฐบาลชุดนี้และรัฐบาลชุดหลังจากนี้จะทำงานยากมากขึ้น เหลือพื้นที่กู้ในอนาคตน้อยลงเรื่อยๆ หากมีเหตุฉุกเฉินหรือต้องการลงทุนในเรื่องสำคัญ และยังทุ่มเม็ดเงินกว่ากึ่งหนึ่งไปกับเงินเดือนและเงินบำนาญของบุคลากร และอีกส่วนหนึ่งหมดไปกับการใช้หนี้สาธารณะในอดีต ยังไม่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มสวัสดิการทางสังคม เน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ไม่อาจการันตีผลสำเร็จเด็ดขาด และยังไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและทุนมนุษย์เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกได้
คิดใหญ่ ทำเป็น แต่จะทำถูก จนสามารถฟื้นชีวิต ปลุกชีพจรเศรษฐกิจและสังคมไทยได้หรือไม่ คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยวางเดิมพัน