SHORT CUT
ร่างงบฯ 68 ผ่านฉลุย เมินกระแสรัฐบาลใช้เงินผิดที่ผิดทาง สานฝันนโยบายเรือธงดิจิทัลวอลเล็ตและ Soft Power พรรคเพื่อไทย
วันที่ 21 มิถุนายน เป็นวันสุดท้ายของการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 3,752,700 ล้านบาท บรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลค่อนข้างจะควบตุมเวลาการอภิปรายได้ดี
บรรยากาศในวันนี้จะเน้นถกประเด็นงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งบกระทรวงมหาดไทยแต่จุดโฟกัสของการอภิปรายในสภาคือนโยบายกล่องดวงใจของพรรคเพื่อไทยคือเรื่องงบประมาณที่จัดสรรไปกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
โดยในช่วงเช้าของวันนี้ฝ่ายค้าน ออกมาแถลงมติไม่รับหลักการงบ 68 วาระแรก เหตุรัฐบาลเบียดบังงบดันดิจิทัลวอลเล็ตเกินไป และเกิดบรรยากาศน้อยใจกันบ้างในรัฐบาล เห็นได้จาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ อภิปรายถึงงบของกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้รับอย่างจำกัด
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเรื่องงบประชาสัมพันธ์ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่เอื้อพรรคเพื่อไทย
โดยกระทรวงที่ได้งบประมาณมากที่สุดคือกระทรวงการคลัง 390,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63,294 ล้านบาท น้อยสุดคืองบของกระทรวงกระทรวงพลังงาน 2,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115 ล้านบาท
ที่น่าจับตาคืองบงบกลางที่กำหนดไว้เป็นจำนวน 805,745 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.5 ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่รัฐบาลเคยตั้งไว้ 606,765 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 198,980 ล้านบาท คาดว่าเพื่อเติมเงินไปใช้จ่ายกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
บางครั้งสิ่งที่ประชาชนต้องการอาจจะไม่ใช่พายุเศรษฐกิจ เขาอาจจะต้องการลมใต้ปีกคนตัวเล็กๆ ไม่ได้ต้องการใหญ่ๆ ที่จะพาประเทศไปสู่ความเสี่ยงระยะยาว” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568
“พิธา” ลั่นงบประมาณที่มีความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกินดีอยู่ดีของพี่น้องประชาชน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในปี 68 ชี้ ปชช.อาจต้องการแค่ลมใต้ปีก ไม่ใช่พายุหมุนทาง ศก. แนะ 5 ข้อจี้ รบ.เร่งทำงบให้ชัด
จากนั้นเวลา 20.55 น. ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสรุปว่า ปี 68 จะยังคงเป็นปีที่ยากและเสี่ยงสำหรับพี่น้องประชาชน ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและความเสี่ยงจากปัจจัยที่ถูกกดดันทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมายังไม่ดีขึ้น และถูกกดดันจากปัจจัยภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าที่แพงขึ้น หนี้ครัวเรือน ภัยพิบัติ โรคระบาด สังคมสูงวัย ยาเสพติดและมิติทางการเมือง ขณะที่ปัจจัยภายนอกไม่ว่าจะเป็นสงคราม การกีดกันเรื่องการค้า วิธีการคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ดังนั้นงบประมาณที่รอบคอบ งบประมาณที่มีการบริหารความเสี่ยง และงบประมาณที่มีความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกินกินดีอยู่ดีของพี่น้องประชาชน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในปี 68
นาบพิธา อภิปรายว่า ขณะเดียวกันปีนี้เป็นปีที่หกของตนในการอภิปรายงบประมาณแผ่นดิน หกปีอาจจะไม่ใช่เวลาที่มากเมื่อเทียบกับเพื่อนสมาชิกหลายๆ ท่านที่อยู่มานาน แต่ก็นานพอที่จะทราบว่าการทำงบประมาณของประเทศไม่ว่าความท้าทายจะเปลี่ยนไปอย่างไร จะมีโควิดหรือไม่ จะมีสงครามหรือไม่ จะมีเงินเฟ้อหรือไม่ รูปร่างของงบประมาณก็จะไม่ค่อยแตกต่างกันมาก ในหกปีที่ตนได้มีส่วนร่วมในการอภิปราย มีอยู่ปีหนึ่งตนหยุดปฏิบัติหน้าที่เลยไม่ได้อภิปรายงบประมาณปี 67
แต่ก็มีข้อดี มานั่งคิดว่ามันมีวิธีไหนหรือทำให้การอภิปรายครั้งต่อไปของตนและพรรคก้าวไกลไม่เหมือนเดิม แตกต่างจากสิ่งที่เคยทำมาในช่วงหกปีที่ผ่านมา โดยตนไปนั่งไล่ดูรัฐสภาประเทศอื่นย้อนหลังหลังจากที่โดนหยุดปฏิบัติหน้าที่
นายพิธา อภิปรายต่อว่า สิ่งที่ตนได้ตกผลึก งบประมาณคือการเรียงลำดับความสำคัญ ทรัพยากรมีจำกัดทุกประเทศ มันคือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่จ่ายภาษีกับรัฐที่ใช้ภาษี สิ่งที่สำคัญจากการศึกษางบประมาณของหลายประเทศ มีความประทับใจอดีตนายกฯ นิวซีแลนด์เมื่อปี 2019 ใช้คำว่าการจัดงบประมาณเพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี แม้จะกระตุ้นจีดีพีแต่ต้องลดความเหลื่อมล้ำด้วย เป็นการทำงบประมาณที่ไม่ใช่แค่คำนึงถึงระยะสั้น ไม่ได้คิดแค่โปรยเงินจากบนลงล่างหรือล่างขึ้นบน บางทีประชาชนอาจไม่ได้ต้องการพายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่อาจจะต้องการเพียงแค่ลมใต้ปีก ต้องการโครงการที่ใส่ใจเล็กๆจากล่างขึ้นบน ก็ทำให้เศรษฐกิจโตได้ และลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วยเช่นกัน
นายพิธา อภิปรายว่า สำหรับกรอบการอภิปรายงบประมาณปี 68 ประกอบไปด้วยสามวาระคือการประมวล ขยาย และเสนอแนะ สำหรับการประมวล สิ่งที่ประชาชนควรเข้าใจเกี่ยวกับงบประมาณมีสามองค์ประกอบ คือรายได้ของรัฐบวกกับเงินกู้เท่ากับรายจ่ายของรัฐ รายได้ของรัฐขณะนี้ 2.88 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่พอกับรายจ่าย จึงจำเป็นต้องกู้เพิ่มที่ 8.6 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐมีรายจ่ายอยู่ที่ 3.75 ล้านล้านบาท สถานการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายได้ของรัฐมีความผันผวน สัดส่วนการเก็บจัดเก็บรายได้ลดลง เมื่อเทียบกับจีดีพีย้อนหลังตั้งแต่ปี 54 จะเห็นว่ารายได้ขึ้นๆลงๆ ขณะเดียวกันรายได้ในการจัดเก็บหารด้วยจีดีพีมันน้อยลงเรื่อยๆ จนถึงปี 66 เหลือเพียง 10กว่า % ในขณะที่ซึ่งเป้าหมายของโออีซีดีเราควรจัดเก็บรายได้ 16 ถึง 18% ซึ่งแผนรายได้การจัดเก็บรายได้ของรัฐซึ่งผันผวนมาตลอดนั้น รัฐบาลมีแผนงานอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ารายได้ในอนาคต หรือรายได้ในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนหลังจากนี้ จะเป็นรายได้ที่สามารถนำมาใช้ในประเทศได้โดยไม่ต้องกู้มากขึ้น
นายพิธา อภิปรายอีกว่า จากข้อมูลล่าสุดการจัดเก็บรายได้ของรัฐมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ตามเป้า
รัฐประมาณการว่าจะเก็บรายได้ 1.46 ล้านล้านบาท ขณะนี้จัดเก็บรายได้พลาดเป้าไปแล้ว 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องจากมาตรการลดภาษีดีเซลและเบนซิน การจัดเก็บภาษีรถยนต์ต่ำกว่าเป้าหมาย และมาตรการส่งเสริมการขายอีวี แสดงให้เห็นว่าเวลาที่รัฐบาลจะทำนโยบายอะไร ขณะเดียวกันมันมีราคาที่ต้องจ่าย คือรายได้ของรัฐที่หายไป ดังนั้นกระทรวงการคลังมีมาตรการอะไรที่จะทำให้ประชาชนเชื่อใจ ว่าจะสามารถจัดหารายได้เข้าประเทศเพียงพอโดยที่เราไม่ต้องกู้เพิ่ม
นายพิธา อภิปรายว่า สิ่งที่อยากเห็นจากรัฐบาลชุดนี้ คือแผนรายได้ประเทศ คือการปฏิรูปภาษีว่าจะทำอย่างไร จะขยายฐานภาษีอย่างไร และจะขยายฐานเศรษฐกิจอย่างไรที่ทำให้คนตัวเล็กไม่ลำบากมากเกินไป ภาษีแวตเป็นภาษีถดถอยที่อาจซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ แม้คนรวยจะจ่ายแวตในจำนวนเงินที่มากกว่าคนจนเพราะบริโภคมากกว่า แต่หากคิดตามสัดส่วนต่อรายได้ จะเห็นว่าในการบริโภคสินค้าชนิดเดียวกัน คนจนจ่ายในสัดส่วนต่อรายได้มากกว่าคนรวย ดังนั้นรัฐจะทำอย่างไรที่จะหารายได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาภาษีจากการบริโภคมากเกินไป ขณะที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่นอกระบบภาษี ทำให้ฐานของคนเสียภาษีน้อย ไม่สามารถขยายได้ ขณะที่การสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้ประเทศจากเศรษฐกิจใหม่ เช่น ภาษีจากสุราก้าวหน้า แค่เพียงแก้กฎกระทรวงและส่งเข้าครม.ก็สามารถดำเนินการได้ เชื่อว่าใช้ระยะเวลาไม่นาน สามารถทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้
นายพิธา อภิปรายว่า และเมื่อรายได้ไม่พอรายจ่าย รัฐจำเป็นต้องกู้เพิ่มเสมือนการนำเงินจากอนาคตมาใช้ และมีราคาที่ต้องจ่าย ควรที่จะต้องรอบคอบและคิดน่าคิดหลังให้ดีก่อนกู้ การจะกู้ 8 แสนกว่าล้านบาทประชาชนอาจจะไม่เข้าใจว่าคืนเมื่อไหร่ใครที่ต้องเป็นคนคืน และมีดอกเบี้ยเท่าไหร่ สิ่งที่ประชาชนต้องเข้าใจคือภาระดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 2.6 แสนล้านบาท กลายเป็น 4.7 แสนล้านบาทในปี 71 และงบประมาณครั้งนี้ไต่เส้นกรอบงบประมาณในหลายมิติ ทั้งชนเพดาน 70% ตามกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามประกาศนโยบายการเงินการคลังฉบับที่2/ 2564 กู้
ปริ่มเพดานตามมาตรา 21 พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ สัดส่วนภาระผูกพันงบประมาณข้ามปี 9% ชนเพดาน 10% การกู้คือการเอาเงินอนาคตมาใช้ แต่อนาคตเราจะมั่นใจได้แค่ไหน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วนทั้งความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ความเชื่อผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม และดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนก็ไม่สู้ดีนัก เมื่อรายได้มีความผันผวน การกู้ก็มีต้นทุนของมัน ซึ่งเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ขณะที่อัตราการเติบโตของรายได้ โตไม่ทันรายจ่ายของประเทศทำให้อัตราการกู้สูงขึ้นเรื่อยๆ
นายพิธา อภิปรายว่า ในส่วนของการขยาย สะท้อนความสมดุล ระหว่างการแก้ปัญหาเศรษฐกิจกับการกระตุ้นจีดีพี ตนเห็นด้วยกับอดีตนายกฯ ท่านหนึ่งที่ระบุในปี 55 ว่าถ้ารัฐบาลไม่จนปัญญาจริงๆไม่แจกหรอก เน้นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างเศรษฐกิจเสียมากกว่า ซึ่งการเจริญเติบโตเศรษฐกิจสำคัญ แต่ต้องแลกด้วยอะไรบ้าง การสร้างเศรษฐกิจมีหลายมิติ การกระตุ้นจีดีพีไม่ใช่มีแค่มิติใดมิติหนึ่ง จีดีพีอยู่ที่การบริโภค การส่งออกหรือการนำเข้ากันแน่ โครงสร้างจีดีพีที่ประกอบไปด้วยภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและบริการในงบประมาณ ปี 68 ตอบโจทย์การสร้างเศรษฐกิจมากเพียงใด
ส่วนการท่องเที่ยว คือเครื่องจักรเศรษฐกิจสุดท้ายที่ต้องรักษาไว้ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวหรืออินฟราสตรัคเจอร์ อยากให้รัฐบาลดูตัวอย่างประเทศนิวซีแลนด์ในปี 66 ที่ลงทุน 2.7 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวให้รองรับการเปลี่ยนแปลง
นายพิธา อภิปรายอีกว่า ขณะที่รัฐบาล ignite ก็มีคนที่ถูก ignore เช่น งบอุดหนุนเด็กเล็กหายไป 1.5 หมื่นล้านบาท งบช่วยเหลือผู้พิการที่หายไป 1000 ล้านบาท งบดูแลไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ป่าสงวนถูกตัดไป 1000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ขอเสนอแนะกระบวนการจัดทำงบประมาณเมื่อเปรียบเทียบกับโออีซีดีที่เขาเสนอแนะมาทั้งหมด 10 ข้อ อย่างน้อยมีให้เห็นอยู่ 3 ข้อในการจัดงบประมาณจะต้องมีเกณฑ์และแผนการตลาด การที่เรามองข้ามสิ่งแวดล้อม มองข้ามคนชายขอบ หรือคนที่รัฐบาลอาจจะลืมจะไม่ถูกมองข้ามอีกต่อไป เพราะในกระบวนการบังคับว่าการทำงบประมาณจะต้องมีการทำงบประมาณเกี่ยวกับเด็กอ่อนและสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน ความเสี่ยงการคลังยั่งยืนและระยะยาวในการที่ต้องบริหารความเสี่ยง การอธิบายเรื่องการกู้และดอกเบี้ยให้กับประชาชนที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียงที่จะทำได้ จะต้องอธิบายให้เขารู้อยู่ตลอดเวลา และเรื่องความโปร่งใส การประกันคุณภาพการตรวจสอบงบประมาณซึ่งโออีซีเขียนไว้ชัด
นายพิธา อภิปรายว่า และมี 5 สิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดความชัดเจน คือ 1.แผนรายได้และแผนหนี้ของประเทศ 2.แผนการปฏิรูปภาษีอย่างเป็นธรรม 3.แผนการช่วยเหลือประชาชนที่งบประมาณไม่ครอบคลุม 4.การเปิดเผยกระบวนการการพิจารณางบต่อสาธารณะ และ5.การปรับกระบวนการงบประมาณตามมาตรฐานโออีซีดี
///
”ภูมิธรรม“ ขอบคุณผ่านงบปี 68 แต่ไม่รับวาทกรรมด้อยค่ารัฐบาล