วิโรจน์ โหมโรงชำแหละงบกองทัพปี 68 เพิ่มในสิ่งไม่ควรเพิ่ม - ไม่เพียงพอ-ล้าสมัยรักษาความมั่นคงแนวชายแดน เผยงบเรือฟริเกตหาย รอลุ้นปี 69
นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระโหม ชี้แจงถึงกรณีข้อร้องเรียนทหารเกณฑ์ กองทัพภาคที่ 2 ถูกหักค่าสาธารณูปโภค เช่นค่าดูดส้วม ว่า นโยบายที่ตนให้มาตลอด คือต้องให้ทหารกองประจำการได้รับเงินตอบแทน หรือเงินเดือนที่สูง โดยตั้งเกณฑ์รายได้ประมาณ 10,000 บาท และได้พูดชัดแล้วว่าไม่ให้ไปหักเงินของทหารกองประจำการ รายการที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ทางราชการอนุญาต ซึ่งได้มอบนโยบายและย้ำชัดเจนไปทุกครั้ง ทั้งนี้ทราบว่ากองทัพบก ก็ย้ำนโยบายนี้ชัดเจน ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้น ทางกองทัพบกจะเป็นผู้แถลงว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงก็ต้องไม่ให้เกิด ต้องไปแก้ไข
เมื่อถามว่า มีโอกาสที่ทหารกองประจำการ จะได้รับเงินเต็มจำนวน 10,000 บาท หรือไม่ นายสุทิน บอกว่า ส่วนหนึ่งที่เราได้มอบนโยบายไป ก็ต้องสอดคล้องกับการปรับเงินเดือนใหม่ของรัฐบาลด้วย ซึ่งได้ปรับฐานเงินเดือนใหม่ ของเดิมก็อาจจะได้น้อยหน่อย และทหารใหม่ทางรัฐบาลให้สตาร์ทที่ 10,000 บาท ส่วนราชการก็ 15,000 บาท เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลปรับแล้ว กรมบัญชีกลางได้เริ่มใช้ ตนคิดว่าทหารก็มีโอกาสได้ใช้เงินเดือนใหม่
เมื่อถามว่า พอเกิดเรื่องขึ้นมา หลายคนมองว่ากองทัพเป็นแดนสนธยา เพราะมีการหักหัวคิว นายสุทิ นกล่าวว่า คงไม่ใช่แบบนั้น น่าจะอยู่ในระยะปรับตัว ซึ่งอาจจะทำมาก่อนที่ตนมอบนโยบายไป เพราะฉะนั้นเมื่อตนได้เปลี่ยนแปลงนโยบาย ก็น่าจะเชื่อว่าอยู่ระหว่างการปรับตัว ซึ่งวันนี้ก็มีการปรับตัวกันมาก เพราะเราส่งสัญญาณชัดมากๆ เราก็ดำเนินการในเคสนี้ และคิดว่าเคสต่อๆ ไปก็ไม่น่าจะมี
เมื่อถามว่า เป็นการผลักภาระให้น้องคนเล็กของกองทัพหรือไม่ เพราะค่าดูดส้วมควรเป็นค่าใช้จ่ายที่หน่วยจะต้องดูแลรับผิดชอบ นายสุทิน กล่าวว่า เท่าที่ตนได้สอบถาม เข้าใจว่าคนบันทึกเสนอหักเงินมา อาจจะไม่เข้าใจรายละเอียด และระเบียบ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เขาก็ไม่อนุมัติ
เมื่อถามย้ำว่า ก็ไม่ควรเสนอตั้งแต่แรก นายสุทิน กล่าวว่า คนเสนออาจจะไม่รู้เรื่อง ตนมองว่าไม่ควรไปดูที่คนเสนอ แต่ดูที่คนอนุมัติ และดูข้อเท็จจริงว่าหักจริงตามนั้นหรือไม่ เพราะเท่าที่ฟังมายังไม่มีการหัก
ส่วนที่ผ่านมาการทุจริตในกองทัพ เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งประชาชนคาดหวังกับนายสุทิน เพราะมาจากรัฐบาลพลเรือน นายสุทิน กล่าวว่า ประชาชนก็สามารถตั้งความหวังได้ เท่าที่ตนดูในหลายเรื่อง ทางเหล่าทัพก็กำลังดำเนินการอยู่ มันจะเป็นข่าวเฉพาะตอนที่มีเรื่อง แต่ตอนจบไม่ค่อยเป็นข่าว ตนถึงได้ย้ำกองทัพจะต้องประชาสัมพันธ์หลายเรื่อง เพราะหลายเรื่องมาแล้วสังคมก็ฮือฮา บางทีจบแล้ว ประชาชนไม่ทราบว่าจบลงอย่างไร
“ผมยืนยันเรื่องนี้ คนผิดจะต้องมีคนรับผิด ถูกลงโทษ และและต้องให้ความเป็นธรรมเขา แต่เมื่อเกิดเรื่องปุบปับ แล้วเราไปชี้ นั่นเท่ากับเรายังไม่ให้ความเป็นธรรมเขา แต่ถ้าชี้แล้วผิด เราดำเนินการอยู่แล้ว ถ้าตนปกป้องกองทัพ ประชาชนก็ไม่ปกป้องผม”
เมื่อถามว่า นอกจากหน่วยที่มีปัญหาตรงนี้ ได้ตรวจสอบหรือไม่ว่าหน่วยอื่นทำแบบนี้หรือไม่ นายสุทิน ย้ำว่า ตรวจสอบอยู่แล้ว พอมีเรื่องตนได้สั่งจเรทหาร ลงไปดูภาพรวมทั่วประเทศ ซึ่งก็ยังไม่มีรายงานขึ้นมา
ส่วนที่เมื่อรับมอบนโยบายไปแล้วแต่ยังมีกำลังพลฝ่าฝืน จะมีบทลงโทษอย่างไรนั้น นายสุทิน บอกว่า ตนสั่งการไปให้เพิ่มมาตรการเข้มงวดมากกว่านี้ แต่ก็ยังเชื่อว่าไม่มีมาก ซึ่งบางหน่วยก็อาจจะมีความไม่เข้าใจ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ว่าหน่วยต่างจังหวัด งบประมาณไม่เพียงพอในการบริหารภายใน นายสุทิน ยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ จะได้งบประมาณทั่วถึงหรือไม่ เพราะในระดับงบประมาณพิจารณามาโดยตลอด ตั้งแต่สภาฯ ลงมา ถึงแม้งบประมาณไม่พอ เราก็ไม่มีนโยบายให้ไปทำวิธีนี้ ทางหน่วยก็ต้องไปบริหารจัดการวิธีอื่น
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการทหาร กล่าวถึงงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ในการเตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในวาระแรกสัปดาห์หน้าว่า งบบุคลากรของกระทรวงกลาโหม ลดลงไปนิดเดียว ตามวงรอบของข้าราชการเกษียณในช่วงปี 2516 - 2519 ที่มีการบรรจุข้าราชการทหารจำนวนมาก ก่อนลดจำนวนลง
ดังนั้น ในช่วงนี้ข้าราชการดังกล่าว ทยอยเกษียณ แต่การควบรวมหน่วยงานก็สามารถทำได้เพียงไม่กี่หน่วยงาน และประหยัดงบประมาณได้เพียงกว่า 30 ล้านบาท และยังไม่มีปิดอัตราที่ไม่จำเป็น รวมถึงภาพรวมของงบปราะมาณ ยังเพิ่มขึ้นไม่ส่วนที่ไม่ควรเพิ่ม รวมถึงยังมีงบประมาณก้อนหนึ่งไปฝากไว้ในอีกรายการหนึ่ง ก่อนเปลี่ยนแปลงงบประมาณไปจัดซื้อ ซึ่งเป็นการไม่ให้เกียรติสภา
นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงงบประมาณสำหรับซ่อม-สร้างยุทโธกรณ์ และยานเกราะล้อยางว่า มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจตามแนวชายแดน โดยเฉพาะไทย-เมียนมา แต่กลับมีงบประมาณเพียง 40 ล้านบาท มีการจัดซื้อโดรนเพียง 10 ลำ จึงเชื่อว่า งบประมาณ 40 ล้านจึงจะไม่เพียงพอ และสะท้อนความไม่พร้อมรับมือบริบทความมั่นคงใหม่
เพราะปัจจุบัน ไม่สามารถใช้ทหารไปลาดตระเวนตามแนวชายแดนเพียงอย่างเดียวได้ และฝ่ายตรงข้ามที่มีการสู้รบ มีการใช้โดรนมาเป็นอาวุธแล้ว และยังมีโดรนพลีชีพ แต่โดรนสำหรับกองทัพ มีการกล่าวถึงเพียงโดรนลาดตระเวนเท่านั้น ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะต้องใส่ใจมากกว่านี้ และหยุดกลัวตนเอง และพรรคก้าวไกส่วนงบประมาณสำหรับการจัดซื้อเรือฟริเกต ที่ฝ่ายค้านสนับสนุนการจัดซื้อในปีงบประมาณ 2567 นั้น นายวิโรจน์ ชี้แจงว่า ในงบประมาณ 2568 ไม่ปรากฏงบประมาณในส่วนดังกล่าวนี้แล้ว เพราะการจัดงบประมาณของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 ทำให้งบประมาณเข้าไม่ทัน เพราะจะต้องผ่านหลายกระทรวง และหลายหน่วยงาน จึงทำให้สูญเสียโอกาสอุตสาหกรรมการพัฒนาประเทศ และการต่อเรือรบภายในประเทศ จึงจะต้องไปติดตามในปีงบประมาณ 2569
นายวิโรจน์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารการหักค่าใช้จ่ายทหารเกณฑ์ผลัดใหม่ โดยเฉพาะมีค่าดูดส้วม จำนวน 500 บาท ของกองพันทหารเสนารักษ์ที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ว่า กรณีดังกล่าว หากกระทรวงกลาโหม ลงโทษเป็นรายคน หรือเป็นรายค่าย ก็อาจเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก เพราะระเบียบการหักค่าใช้จ่ายจากเงินเดือนพลทหารแต่ละค่าย ไม่มีความชัดเจน เพราะนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเอง ก็ยังงงสับสน เพราะได้สั่งการไปแล้ว แต่กลับยังมีการหักค่าดูดส้วมอีก
ดังนั้น จึงเหมือนที่นายสุทิน ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ไม่ได้ใช้คำว่าสั่งการ แต่ใช้คำว่าขอร้อง ซึ่งเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี้ นายสุทิน ได้สั่งการไปแล้ว แต่ค่ายทหารดังกล่าว ก็ไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่ง จึงจะต้องกำชับ และทำระเบียบให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาการหักค่าใช้จ่ายของพลทหารแต่ละค่ายแตกต่างกัน
ดังนั้น กระทรวงหลาโหม จึงควรทำระเบียบการหักค่าใช้จ่ายพลทหารให้ชัดเจน และโปร่งใส ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งประเทศ เปิดเผยให้พลทหารรับทราบ ยกเว้น จะมีค่าใช้จ่ายอื่นที่พลทหารยอมรับ
นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงการจ่ายเงินเดือนที่จ่ายให้กับพลทหารว่า ปัจจุบัน มีการจ่ายเข้าบัญชีของพลทหารแล้ว ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสด ดังนั้น จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพมีการหักค่าใช้จ่ายของพลทหารด้วยวิธีใด ยังมีการเก็บบัตร ATM ของพลทหาร และให้ตั้งรหัสเหมือนกันทั้งค่ายหรือไม่ เพราะคณะกรรมาธิการทหาร ก็ยังได้รับเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้เป็นระยะๆ จากหลากหลายค่าย และบางค่ายที่มีหลักฐานชัดเจน กรรมาธิการฯ ก็ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ หรือ กรรมการ ป.ป.ช.ไปสอบสวนต่อไป และทราบว่า มีกรณีหนึ่งที่กรรมการ ป.ป.ช.รับคำร้องไต่สวนเพื่อพิจารณาชี้มูลแล้ว
ส่วนกรณีที่กองทัพภาคที่ 2 ได้สั่งย้าย พันเอกอาชวิน อัคพิน ผู้บังคับกองพันของกองพันส่งกำลังและบริการที่ 22 ไปช่วยราชการที่กองทัพภาคที่ 2 และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องดังกล่าวแล้วนั้น นายวิโรจน์ ย้ำว่า หากเป็นการลงโทษรายบุคคล หรือเป็นรายค่ายทหาร ก็จะเกิดการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของพลทหารในค่ายอื่นๆ และระหว่างค่ายทหารอื่นๆ และต้องสั่งย้ายทหารอื่นๆ อีก
ดังนั้น จะโทษคนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องโทษที่ระบบด้วย และแก้ไขระเบียบการหักค่าใช้จ่ายทันทีให้ชัดเจน เพราะหากนายสุทิน สั่งการห้ามหักค่าดูดส้วมเพียงอย่างเดียว ก็จะเกิดการหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทดแทนอีก และการเป็นรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องมีการสั่งการยิบย่อย และบางเรื่องควรใช้อำนาจสั่งการ แต่กลับไปขอร้อง แต่เรื่องที่ จึงสมควรแล้วที่ให้พวงมาลัยใครไปแล้วเขาไม่รับ และนักวิชาการก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ยืนยันว่า หากนายสุทิน นำพวงมาลัยมามอบให้กับตนเอง ตนเองก็พร้อมจะรับมอบ และจะมอบพวงมาลัยให้อีกพวงเป็นการตอบแทนด้วย เพราะถือเป็นมารยาท ที่มีผู้มามอบพวงมาลัยแล้วต้องรับไว้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง