SHORT CUT
พิษณุโลก ตระกูลไกรฤกษ์ ชามพูนท ตึงตึงอย่างหมอวรงค์ ถึงวันส้มเขย่าสองแคว พื้นที่นี้น่าจับตาเพราะการเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้
พิษณุโลกถือเป็นจังหวัดใหญ่บริเวณภาคกลางตอนบน และเป็นจังหวัดที่มียุทธศาสตร์สำคัญเชื่อมต่อกับหลายพื้นที่
ไม่ว่าจะเป็นประเทศลาว จังหวัดเลย จังหวัดพิจิตร จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดสุโขทัย และยังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายเชิงกายภาพและวัฒนธรรม เห็นได้จากที่ทั้งพื้นที่ภูเขาและพื้นที่ราบลุ่มซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเมืองที่ทำให้พิษณุโลกมีความหลากหลายและมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตลอดเวลา
ด้วยความที่พิษณุโลกมีพื้นที่ติดชายแดน และเป็นเมืองเชิงภูมิศาสตร์ที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต ทหารจึงเป็นผู้มีบทบาทในพิษณุโลกอย่างมาก
เห็นได้จาก ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ แต่เดิมคือนายทหารที่รับราชการอยู่ที่นครราชสีมาย้ายมาที่พิษณุโลก ตัวเขาเองนั้นเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกู้บ้านกู้เมืองของกบฏบวรเดช ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามของคระราษฎรอีกด้วย
ตัวเขาเองเคยถูกจำคุก 11 ปีที่เกาะตะรุเตา หลังพ้นโทษได้ออกมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ในพิษณุโลก และสามารถคว้าแชมป์มาครองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 เป็นการปักหมุดหมายของตระกูลไกรฤกษ์ ณ พิษณุโลกเรื่อยมา
เพราะต่อมาคนในตระกูลไกรฤกษ์ก็โลดแล่นในการเมืองพิษณุโลกเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็น โกศล ไกรฤษ์ ที่ได้เป็น สส. ในปี พ.ศ.2512 และยังเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายกระทรวง เลขาธิการพรรคกิจสังคม กับ พรรคประชากรไทยอีกด้วย
และคนที่ร่วมสมัยเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
ถึงแม้พิษณุโลกจะมีตระกูลไกรฤกษ์ที่โด่งดัง แต่กระนั้นก็ล้วนเป็นรุ่นผลัดใบส่งไม้ต่อ แต่ข้ามมาที่ สุชน ชามพูนท กลับเป็น สส. ที่ผูกขาดอยู่กับพื้นที่พิษณุโลกโดยเป็น สส. ถึง 14 สมัยด้วยกัน
สุชน เติบโตมาจากการเมืองท้องถิ่น เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองพิษณุโลกระหว่าง พ.ศ. 2509–2510 ก่อนจะได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2512
ตัวเขาเองโลดแล่นในการเมืองระดับพื้นที่เรื่อยมา ตั้งแต่เป็นผู้สมัครอิสระ เคยอยู่พรรคชาติไทย พรรคไทยรักไทย ก่อนที่จะมาเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อในนามพรรคพลังประชาชน และยังคงมีบทบาทเรื่อยมาจนถึงพรรคเพื่อไทย มีบทบาทในพรรคเพื่อไทยคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงจากพรรคเพื่อไทยอีกด้วย
เรื่อยได้ว่าเป็นคนที่ตีคู่กันมาในยุคหนึ่งการเมืองพิษณุโลก หากนึกถึงตระกูล ไกรฤกษ์ ก็ต้องนึกถึง สุชน ชามพูนทด้วยอีกคน
ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 การเมืองถือว่าเปิดเป็นอย่างมาก หนึ่งในผู้ที่เข้าสู่วงการการเมืองคือ ทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจหนุ่มในยุคนั้นได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองมากมาย ซึ่งพิษณุโลกเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
เพราะจากเดิมพิษณุโลกเป็นพื้นที่ที่มี สส. จากหลายพรรค พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย พรรคประชากรไทย พรรคสยามประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคราษฎร พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา
แต่ภายหลังปี พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทย สามารถเจาะพิษณุโลกได้สำเร็จ มี พิษณุ พลไวย์ ,มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ,มยุรา มนะสิการ ,สุชน ชามพูนท ,นิยม ช่างพินิจ ,วีระ ปัทมสิริวัฒน์ และ หัสนัยน์ สอนสิทธิ์ เป็น สส. ในนามพรรคไทยรักไทย
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มี พิทักษ์ สันติวงศ์เดชา ,วรงค์ เดชกิจวิกรม ,นคร มาฉิม ,จุติ ไกรฤกษ์ เป็นการต่อสู้กันเรื่อยมาระหว่างขั้วทักษิณกับพรรคประชาธิปัตย์ในพิาณุโลกเรื่อยมากก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562
การเมืองพิษณุโลกใครๆ ก็คิดคงเป็นการต่อสู้กันระหว่างสีแดง (ไทยรักไทย-เพื่อไทย) กับสีฟ้า (ประชาธิปัตย์) แต่กระนั้นกลับไม่ใช่อย่างที่คิดเพราะในปี พ.ศ. 2562 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลับมีสีส้มแทรกมาหนึ่งคนในดงแดง คือ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังคงรักษาเก้าอี้ได้ในบางส่วนมี สส. ในพิษณุโลก 2 คน คือ นพพล เหลืองทองนารา และ นิยม ช่างพินิจ แต่ประชาธิปัตย์กลับสูญพันธุ์ในพิษณุโลก
ในปี พ.ศ. 2566 มีการเลือกตั้งสีส้มในนามของพรรคก้าวไกลได้ สส. เพิ่มมาอีกหนึ่งคนคือ ศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ ทำให้สีส้มมี สส. ถึง 2 คน จากจำนวน สส. ทั้งจังหวัด 5 คนคือ ปดิพัทธ์ สันติภาดา และ ภปกรณ์ กิตยาธิคุณ
ขณะที่พรรคไทยมี สส. พิษณุโลก 2 คนคือ นพพล เหลืองทองนารา และ พิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ขณะที่ประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ไปจากพิษณุโลก 2 สมัยติด โดยมีพรรครวมไทยส้รางชาติอย่าง พงษ์มนู ทองหนัก เข้ามาแทน
ทางด้าน วรงค์ เดชกิจวิกรม ภายหลังย้ายออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ก้าวสู่การเป็นหัวหน้าพรรคไทยภักดี ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งสักเขต ขณะที่คะแนนบัญชีรายชื่อรวม ทางพรรคคได้คะแนนเพียง 101,864 เสียง อดเข้าไปสภาไปอีกหนึ่งคน
ถึงแม้ว่าพรรคก้าวไกลจะได้ สส. ในพิษณุโลกถึง 2 คน แต่กระนั้นภายหลังศาลรับธรรมนูญมีคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันและชุดที่เสนอแก้กฎหมาย ม. 112 เท่ากับ ปดิพัทธ์ ต้องถูกตัดสิทธิไปด้วย
ขณะเดียวกันการเลือกตั้ง นายก อบจ. พิษณุโลก ถึงแม้ "มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์" อดีตนายกอบจ.พิษณุโลก สามารถเอาชนะ สิริพรรณ คุณประจักษ์นุกูล" หรือ "หนูนา" ที่มีผู้ให้การสนับสนุนช่วยหาเสียง จากอดี ตสส.พื้นที่ อย่าง "หมออ๋อง" " ปดิพัทธ์ ไปได้
จึงต้องจับตาการเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2567 แทนนาย ปดิพัทธ์ สิ่งที่น่าจับตาคือปัจจัยต่างๆ ในพื้นที่พิษณุโลก ที่มีความหลากหลายทางด้านภูมิศาสตร์ พื้นที่การเมือง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คนรุ่นเก่าค่อยๆ โรยรา อาจทำให้พิษณุโลกเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่
พรรคส้มในนามของพรรคประชาชน จะสามารถรักษาเก้าอี้ สส. เดิมได้หรือไม่ เป็นสนามที่น่าจับตา เพราะการเลือกตั้งระดับประเทศพรรคส้มทำให้เห็นมาแล้วว่ากระแสนำกระสุน ขณะที่นักการเมืองฉบับเก่าต้องหาวิธีการมาแก้เกม หากไม่แก้เกม ชิ้นปลามันชิ้นนี้อาจตกไปอยู่ในมือสีส้มอีกก็เป็นได้
กรุงเทพธุรกิจ / ไกรฤกษ์ / สุชน ชามพูนท / NationTV / Election66 /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง