SHORT CUT
สมุทรปราการ ด่านงูเห่า เมืองหลวงเสื้อแดง แดนส้มแลนสไลด์ ภาพลักษณ์นี้ชัดเจนมากที่สุดในการเมืองของสมุทรปราการ
สมุทรปราการจังหวัดติดเมืองหลวง และเมืองอุตสาหกรรมใกล้กรุงเทพมหานคร เมืองที่แต่ครั้งอดีตเคยเป็นทุ่งนา บ่อปลา แต่ต้องรองรับความเจริญที่ไหลบ่าจากกรุงเทพมหานคร ต้องปรับตัวกลายเป็นที่ตั้งโรงงานและหมู่บ้านจัดสรร
พอพูดถึงตรงนี้แน่นอนว่าพื้นที่นี้ย่อมเป็นแหล่งขุมทรัพย์ และพื้นที่ย่อมมีราคาค่างวดที่ไม่ธรรมดา ผลประโยชน์จึงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การจัดสรรผลประโยชน์เอง ย่อมมีกลุ่มการเมือง หรือตระกูลการเมืองที่ขึ้นอยู่ในจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพมหานครคอยกุมอำนาจอยู่ แต่ด้วยภูมิศาสตร์ทางการเมืองทำให้มีหลายขั้วอำนาจทางการเมือง แต่บ้านใหญ่ที่โดดเด่นคือบ้านใหญ่อัศวเหม ณ พื้นที่ปากน้ำที่โลดแล่นทางการเมืองมาอย่างยาวนานในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
แต่ในทางกลับกันเมื่อสังคมเปลี่ยนการเมืองเปลี่ยนพื้นที่นี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอัศวเหมเสียพื้นที่ทางการเมืองในระดับชาติให้ไทยรักไทย-พื่อไทย ตลอดจนก้าวไกลในที่สุด
ในทางท้องถิ่นก็พร้อมที่จะมีหลายตระกูลที่จะเขย่าอัศวเหมเสมอ โดยเฉพาะพื้นที่แถบถนนบางนา-ตราด ที่กล่าวกันว่าอิทธิพลอัศวเหมไม่เคยเอื้อมถึงเลย เพียงแต่บางครั้งปรับเปลี่ยนเป็นพันธมิตรหรือคู่ขัดแย้งกันขึ้นอยู่กับจังหวะทางการเมืองและผลประโยชน์ร่วมกัน
หรือพื้นที่ปากน้ำที่เป็นไข่แดงของอัศวเหมเอง ณ ปัจจุบันในการเมืองระดับชาติก็ไม่สามารถรักษาพื้นที่ไว้ได้ ต้องเสียแชมป์ให้กับพรรคก้าวไกล จนถึงระดับเทศบาลก็ต้องเตรียมใจรอวันที่ตระกูลอื่นๆ ท้าทายอำนาจอัศวเหมอีกระลอกหนึ่ง
ในอนาคตต้องวัดใจกันว่าระดับ อบจ. สมุทรปราการจะเปลี่ยนแปลงเหมือนระดับประเทศหรือไม่ เพราะนี่คือสมุทรปราการ ด่านงูเห่า เมืองหลวงเสื้อแดง แดนส้มแลนสไลด์ ที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เมื่อพูดถึงสมุทรปราการตระกูลแรกที่ต้องนึกถึงคือตระกูล อัศวเหม และผู้นำของกลุ่มนี้คือ วัฒนา อัศวเหม อดีตประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน เจ้าของฉายา "เจ้าพ่อปากน้ำ" เดิมชื่อ นายกิมเอี่ยม แซ่เบ๊ แซ่เดียวกับ บรรหาร ศิลปอาชา เป็นลูกหลานชาวจีนที่เกิดและเติบโตที่สมุทรปราการ
ในช่วงแรกนั้นเขาทำธุรกิจค้าน้ำมัน แต่ธุรกิจนี้ไม่ประสบความสำเร็จเขาจึงเบนเข็มเข้าสู่เส้นทางการเมือง
วัฒนาเข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกภายใต้พรรคชาติไทย โดยมี สังข์ พัธโนทัย คนสนิทของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นครูทางการเมือง (และต่อมา ดร.มั่น พัธโนทัย ลูกชายของ สังข์ ก็เป็นพันธมิตรของเขาสืบมา) จากนั้นได้เข้าร่วมเส้นทางการเมืองกับพรรคชาติไทยในปี 2518 ยุคเดียวกับ บรรหาร ศิลปอาชา
เขาใช้เวลาเพียง 1 ปี สามารถก้าวกระโดดไปได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จากนั้นเส้นทางของเขาจึงเป็นเส้นทางที่ยึดกุมเก้าอี้ สส. ในเมืองปากน้ำมาโดยตลอด โดยเป็น สส. สมุทรปราการ ถึง 10 สมัย ได้เป็นรัฐมนตรีอีกหลายครั้ง คือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 3 รอบ ในปี 2531 2533 และ 2540 รวมถึงเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีช่วงสั้นๆ ก่อนเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนพฤษภาคม 2535
วัฒนายังเป็นชายหลายโบสถ์ทางการเมืองเพราะเขานั้นย้ายพรรคบ่อยมากเคยอยู่ทั้ง พรรคชาติไทย พรรคราษฎร พรรคประชากรไทย พรรคมหาชน พรรคเพื่อแผ่นดิน
จนกลายเป็นตำนาน ‘งูเห่า’ เมื่อเขาและกลุ่มของ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ และ ดร.มั่น พัธโนทัย ย้ายจากพรรคประชากรไทยของ สมัคร สุนทรเวช ซึ่งสนับสนุนให้ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อสนับสนุนให้ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2542 เป็นต้นกำเนิดของนิทาน ‘ชาวนากับงูเห่า’ ที่สมัครเป็นผู้เล่ากลางรัฐสภา
แต่ถึงแม้อัศวเหมจะโดดเด่นในการเมืองระดับชาติ แต่ในทางท้องถิ่นนั้นพวกเขาไม่ได้กุมอำนาจไว้อย่างแท้จริง เพราะในพื้นที่อื่นๆ ล้วนมีพันธมิตรที่รวมตัวกันหลวมๆ ที่คอยสนับสนุนพวกเขาไปการเมืองระดับชาติ
เช่น โซนที่ถนนบางนา-ตราด ตัดจากกรุงเทพมหานครมาถึงสมุทรปราการจะพบว่าในแต่ละตำบลจะมีบ้านใหญ่ที่กระจายกันออกไป เช่นบางพลี จะมีกลุ่มตระกูลรุ่งเรือง บางโฉลง จะมีตระกูลนิ่มนวล-ลำจวน ราชาเทวะ จะมีตระกูลนกขมิ้น บทบาทของตระกูลเหล่านี้จะอยู่ในระดับ อบต. เทศบาล รวมถึงการเป็น สจ. คอยประสานผลประโยชน์กับตระกูลอัศวเหมที่กุมตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อีกด้วย
สะท้อนอำนาจของตระกูลอัศวเหมที่ไม่สามารถมีอำนาจทั่วถึงในจังหวัดสมุทรปราการ ต้องหาพันธมิตรทางการเมืองในจังหวัดสมุทรปราการมากกว่าจะเป็นผู้กุมอำนาจที่แท้จริง
ดังที่กล่าวมาว่าตระกูลอัศวเหมไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริงในจังหวัดสมุทรปราการ เพราะมีบ้านใหญ่ในหลายพื้นที่ที่บางครั้งเป็นพันธมิตรและในบางครั้งเป็นผู้ท้าทายอำนาจอยู่เสมอ
เมื่อทักษิณ ชินวัตร นำนโยบายประชานิยมเข้ามาการเมืองในสมุทรปราการจึงเปลี่ยนแปลงไปทันที เห็นได้จากการเลือกตั้งระดับชาติ 2544-2554 ระยะเวลา 10 ปี เป็นปีที่สร้างความเจ็บปวดให้กับตระกูลอัศวเหมเพราะพวกเขาเสียเก้าอี้ สส. ให้กับกลุ่มคนที่ส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ที่เป็นกลุ่มการเมืองของทักษิณ ทั้งสิ้น
ทำให้พวกเขาเองต้องจำกัดตัวเองอยู่ในกรอบระดับท้องถิ่น และระดับ อบจ. เท่านั้น และในบางครั้งเก้าอี้นายก อบจ. ยังเสียให้กับตระกูลอื่นอย่าง อำนวย รัศมิทัต อีกด้วย
ก่อนที่พวกเขาจะค่อยๆ กลับมามีอำนาจในยุคที่ ทักษิณ โดนยึดอำนาจ และการรัฐประหาร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลุ่มก้อนของอัศวเหมเข้าไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จอีกครั้งในปี 2562 ที่ตระกูลอัศวเหมสามารถนำทีมพลังประชารัฐกวาด สส. ในจังหวัดสมุทรปราการได้ถึง 6 เขต จาก 7 เขต มีเพียงเขต 4 ที่พรรคอนาคตใหม่เจาะได้สำเร็จ
แต่กระนั้นเมื่อถึงการเลือกตั้งในปี 2566 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับจังหวัดสมุทรปราการอีกครั้ง เพราะกระแสของพรรคก้าวไกลที่มาแรงแซงกระสุน ทำให้พรรคก้าวไกลสามารถกวาด สส. ได้ทั้งสมุทรปราการทั้ง 8 เขต นำไปสู่การสูญพันธุ์ของอัศวเหมอีกครั้ง เป็นปรากฏการณ์ที่พูดกันว่าส้มล้มบ้านใหญ่อย่างน่าอัศจรรย์
ปรากฏการณ์นี้มาพร้อมกับการเสียชีวิตของ ชนสวัสดิ์ อัศวเหม ที่ขึ้นมาเป็นประมุขบ้านอัศวเหมแทน นายวัฒนา อัศวเหม บิดาของเขาที่หนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ
การเสียชีวิตของ ชนสวัสดิ์ ทำให้เสถียรภาพการเมืองของตระกูลอัศวเหมตกต่ำลงไปอีกเพราะขาดคนประสานเชื่อมสัมพันธุ์จัดสรรผลประโยชน์กับบ้านอื่นๆ จนคนคาดการณ์กันว่าบ้านใหญ่อัศวเหมคงเหลือเป็นเพียงความทรงจำในสมุทรปราการเพียงเท่านั้น
ถึงแม้ตระกูลอัศวเหมจะสามารถส่ง นันทิดา แก้วบัวสาย ภรรยาของ ชนสวัสดิ์ อัศวเหม สู่เก้าอี้นายก อบจ. สมุทรปราการในนามของกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้าได้ แต่กระนั้นเมื่อการเลือกตั้งระดับประเทศมีความเปลี่ยนแปลงสะท้อนถึงว่าสมุทรปราการพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงเสมอ เห็นได้จากการเลือกตั้ง สส. สมุทรปราการที่ทั้ง 8 เขตเป็น สส. จากพรรคก้าวไกล
การเลือกตั้ง อบจ. ในต้นปี 2568 กำลังมาเยือน อัศวเหม หรือกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้าเอง ก็ต้องเตรียมจัดทัพให้พร้อมสู้รบกับก้าวไกลในสนามระดับ อบจ. อย่างแน่นอน
ข่าวลือหนาหูคือเครือข่ายท้องถิ่นในสมุทรปราการแตกเป็นเสี่ยงๆ หลังจาก ชนสวัสดิ์ อัศวเหม เสียชีวิต บ้านใหญ่ต่างๆ ในท้องถิ่นต่างส่งสัญญาณย้ายข้างอยู่ตลอดเวลา ถึงขนาดที่บางตระกูลที่เคยเป็นพันธมิตรของตระกูลอัศวเหมย้ายไปซบพรรคก้าวไกลก็มี
บ้านใหญ่ก็ยังไม่ชัดว่าจะส่งใครสู้ศึกเลือกตั้ง อบจ. ที่กำลังมาถึง เพราะมีสัญญาณให้ นันทิดา ถอย และให้กับ สุนทร ปานแสงทอง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มือขวาของ วัฒนา อัศวเหม
ทำให้คนในตระกูลอัศวเหมบางกลุ่มไม่พอใจเรื่องดังกล่าว ณ ขณะนี้ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะส่งใครลง เพราะกลายเป็นมีทั้งกลุ่มสุนทร กลุ่มนันธิดา รวมถึงกลุ่มของ ประภาพร ภรรยาพูลผล อัศวเหม ที่กำลังแข่งขันพลังภายในกันอยู่ หรือสุดท้ายแล้วจะเกิดการแข่งขันกันเองภายในกลุ่มก๊วนเดียวกัน
นั่นย่อมหมายความว่าจะเป็นการหักกันเองภายในมุ้ง นำมาสู่ความแตกแยกภายในและระดับเครือข่ายที่อาจนำมาสู่ความพ่ายแพ้ที่อาจย้ำบาดแผลตั้งแต่ระดับประเทศที่เป็นสีส้ม ในระดับท้องถิ่นหรือ อบจ. เองพรรคส้มอาจเอาไปครองอีกก็ได้
อ้างอิงง
TheMomentum / SPRiNG / SWU / The MATTER /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง