svasdssvasds

ยุบก้าวไกลประชาธิปไตยถดถอย ต่างชาติแสดงออก หลังศาล รธน. ยุบพรรคก้าวไกล

ยุบก้าวไกลประชาธิปไตยถดถอย ต่างชาติแสดงออก หลังศาล รธน. ยุบพรรคก้าวไกล

ยุบพรรคก้าวไกลประชาธิปไตยถดถอย ต่างชาติตบเท้าแสดงออก หลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลทำกระบวนการมนุษยชนอ่อนแอ

SHORT CUT

  • หลังจากการยุบพรรคก้าวไกลหลายๆ ชาติรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่างออกมาท้วงติง แสดงข้อกังวลกับเหตุการร์ดังกล่าว
  • ว่าเป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตยให้อ่อนแอ
  • รวมถึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานหรือไม่

ยุบพรรคก้าวไกลประชาธิปไตยถดถอย ต่างชาติตบเท้าแสดงออก หลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลทำกระบวนการมนุษยชนอ่อนแอ

คดียุบพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นที่จับตาแต่คนในประเทศไทยอย่างเดียว แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าว ได้สร้างความสนใจไปทั่วโลก

โดยในหลายๆ ประเทศได้ออกมาห่วงใยต่อกรณีดังกล่าว ในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตยและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

SPRiNG รวบรวมตัวอย่างความคิดเห็นของต่างชาติ ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในวันที่ “ยุบก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม”

 

อเมริกา

เป็นการแถลงการณ์โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แมทธิว มิลเลอร์ กรณีการยุบพรรคก้าวไกลในประเทศไทย

สหรัฐอเมริกามีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยในวันนี้ ซึ่งมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรค 11 คน

คำตัดสินนี้ลิดรอนสิทธิ์ของชาวไทยกว่า 14 ล้านคนที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 และทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาสามารถเลือกผู้แทนของตนในระบบการเลือกตั้งของไทยได้หรือไม่ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยังเสี่ยงต่อการบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตยของไทย และขัดกับความปรารถนาของชาวไทยต่ออนาคตที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตย

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยทั่วถึงเสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคม และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันระดับชาติที่เข้มแข็ง สหรัฐฯ ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองใด แต่ในฐานะพันธมิตรและมิตรใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นยาวนาน เราเรียกร้องให้ไทยดำเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง และเพื่อปกป้องประชาธิปไตย รวมถึงเสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออก

 

สหภาพยุโรป

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้ยุบพรรคการเมืองหลักอีกพรรคหนึ่งซึ่งได้แก่พรรคก้าวไกลนั้น เป็นการทำให้พหุนิยมทางการเมืองในประเทศไทยถดถอยลง พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนำในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 กว่า 14 ล้านเสียง (จาก 39 ล้าน)

โดย EU ยืนยันว่า ไม่มีระบอบประชาธิปไตยใดที่จะดำเนินไปได้โดยปราศจากพรรคการเมืองและผู้ลงสมัครจากหลากหลายฝ่าย ข้อจำกัดใดต่อการสมาคมและการแสดงออกอย่างเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกิจกรรมและการจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติและหลักการที่เกี่ยวข้องของตราสารระหว่างประเทศ อันรวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)

สิ่งสำคัญคือทางการต้องรับรองว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกรายที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาโดยชอบธรรมจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาต่อไปได้ตามอาณัติจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะได้รับเลือกตั้งจากการสังกัดพรรคใด

อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปพร้อมที่จะขยายขอบเขตความร่วมมือกับประเทศไทยภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 รวมถึงประเด็นด้านพหุนิยมประชาธิปไตย เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน

สหราชอาณาจักร

ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรออกแถลงการณ์ต่อกรณีการยุบพรรคก้าวไกลว่า “ความหลากหลายทางความคิดและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นหลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การตัดสินคดียุบพรรคการเมืองใหญ่ในประเทศไทยอีกพรรคหนึ่งจึงเป็นความถดถอยของหลักการเหล่านี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรขอสนับสนุนให้พรรคการเมืองทุกพรรคยึดมั่นในเรื่องสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยและการเป็นตัวแทนของประชาชน”

นิวซีแลนด์

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศและการค้านิวซีแลนด์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมว่า “จากกรณีที่ศาลไทยมีมติยุบพรรคก้าวไกลและเพิกถอนสิทธิกรรมการผู้บริหารพรรคทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม นิวซีแลนด์สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก รวมถึงสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎรตามเสรีภาพที่ตนพึงมี

นิวซีแลนด์ตระหนักว่า พรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภาไทย และพรรคฝ่ายค้านมีบทบาทสำคัญในการบริหารตามระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นตัวแทนของประชาชนที่ใช้สิทธิของตนในการลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทน”

แอมเนสตี้

ด้าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เผยว่าการยุบพรรคก้าวไกลเป็น ‘การตัดสินที่ไร้ความชอบธรรม’ อันบ่อนทำลายสิทธิมนุษยชน

สืบเนื่องจากรายงานข่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญของไทยเห็นชอบตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากการรณรงค์ของพรรคเพื่อเสนอปฏิรูปกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์

ดีโพรซ มูเชนา ผู้อำนวยการอาวุโส แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นชอบกับการยุบพรรคก้าวไกล เป็นการตัดสินใจที่ไร้ความชอบธรรม ซึ่งเผยให้เห็นความเพิกเฉยโดยสิ้นเชิงของทางการไทย ต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเคยให้คำมั่นไว้

“การยุบพรรคการเมืองเพียงเพราะเสนอให้ปฏิรูปกฎหมาย ถือเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการสมาคม เป็นการละเมิดต่อสมาชิกรัฐสภาซึ่งเพียงแต่เสนอกฎหมายตามหน้าที่เท่านั้น”

“การคุกคามอย่างต่อเนื่องของทางการไทยต่อนักการเมืองฝ่ายค้าน เป็นภาพสะท้อนถึงความย้อนแย้งอย่างสิ้นเชิงกับคำมั่นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยประกาศเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำโลกด้านสิทธิมนุษยชน โดยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ทางการไทยต้องกลับคำวินิจฉัยที่สั่งให้ยุบพรรคอย่างเร่งด่วน และยุติการใช้กฎหมายเป็นอาวุธเพื่อข่มขู่และคุกคามผู้วิจารณ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักการเมืองฝ่ายค้าน”

ฟอร์ตี้ฟายไรต์

ด้านฟอร์ตี้ฟายไรต์องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้มีการแถลงก่อนหนึ่งวันที่จะมีคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกลว่า ทางการไทยควรปฏิเสธความพยายามของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะให้ยุบพรรคก้าวไกลซึ่งชนะการเลือกตั้ง และสั่งห้ามผู้บริหารพรรคดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวในวันนี้ โดยคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคำร้องให้ยุบพรรคในวันพรุ่งนี้

“ความพยายามยุบพรรคก้าวไกลเป็นการโจมตีโดยตรงต่อหลักการประชาธิปไตย และบั่นทอนพันธกิจของประเทศไทยที่มีต่อสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหาร ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว “ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการใช้กฎหมายโจมตีพรรคฝ่ายค้านทางการเมือง ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญต่อบูรณภาพของระบบเลือกตั้ง และประกันว่าพรรคการเมืองจะสามารถดำเนินงานได้โดยไม่ถูกแทรกแซงอย่างไม่เป็นธรรม”

ในวันที่ 3 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้รับพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ยุบพรรคก้าวไกล และห้ามไม่ให้ผู้บริหารพรรคดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี คำร้องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพรรคก้าวไกลได้เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์

ในคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้อ้าง คำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญไทยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่เห็นว่าข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการล้มล้างระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทย ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การสนับสนุนให้แก้กฎหมายดังกล่าว เป็นความพยายามเพื่อ “ล้มล้างระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งขัดต่อมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญของไทย

ในคำแก้ต่างอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรที่ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 พรรคก้าวไกลอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ และกระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย พวกเขายืนยันว่าคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการเสนอแก้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ และพรรคไม่ได้มีเป้าหมายล้มล้างระบอบการปกครอง ประการสุดท้าย ในคำแก้ต่างยังย้ำว่า การสั่งยุบพรรคการเมืองควรเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย ซึ่งคำสั่งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรได้สัดส่วน และควรจำกัดให้มีผลเฉพาะกับกรรมการบริหารพรรคบางคนเท่านั้น อีกทั้งพรรคก้าวไกลยังอ้างว่าศาลไม่มีอำนาจในการสั่งห้ามสมาชิกพรรคจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย

ข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เสนอให้ลดโทษจำคุกสูงสุด กรณีที่เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์จาก 15 ปีเหลือหนึ่งปี และ/หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท ทั้งยังเสนอในกรณีหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และ/หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท ที่สำคัญ การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ กำหนดให้มีข้อยกเว้นบทลงโทษฐานหมิ่นประมาท กรณีที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ การจำคุกถือเป็นบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน เกินขอบเขต และไม่จำเป็นต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท และโทษจำคุกต่อการหมิ่นประมาท ยังมีผลในเชิงสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออก

ความพยายามที่จะยุบพรรคก้าวไกล สะท้อนถึงแบบแผนบางอย่างในการเมืองไทย ที่รัฐบาลพยายามตอบโต้พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีคะแนนนิยมสูง ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งเป็นพรรคก่อนที่จะกลายมาเป็นพรรคก้าวไกล และสั่งให้ตัดสิทธิทางการเมืองแกนนำพรรค ทั้งธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และปิยบุตร แสงกนกกุล ศาลเห็นว่าการให้เงินยืม 191.2 ล้านบาทของธนาธรต่อพรรคอนาคตใหม่ผิดกฎหมาย เพราะเกินจำนวนเงินรับบริจาคต่อบุคคลต่อปี นอกจากนี้ พรรคการเมืองใหญ่อื่น ๆ ที่เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เนื่องจาก “ละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง” ยังรวมไปถึงพรรคไทยรักษาชาติ (ถูกสั่งยุบเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562) ; พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน (ยุบทั้งสามพรรคพร้อมกันในวันที่ 2 ธันวาคม 2551) ; และพรรคไทยรักไทย (ยุบเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550)

ในเดือนพฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจากการเลือกตั้ง คิดเป็น 37.99% ของคะแนนทั้งหมด และได้ผู้แทนราษฎรจำนวนมากที่สุดในรัฐสภา กล่าวคือ 151 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง

“คำวินิจฉัยของศาลในวันพรุ่งนี้ จะตัดสินอนาคตของประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่ผ่านมาพรรคการเมืองฝ่ายค้านต้องเผชิญกับภัยคุกคามผ่านการใช้กฎหมาย ทั้งการสั่งยุบพรรคและห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง” เอมี สมิธกล่าว “เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องแสดงให้เห็นพันธกิจที่มีต่อกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและไม่ลำเอียง และต้องคุ้มครองพรรคที่ได้รับเลือกจากพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย”

สรุปภาพรวมแล้วจะเห็นได้ว่าองค์กรต่างประเทศล้วนห่วงในเรื่องประชาธิปไตยของไทย เพราะพรรคก้าวไกลเป้นพรรคอันดับ 1 ที่ได้เสียงจากประชาชน 14 ล้านเสียงกลับถูกยุบลง สะท้อนถึงประชาธิปไตยถดถอยและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานคือการที่ประชาชนสามารถมีสิทธิมีเสียงเลือกตั้งของที่จะเป็นตัวแทนของตนเองในสภาอีกด้วย

 

related