svasdssvasds

'ปิยบุตร' ย้ำ ถึงเวลาปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่นิติสงครามทำลายคู่แข่ง

'ปิยบุตร' ย้ำ ถึงเวลาปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่นิติสงครามทำลายคู่แข่ง

'ปิยบุตร' แนะ 4 ข้อ ถึงเวลาปฏิรูปศาลรธน. ย้ำ ไม่ใช่นิติสงครามทำลายคู่แข่งการเมือง ขอรักษาสถาบันกษัตริย์ คู่ไปกับระบอบประชาธิปไตย

SHORT CUT

- ปิยบุตร ย้ำถึงเวลาปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ 

- แนะ 4 ข้อ ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ 

- ย้ำขอสถาบันกษัตริย์อยู่คู่ระบอบประชาธิปไตย 

 

'ปิยบุตร' แนะ 4 ข้อ ถึงเวลาปฏิรูปศาลรธน. ย้ำ ไม่ใช่นิติสงครามทำลายคู่แข่งการเมือง ขอรักษาสถาบันกษัตริย์ คู่ไปกับระบอบประชาธิปไตย

7 สิงหาคม 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล ก่อนที่จะมีการวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ได้มีการจัดกิจกรรมเลคเชอร์สาธารณะ ว่าด้วยเรื่องศาลรัฐธรรมนูญและการยุบพรรค โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า

โดยบรรยายอย่างเห็นภาพ ถึงบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญกับการเมืองไทยในแต่ละยุครัฐบาล

จากตุลาการภิวัฒน์ ถึง นิติสงคราม ดังนี้

- ตุลาการภิวัฒน์ : รัฐบาลทักษิณ ที่ถูกรัฐประหารในปี 2549 ภายหลังจากนั้น 1 ปีในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยตัดสิน ยุบพรรคไทยรักไทย

- รัฐประหารทางตุลาการ : รัฐบาลยิ่งลักษณ์

- ศาลเงียบ : คสช. 2557-2561

- นิติสงคราม : ศาลถูกใช้ให้ทำลายคู่แข่งทางการเมือง ตั้งแต่ครั้งยุบพรรคอนาคตใหม่ จนมาครั้งนี้การวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล

นายปิยบุตรกล่าวว่า เส้นทางการยุบพรรคในประเทศไทย มีมาตั้งแต่ปี 2550 จากพรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเมื่อมีการยุบพรรคก็มีการตัดสิทธินักการเมืองของพรรคนั้นๆ ด้วย และหลังรัฐประหารในปี 2557 พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็สร้างพรรคแฝดขึ้นมาคือพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งได้มีการเตรียมที่จะเดินลงหาเสียงไว้แล้ว ก่อนที่ กกต.ไปร้องว่าพรรคไทยรักษาชาติ กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ ขณะรับรองแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทำให้มีการยุบพรรค  พอมาถึงพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกสั่งยุบพรรคและมีคณะกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ 16 คน

“มาถึงพรรคก้าวไกลก็ถูกร้องเรื่องของการล้มล้างการปกครอง จากเดิมจะยุบเรื่องการปฏิบัติจากเรื่องผิดกฎหมายและเลือกตั้งเทคนิคทางกฎหมาย แต่วันนี้มาเป็นเรื่องของการยุบพรรคในข้อหาการล้มล้างการปกครอง ที่มาจากชื่อเต็มคือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมจึงมีความเห็นว่าการร้องยุบพรรคด้วยข้อหาเหล่านี้เป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตรกล่าวอีกว่า ส่วน 2 ทศวรรษที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญกับการเมืองไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ตั้งแต่เรื่องของการซุกหุ้นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งมาถึงการรัฐประหารในปี 2557 ก็ไม่ได้มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้ง เมื่อคนที่ฉีกรัฐธรรมนูญบอกให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อ แล้วที่เราเรียนมาคืออะไร

จนกระทั่งมาถึงยุคนิติสงครามที่เอากฎหมายมาจัดการฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล แทนที่จะปืนมาไล่ยิงกัน ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญจะพูดว่าไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่คดีต่างๆ แสดงให้เห็นว่าเกี่ยวจริงๆ

นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ส่วนอนาคตศาลรัฐธรรมนูญไทย ควรจะไปต่อหรือยกเลิก หากจะไปต่อ ไปต่ออย่างไร ตนมองว่าได้เวลาปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1.เปลี่ยนองค์ประกอบและกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมี 9 คน แบ่งเป็น 3-3-3 โดยสามแรกให้ฝ่ายรัฐบาลเป็นคนเสนอ 3 ที่สองให้ฝ่ายค้านเสนอ และอีก 3 ให้ศาลปกครองเป็นผู้เสนอ, 2.ตีกรอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้ลดลงและเคร่ง, 3.ยกเลิกความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และ 4.สร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญ

related