svasdssvasds

นวนิยาย "กี่บาด" คว้ารางวัลซีไรต์ 2567 ผลงานของ ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด 

นวนิยาย "กี่บาด" คว้ารางวัลซีไรต์ 2567 ผลงานของ ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด 

นวนิยายเรื่อง "กี่บาด" ของ ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2567.

SHORT CUT

  • คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ จัดแถลงข่าวการประกาศผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2567
  • มติเอกฉันท์! กี่บาด” ของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด สำนักพิมพ์คมบาง คว้ารางวัลซีไรต์ ประจำปี 2567 
  • เรื่องราวของช่างทอผ้า “แม่ญิง” ล้านนา 3 รุ่นที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทอผ้าซิ่นตีนจก

นวนิยายเรื่อง "กี่บาด" ของ ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2567.

คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ จัดแถลงข่าวการประกาศผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2567 โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ พร้อมด้วยคณะกรรมการตัดสินร่วมงาน ณ C asean ห้องประชุมชั้น 10 อาคาร CW Tower

โดยคณะกรรมการตัดสินมีมติเป็นเอกฉันท์ประกาศผลการคัดเลือกนวนิยายที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2567 ได้แก่ นวนิยายเรื่อง “กี่บาด” ของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด สำนักพิมพ์คมบาง ได้รับรางวัลปีนี้

สำหรับปี 2567 เป็นประเภท นวนิยาย มีผู้ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 69 เรื่อง การพิจารณาแบ่งเป็น 2 รอบ รอบคัดเลือก และรอบตัดสิน คณะกรรมการรอบตัดสิน มี 7 ท่าน ดังนี้

  1. รองศาสตราจารย์ ดร. ธัญญา สังขพันธานนท์ ประธานคณะกรรมการตัดสิน
  2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา กรรมการตัดสิน
  3. นรีภพ จิระโพธิรัตน์ กรรมการตัดสิน
  4. รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร กรรมการตัดสิน
  5. รองศาสตาจารย์ ดร. พิเชฐ แสงทอง กรรมการตัดสิน
  6.  จตุพล บุญพรัด กรรรมการตัดสิน
  7. ดร.อลงกต ใหม่ด้วง กรรมการตัดสิน

 

 

 

นวนิยายเรื่อง "กี่บาด" คืออะไร

ผู้ประพันธ์ : ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด

กี่บาด เล่าเรื่องราวของช่างทอผ้า “แม่ญิง” ล้านนา 3 รุ่นที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทอผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งเป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของล้านนา เส้นสายลวดลายบนผืนผ้าเปรียบเสมือนกับเรื่องราวชีวิตที่มีบาดแผลและความทรงจำอันเจ็บปวดของตัวละคร กี่บาดซึ่งเป็นชื่อนวนิยายเป็นสัญลักษณ์เปรียบได้กับแผลเป็นที่ย้ำเตือนประสบการณ์อันเลวร้ายในชีวิต เป็นการเชื่อมโยงเรื่องราวการทอผ้ากับเรื่องราวชีวิตของตัวละครได้อย่างน่าติดตาม นอกจากนั้นผ้าซิ่นทอในเรื่องยังเป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อ “พลังความเป็นหญิง” ในครอบครัว 

เนื้อหาของนวนิยายแบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ตามเรื่องราวของตัวละครหลัก เล่าด้วยสายตาของผู้รู้ผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละรุ่น เริ่มตั้งแต่ส่วนของ “เอวซิ่น” เป็นเรื่องราวของ “แม่หม่อนเฮือนแก้ว” หญิงชราที่เป็นผู้รับและส่งต่อมรดกการทอผ้าจากบรรพบุรุษ ผู้พบกับความรักต้องห้ามในวัยสาวซึ่งต่อมาต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวและเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลในใจตลอดชีวิต

ตามด้วย “ตัวซิ่น” เป็นเรื่องราวของ “แม่อุ้ยนาค” ลูกสาวของหญิงชราที่ถูกมารดาชัง สุดท้าย “ตีนซิ่น” เป็นเรื่องของรุ่นหลานชาย “บ่าหงส์” ผู้เลือกวิถีชีวิตของตนเป็นหญิงขัดกับเพศกำเนิด และเป็นผู้สืบทอดมรดกการทอผ้าในครอบครัวซึ่งตามประเพณีวัฒนธรรมของล้านนาสงวนไว้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น

ผู้เขียนถักทอเรื่องราวประดุจดังการสอดประสานเส้นใยฝ้ายเป็นลวดลายบนผืนผ้า ผสมผสานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทอผ้าเข้ากับเรื่องเล่าแนวบันเทิงคดีได้อย่างสอดคล้องและแนบเนียน นำเสนอฉากท้องเรื่องที่มีภูมิหลังทางสังคมและบรรยากาศทางวัฒนธรรมของล้านนาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอเรื่องราวการกดขี่สตรีเพศในครอบครัว รวมทั้งเรื่องเพศวิถีความเป็นชายและความเป็นหญิงกับการก้าวผ่านข้อห้ามทางประเพณีวัฒนธรรมที่สังคมกำหนด การเล่าเรื่องของนวนิยายเป็นไปอย่างเรียบง่าย งดงาม กระจ่างชัดด้วยการใช้ภาษาพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครอย่างน่าสะเทือนใจ สร้างความรู้สึกร่วมแก่ผู้อ่าน

 

ขนบวรรณศิลป์แบบดั้งเดิมประสานกับการสร้างสรรค์ใหม่

ด้านศิลปะการประพันธ์ กี่บาด มีทั้งขนบวรรณศิลป์แบบดั้งเดิมประสานกับการสร้างสรรค์ใหม่ โดยใช้ศิลปะการทอผ้าและลวดลายสื่อความหมายและดำเนินเรื่องอย่างมีเชิงชั้น เต็มไปด้วยสีสันท้องถิ่น นำพาผู้อ่านสู่อารมณ์สะเทือนใจ เห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของมนุษย์ แม้จะต้องเผชิญประสบการณ์หรือความทรงจำอันปวดร้าวเพียงไร ชีวิตก็ต้องเดินไปข้างหน้า และถักทอเรื่องราวอันเป็นวัฒนธรรมเรื่องเล่าของมนุษยชาติต่อไป

 

นวนิยายที่เข้าชิงรางวัลซีไรต์ 2567

  • กี่บาด ผู้ประพันธ์ : ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด
  • คุณเคนต์และข้าพเจ้า Ms. Kent & Me  ผู้ประพันธ์ : LADYS (ลาดิด)
  • แชมเปญจ์น ซูเปอร์โนวา และการฆ่าตัวตายครั้งสุดท้ายของชาลี ผู้ประพันธ์ : พิชา รัตนานคร
  • แมลงสาบในเมืองสลด ผู้ประพันธ์ : อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
  • แมลงอายุสั้นที่เราไม่รู้จัก ผู้ประพันธ์ : กล้า สมุทวณิช
  • ล้านนาฮาเร็ม ผู้ประพันธ์ : สาคร พูลสุข
  • ห้องเรณู ผู้ประพันธ์ : วิภาส ศรีทอง
  • อันกามการุณย์ Non fa niente ผู้ประพันธ์ : ลาดิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related