svasdssvasds

77 ปีตำนาน “พรรคประชาชน” ไม่ได้พึ่งเกิดในปี 2567 แต่มีมาตั้งแต่ 2490

77 ปีตำนาน “พรรคประชาชน” ไม่ได้พึ่งเกิดในปี 2567 แต่มีมาตั้งแต่ 2490

77 ปีตำนาน “พรรคประชาชน” ไม่ได้พึ่งเกิดในปี 2567 แต่มีมามาตั้งแต่ 2490 ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะตั้งแต่การเมืองยุคคณะราาฎร เผด็จการทหาร และยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ

SHORT CUT

  • “พรรคประชาชน” ไม่ได้พึ่งเกิดในปี 2567 แต่มีมามาตั้งแต่ 2490
  • โดยคนที่นำชื่อพรรคประชาชนมาใช้ครั้งแรก คือ เลียง ไชยกาล ตำนาน สส. ฝีปากกล้า
  • หลังจากนั้นถูกใช้มาเรื่อยๆ และตำนานก็กลับมาอีกครั้งในวันที่ยุบพรรคก้าวไกล ในปี พ.ศ. 2567 พร้อมกับการกลับมาเกิดใหม่ของพรรคประชาชน

77 ปีตำนาน “พรรคประชาชน” ไม่ได้พึ่งเกิดในปี 2567 แต่มีมามาตั้งแต่ 2490 ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะตั้งแต่การเมืองยุคคณะราาฎร เผด็จการทหาร และยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ

ภายหลังการบุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 อดีตสมาชิกพรรคก้าวไกลได้สานต่ออุดมการณ์ด้วยการตั้งพรรคใหม่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2567 อย่างทันท่วงทีและได้เคาะชื่อ “พรรคประชาชน” เป็นเรือลำใหม่ที่พร้อมขับเคลื่อนอุดมการณ์

แต่พึ่งเริ่มสตาร์ทเครื่องในนามพรรคประชาชน ก็ถูกทิ่มแทงจากฝั่งตรงข้ามหรือฝ่ายที่ไม่เห็นได้ ออกมาโพสต์เป็นระยะๆ ว่าคำว่าประชาชนในนาม “พรรคประชาชน” ไม่ได้รวมถึงพวกเขาด้วย จนเป็นกระแสดราม่าที่ตามมาทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยถกเถียงกันในโลกโซเชียลอยู่ตลอดเวลา

 

แต่เอาเข้าจริงแล้ว “พรรคประชาชน” ไม่ได้พึ่งถือกำเนิดขึ้น ณ ปีนี้ พ.ศ. นี้ ความเป็นจริงแล้วพรรคประชาชนได้ถือกำเนิดขึ้นในการเมืองเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 หรือเมื่อ 77 ปีที่แล้ว และมีการใช้ชื่อนี้หลายครั้งในการเมืองไทย

SPRiNG พาไปย้อนตำนานรู้จัก “พรรคประชาชน” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นได้อย่างไร หายไปอย่างไร ในวันที่ชื่อนี้ถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้งจนกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์

 

“พรรคประชาชน 2490”

พรรคประชาชน ถือกำเนิดครั้งแรกเมื่อปี 2490 โดยมี เลียง ไชยกาล สส. อุบลราชธานี ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าพรรค

ภายหลังการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เลียงและอรพินท์ ไชยกาล ภรรยาของเขา (ซึ่งต่อมาเป็น สส. หญิงคนแรกของไทยในปี พ.ศ. 2492) นำสมาชิกย้ายออกจากพรรคอันเนื่องมาจากความขัดแย้งกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 พรรคประชาชนคว้าเก้าอี้ สส. 12 ที่นั่ง รับบทฝ่ายค้านชนกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ขณะที่พรรคประชาชนกำลังเฉิดฉายนั้น เป็นสัจธรรมของการเมืองไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงมือทำรัฐประหารตนเอง

พรรคประชาชนจึงถูกยุบในปี พ.ศ. 2494 พร้อมกับอีกหลายพรรคการเมือง

ตำนาน เลียง ไชยกาล ผู้เขย่าเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

สำหรับ เลียง ไชยกาล ถือว่าเป็น สส. ระดับตำนานผู้มีฝีปากเผ็ดร้อนในสภาก็ว่าได้ เพราะ นายเลียงเป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นคือ พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

เรื่องการฉวยโอกาสซื้อที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ของพรรคคณะราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ. 2480 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกรณีร้อนทำให้ผู้มีอำนาจหลายคนต้องลาออกรวมไปถึงการยุบสภาของคณะรัฐบาลด้วย

ซึ่งเป็นการยุบสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในส่วนตัวนายเลียงเองก็ถูกจดหมายข่มขู่เอาชีวิต และถูกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลจับตัวโยนลงสระน้ำหลังอาคารรัฐสภา

เรียกได้ว่าเป็น สส. ผู้กล้าท้าชนกับผู้มีอำนาจ ณ ขณะนั้นก็ว่าได้

“พรรคประชาชน 2511”

ปี พ.ศ. 2511 ยุคจอมพล ถนอม กิตติขจร สืบทอดอำนาจจาก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ที่เฝ้ารอมานาน) ได้บังคับใช้ พร้อมกับการจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี การเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 เลียง ก็กลับมารื้อฟื้นพรรคประชาชนขึ้นมาอีกครั้ง ในครั้งนี้ พรรคประชาชนได้ สส. 2 ที่นั่งในสภา

แต่อนิจจาการเมืองไทย พรรคประชาชน ถูกยุบเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ตามคำสั่งคณะปฏิวัติที่มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 9 มีผลให้บรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่เป็นอันสิ้นสุดลง

“พรรคประชาชน 2531”

ภายหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม การเมืองไทยเริ่มเปิดให้ผู้เล่นมาจากพลเรือนได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่คณะทหารต่างๆ ต่างทำให้การเมืองบอบช้ำจากการรัฐประหารยึดอำนาจ เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคประชาชนก่อตั้งอีกครั้งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 โดยมีอดีตแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์คือ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นหัวหน้าพรรค และวีระ มุสิกพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค โดยทั้งคู่มีศักดิ์เป็นถึงอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 2 คน ก่อนจะกลายมาเป็นกบฏประชาธิปัตย์ในนาม “กลุ่ม 10 มกรา” นั่นเอง

ต่อมา “กลุ่ม 10 มกรา” จับมือกับ “กลุ่มวาดะห์” นำโดย เด่น โต๊ะมีนา และวันมูหะมัดนอร์ มะทา โหวตสวนร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศยุบสภา และจัดเลือกตั้งใหม่ในปี พ.ศ 2531

สมาชิกหลักของทั้งสองกลุ่มจึงลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในนามพรรคประชาชน ลงสู้ศึกเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 โดยได้ สส. รวมทั้งสิ้น 19 คน แม้การย้ายออกจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์อ่อนแอลง จากพรรคอันดับหนึ่ง 100 ที่นั่ง เหลือ 48 ที่นั่ง แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังพาตัวเองเข้าร่วมรัฐบาลได้สำเร็จ

พรรคประชาชน เฉิดฉายในการเมืองไทยอยู่ไม่ถึงปี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2532 ได้ประกาศยุบพรรคไปรวมกับพรรครวมไทยของณรงค์ วงศ์วรรณ พร้อมกับพรรคกิจประชาคมของบุญชู โรจนเสถียร และพรรคก้าวหน้าของอุทัย พิมพ์ใจชน พรรคลูกผสมสี่พรรคเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคเอกภาพ” โดยมีณรงค์ วงศ์วรรณ รับบทหัวหน้าพรรค และเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นเลขาธิการพรรค มี สส. รวมกันเป็น 61 ที่นั่ง และเข้าร่วมรัฐบาลชาติชาย 2 ในเวลาต่อมา

เป็นการปิดฉากที่แตกต่างจากครั้งอื่นๆ เพราะครั้งนี้เป็นการยุบรวมไม่ใช่การถูกทำให้ยุบพรรค

“พรรคประชาชน 2541”

พรรคประชาชนได้ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2541 โดยมี “นัดดา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” เป็นหัวหน้าพรรค และร้อยเอก สมชาย สุนสุข เป็นเลขาธิการพรรค แต่พรรคนี้ก็อยู่ได้ไม่นานแพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2544 มีอายุประมาณ 3 ปีเท่านั้น

“พรรคประชาชน 2567”

และแล้วพรรคประชาชนก็ถือกำเนิดอีกครั้งภายหลังการยุบพรรคก้าวไกล โดยมีการประกาศชื่อพรรคอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ขน สส. พรรคก้าวไกลร้อยกว่าชีวิตเข้ามาสังกัดพรรคประชาชน

โดยมี “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” เป็นหัวหน้าพรรค และ ศรายุทธิ์ ใจหลัก เป็นเลขาธิการพรรค โดยมีอักษรย่อว่า “ปชช.” ภาษาอังกฤษ คือ PEOPLE'S PARTY ประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"

ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่าพรรคประชาชนก่อตั้งแต่ละครั้งล้วนเป็นเวลาที่การเมืองกำลังร้อนแรง มีทั้งการต่อสู้กับผู้มีอำนาจ ต่อสู้กับคณะทหาร รวมถึงการขับเคี่ยวกันในรัฐสภา เช่นพรรคประชาชนยุคที่แยกออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์

ต้องมาดูกันต่อไปว่า “พรรคประชาชน” พ.ศ. 2567 จะต่อสู้เผ็ดร้อนแค่ไหน ในวันที่การเมืองไทยเริ่มขับเคี่ยวกันเรื่องอุดมการณ์อย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายก้าวหน้า

ในวันที่ยับพรรคก้าวไกล อะไรก็ไม่เหมือนเดิม ภาพชัดทางการเมืองเริ่มเห็นชัดมากขึ้น เราอาจได้เห็นการเมืองไทยกลายเป็นการเมืองแบบ 2 พรรคใหญ่เช่นสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็ว่าได้

ที่อาจทำให้คุณเชื่อว่า ประชาชนใหญ่กว่าพรรค และประชาชนเจ้าของอำนาจจะเป็นคนได้พิพากษาการเมืองไทยในอีกไม่ช้า

อ้างอิง

SilpaMag1 / SilpaMag2 / The101.world  /

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related