svasdssvasds

จับตา 5 เรื่องการเมืองเดือด "18 มิถุนายน"

จับตา 5 เรื่องการเมืองเดือด "18 มิถุนายน"

18 มิถุนายนนี้ คือ วันที่การเมืองเดือด โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองคือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ อัยการส่งฟ้องนายทักษิณ ต่อศาลในคดี ม.112 และการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีการเลือก สว. การพิจารณาต่อในคดียุบพรรคก้าวไกลและความเป็นนายกฯ ของนายเศรษฐา

SHORT CUT

  • ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติและแถลงคำวินิจฉัย กรณีการเลือก สว. ขัด รธน. มาตรา 107 และพิจารณาต่อคดียุบพรรคก้าวไกลและความเป็นนายกรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน
  • อัยการส่งฟ้องทักษิณ ชินวัตร ต่อศาลอาญา ในความผิดมาตรา 112 ลุ้นศาลให้ประกันตัว?
  • สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

18 มิถุนายนนี้ คือ วันที่การเมืองเดือด โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองคือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ อัยการส่งฟ้องนายทักษิณ ต่อศาลในคดี ม.112 และการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีการเลือก สว. การพิจารณาต่อในคดียุบพรรคก้าวไกลและความเป็นนายกฯ ของนายเศรษฐา

ถือเป็นช่วงเวลาที่หลายคนจับตามอง เพราะการตัดสินของศาลจะนำมาซึ่งแรงกระเพื่อมหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่?

อัยการสูงสุดส่งฟ้องทักษิณคดี ม.112

18 มิถุนายน 2567 อัยการสูงสุด (อสส.) นัดส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 112 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

หลังจาก อสส. มีคำสั่งฟ้อง แต่เลื่อนนัดส่งตัวฟ้องมาจากปลายเดือน พ.ค. เนื่องจากนายทักษิณอ้างว่าติดโควิด และก่อนหน้านี้เคยได้ยื่นของความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดไปเมื่อช่วงเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ระบุว่า ไม่มีการยื่นขอความเป็นธรรมเพิ่มเติมและพร้อมยืนยันว่านายทักษิณ จะเดินทางเข้ารายงานตัวต่ออัยการ โดยไม่เลื่อนหรือหนี้คดีตามที่มีข่าวลือ

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องจับตาคือศาลจะอนุญาตให้นายทักษิณ ประกันตัวหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา คดี ม.112 ในในศาลชั้นต้น ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว แต่ส่วนใหญ่จะได้รับการประกันตัวในชั้นอัยการ 

ศาล รธน. พิจารณาต่อยุบพรรคก้าวไกล?

กรณีคดียุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล กรณีหาเสียงด้วยการแก้ไข ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง 18 มิ.ย. นี้ พร้อมสั่ง กกต. ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานภายในวันที่ 17 มิ.ย. 2567 ทางด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลง 9 ข้อต่อสู้คดี ได้แก่

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ 

2.กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3.คำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.67 (ถูกร้องเสนอแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง)  ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้ 

4.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง  ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์

5.การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.2567 ไม่เป็นมติพรรค

6.โทษยุบพรรคต้องเป้นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น 

7.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 

8.จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมืองต้องได้ สัดส่วนกับความผิด  

9.การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา

โดยวันที่ 18 มิ.ย. นี้จะเป็นการพิจารณาต่อเท่านั้น ยังไม่ใช่การอ่านคำวินิจฉัยคดี แต่อาจจะได้เห็นแนวทางว่าศาลจะพิจารณาอย่างไร จะมีการยุบพรรคหรือไม่? จะตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคหรือเปล่า? หากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลต่อสมการการเมืองที่หลายพรรคอาจจะรอซื้อ สส. งูเห่าที่ต้องสังกัดพรรคใหม่ภายใน 60 วัน 

อย่างไรก็ตามทำให้คนตั้งคำถามถึงคดียุบพรรคภูมิใจไทย กรณีหุ้น หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ได้บริจาคเงินเข้าพรรค ยังไม่คืบหน้าเป็นการยื้อเวลา หรือ กกต. เลือกปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งเลาฯ กกต. ก็ยืนยันว่าไม่ได้ยื้อ แต่เป็นกระบวนการ เรื่องนี้มาในช่องของการยื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามมาตรา 93 ว่าด้วยกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง

ศาลชี้ชะตาเลือก สว. ขัด รธน.?

เวลา 9.30 น. วันที่ 18 มิถุนายน ศาลรัฐธรรมนูญยังนัดกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติเรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่ ตามที่มีผู้ร้องศาลปกครองเกี่ยวกับบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้สมัคร 4 มาตรา คือ

มาตรา 36 การแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด

มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 วิธีการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ที่กำหนดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่ม, ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ, ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัด ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 และไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้

ถ้าศาลวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญอาจเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การฟ้องร้องให้การ เลือก สว. ที่เกิดขึ้นเป็นโมฆะได้

ลุ้นนายกฯ หลุดเก้าอี้ หลัง 40 สว. ส่งหลักฐานเพิ่ม

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากรับคำร้องของ 40 สว. ให้พิจารณาความเป็นนายกรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 62 เนื่องจากแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แม้จะรู้ว่าขาดคุณสมบัติด้านจริยธรรม

โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาและมีคำสั่งให้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มภายในวันที่ 17 มิถุนายน และนำสู่การพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 18 มิถุนายน แม้จะยังไม่รู้ผลทันที แต่การพิจารณานี้ก็นำมาซึ่งสุญญากาศที่ทำให้ฝ่ายบริหารหลายคนหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะถ้านายกรัฐมนตรีพ้นตำแหน่ง ครม.ก็ต้องพ้นตามไปด้วย และจะมีการเลือกนายกฯ ใหม่ ซึ่งส่งผลต่อสมการการเมืองที่หลายฝ่ายจับตามอง นายอนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกฯ พรรคภูมิใจไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ อาจจะเขย่าสมการเพื่อขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็นได้

สภาพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ นับถอยหลังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

การประชุมสภาสมัยวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ วาระ 1 ที่เสนอเข้าสภาทั้งหมด 4 ร่างด้วยกัน ได้แก่ ร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอโดย ชูศักดิ์ ศิรินิล ร่างของพรรคก้าวไกลที่เสนอโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ และร่างของพรรคภูมิใจไทยที่เสนอโดย อนุทิน ชาญวีรกูล

โดยร่างของรัฐบาลกำหนดว่าจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่

  • การทำประชามติครั้งที่ 1 ว่าเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ โดยมีคำถามประชามติว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
  • การทำประชามติครั้งที่ 2 เป็นการทำประชามติในขั้นตอนการร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติม ม. 256) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่
  • การทำประชามติครั้งที่ 3 เป็นการทำประชามติเมื่อร่าง รธน. ฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่าง รธน. ฉบับใหม่
related