เช็กตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำรอบ 20 ปี จากทักษิณถึง เศรษฐา ยุติธรรมแค่ไหน ? แฟร์หรือเปล่า เพราะประเด็นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ถูกหยิบยก กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง เพราะตั้งแต่วันปีใหม่ 1 ม.ค. 2567 มีการปรับแล้ว
ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง เพราะตั้งแต่วันปีใหม่ 1 ม.ค. 2567 ก็มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น โดยรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน โดย ณ เวลานี้ เมื่อเข้าสู่ปี 2567 แล้ว โดยจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุด วันละ 370 บาท คือภูเก็ต และจังหวัดที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุด วันละ 330 คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งมีความแตกต่างกัน 40 บาท
เรื่องแบบนี้ มันยุติธรรมแล้วหรือไม่...มันแฟร์กับทั้งผู้ประกอบการกับ คนใช้แรงงาน อาบเหงื่อต่างน้ำ แลกข้าว หรือไม่ คำตอบของเรื่องนี้ มันคงยังอยู่กับสายลม
- ไทยมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งหมด 50 ครั้ง แบ่งเป็นการขึ้นเป็นรายจังหวัด 21 ครั้ง และการขึ้นทุกจังหวัด 29 ครั้ง
- รัฐบาลที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบทุกจังหวัดพร้อมกันทั้งประเทศมากครั้งที่สุดคือ รัฐบาลชวน หลีกภัย 1 เป็นจำนวน 4 ครั้ง ในปี 2536, 2537 สองครั้ง และปี 2538
- รัฐบาลที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายจังหวัดมากที่สุดคือรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 1 มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำแบบรายจังหวัดมากถึง 6 ครั้ง ในปี 2548 ปี 2545 สองครั้ง ปี 2546 สองครั้ง และปี 2547 นอกจากนี้ยังมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศอีก 2 ครั้ง
- การกำหนดค่าแรงทุกจังหวัดทั้งประเทศในปี 2517 ค่าแรงในจังหวัดที่ต่ำสุดและสูงสุดต่างกัน 4 บาท ส่วนการขึ้นค่าแรงทุกจังหวัดพร้อมกันทั้งประเทศครั้งแรกในสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ค่าแรงสูงสุดคือ 28 บาท และต่ำที่สุดคือ 19 บาท ต่างกัน 9 บาท ในขณะที่การขึ้นค่าแรงครั้งแรกในยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น สูงสุด 300 บาท ต่ำสุด 222 บาท โดยห่างกันมากที่สุดถึง 78 บาท
ไทยมีการนำแนวคิดเรื่อง ค่าแรงขั้นต่ำ มาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 หรือในยุค 1970s ในช่วงที่สงครามเย็นกำลังร้อนแรง ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร
โดยประกาศครั้งแรกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2516 บังคับใช้ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรีและปทุมธานีก่อน เนื่องจากเป็นเขตอุตสาหกรรมในขณะนั้น ล่าสุด ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ทำให้ประเทศไทยมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งหมด 50 ครั้ง แบ่งเป็นการขึ้นเป็นรายจังหวัด 21 ครั้ง และการขึ้นทุกจังหวัด 29 ครั้ง
ขณะที่จุดประสงค์ตั้งต้นของการนำแนวคิดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมาใช้คือเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง ให้ลูกจ้างสามารถดำรงชีพอยู่เหนือความยากจนได้ แต่ทุกครั้งที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็มักจะเจอแรงต้านทานจากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจว่าการขึ้นราคาค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ต้นทุนราคาสินค้าสูงขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อ ต่างประเทศจะไม่มาลงทุน หรืออาจย้ายฐานการผลิตหนีไปที่อื่น
เมื่อสำรวจประวัติศาสตร์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในไทยว่าในแต่ละครั้งที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขึ้นช่วงไหน ขึ้นแค่ไหน มีปัจจัยอะไรบ้าง ทำไมบางจังหวัดสูง บางจังหวัดต่ำ ทำไมขึ้นไม่เท่ากัน และค่าแรงขั้นต่ำของไทยในปัจจุบันนี้ยุติธรรมแล้วหรือไม่
ไทยมีการประกาศใช้ ค่าแรงขั้นต่ำ ครั้งแรกในปี 2516 ในรัฐบาลถนอม กิตติขจร โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเพียง 4 จังหวัดคือกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรีและปทุมธานีก่อน เป็นวันละ 12 บาท ต่อมาในปี 2517 จึงมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในทุกจังหวัด โดยจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุด มีค่าแรงขั้นต่ำวันละ 20 บาท ส่วนจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำต่ำที่สุด มีค่าแรงขั้นต่ำวันละ 16 บาท จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งหมด 50 ครั้ง แบ่งเป็นการขึ้นเป็นรายจังหวัด 21 ครั้ง และการขึ้นทุกจังหวัด 29 ครั้ง
การขึ้นค่าแรงทุกจังหวัดพร้อมกันครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2520 โดยกลุ่มจังหวัดที่ได้ค่าแรงสูงสุดคือ 28 บาท ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรสาคร และนครปฐม และต่ำที่สุดคือ 19 บาท ในจังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งความต่างของจังหวัดที่ได้ค่าแรงสูงสุดและต่ำที่สุดยังต่างกันที่ 9 บาท ทั้งนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาในการประกาศเรื่องค่าจ้างซึ่งแต่เดิมเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคมทุกปี มาเป็น 1 มกราคมหรือ 1 เมษายนแทน
รัฐบาลที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบทุกจังหวัดพร้อมกันทั้งประเทศมากครั้งที่สุดคือ รัฐบาลชวน หลีกภัย 1 เป็นจำนวน 4 ครั้ง ในปี 2536, 2537 (เดือนเมษายน และตุลาคม) และปี 2538 ส่วนในรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ แม้จะเห็นว่ามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นจำนวน 4 ครั้ง เหมือนกัน ในปี 2523, 2526, 2528 และ 2530 แต่เป็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 4 ครั้งจากการเป็นรัฐบาล 3 สมัย เช่นเดียวกับยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการขึ้นค่าแรงทั้งหมด 4 ครั้ง ก็มาจากการเป็นรัฐบาล 2 สมัย
ในขณะที่หากเป็นการขึ้นรายจังหวัดนั้น พบว่าในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 1 มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำแบบรายจังหวัดมากถึง 6 ครั้ง ในปี 2548 ปี 2545 สองครั้ง ปี 2546 สองครั้ง และปี 2547 และยังมีการขึ้นทุกจังหวัดทั้งประเทศอีก 2 ครั้ง คือ เดือนมกราคม 2548 และสิงหาคม 2548 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 1 จึงถือเป็นรัฐบาลที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจำนวนครั้งมากที่สุด
โดยในช่วง 20 ปีหลังมานี้ มีการปรับขึ้่นค่าแรงขั้นต่ำ ดังนี้
ในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร
วันที่ 1 ม.ค. 48 ค่าแรงรายจังหวัดที่มีการปรับขึ้นสูงสุด 175 ค่าแรงรายจังหวัดต่ำสุด 137
วันที่ 1 ส.ค. 48 ค่าแรงรายจังหวัดที่มีการปรับขึ้นสูงสุด 181 ค่าแรงรายจังหวัดต่ำสุด 139
ในยุคพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
1 ม.ค. 50 ค่าแรงรายจังหวัดที่มีการปรับขึ้นสูงสุด 191 ค่าแรงรายจังหวัดต่ำสุด 143
ในยุค สมัคร สุนทรเวช
1 มิ.ย. 51 ค่าแรงรายจังหวัดที่มีการปรับขึ้นสูงสุด 203 ค่าแรงรายจังหวัดต่ำสุด 148
ในยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
1 ม.ค. 54 ค่าแรงรายจังหวัดที่มีการปรับขึ้นสูงสุด 221 ค่าแรงรายจังหวัดต่ำสุด 159
ในยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
1 เม.ย. 55 ค่าแรงรายจังหวัดที่มีการปรับขึ้นสูงสุด 300 ค่าแรงรายจังหวัดต่ำสุด 222
1 ม.ค. 56 ค่าแรงรายจังหวัดที่มีการปรับขึ้นสูงสุด 300 ค่าแรงรายจังหวัดต่ำสุด 300
ใน ยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
1 ม.ค. 60 ค่าแรงรายจังหวัดที่มีการปรับขึ้นสูงสุด 310 ค่าแรงรายจังหวัดต่ำสุด 300
1 เม.ย. 62 ค่าแรงรายจังหวัดที่มีการปรับขึ้นสูงสุด 330 ค่าแรงรายจังหวัดต่ำสุด 308
1 ม.ค. 63 ค่าแรงรายจังหวัดที่มีการปรับขึ้นสูงสุด 336 ค่าแรงรายจังหวัดต่ำสุด 313
1 ต.ค. 65 ค่าแรงรายจังหวัดที่มีการปรับขึ้นสูงสุด 354 ค่าแรงรายจังหวัดต่ำสุด 328
ในยุคเศรษฐา ทวีสิน
1 ม.ค. 67 ค่าแรงรายจังหวัดที่มีการปรับขึ้นสูงสุด 370 ค่าแรงรายจังหวัดต่ำสุด 330
แล้วการให้ค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัดดีหรือไม่ ?
คำถามที่น่าสนใจก็คือ ค่าแรงขั้นต่อในประเทศไทยควรจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่หรือควรจะเท่ากัน และสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้สะท้อนให้เห็นอะไร ซึ่งในประเด็นนี้ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยมีปัญหาทำให้เกิดการขึ้นค่าแรงที่ ‘ไม่เป็นธรรม’
เนื่องจากใช้สูตรคำนวณที่ผิดมาตั้งแต่ปี 2560 ด้วยตัวคูณความถ่วง 0.32 และในปีนี้ยังมีการใช้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 ปี แทนที่จะเป็นปีต่อปี ซึ่งทำให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่ำกว่าที่ควรจะเป็นและไม่ยุติธรรมต่อแรงงาน
แม้จะมีการกล่าวอ้างจากผู้ประกอบธุรกิจว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่จากข้อมูลกลับพบว่า ในแต่ละปีที่การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสูงขึ้น แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ไม่ได้สูงขึ้นตามการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเลย
และทุกครั้ง ที่มีข่าวจะปรับขึ้นค่าแรง "ปรับค่าแรงขั้นต่ำ" ก็มักมีเสียงค้านจากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจว่าการขึ้นราคาค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ต้นทุนราคาสินค้าสูงขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อ ต่างประเทศจะไม่มาลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตหนีไปที่อื่น เนื่องจากผู้ประกอบการมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มค่าแรง ไปจนถึงการอ้างถึงสภาวะทางเศรษฐกิจที่ซบเซาหรือเติบโตช้าทำให้ธุรกิจรายได้หดตัวและขาดสภาพคล่อง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจและทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหาย
แต่จากข้อมูล เมื่อนำค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว หรือ GDP Per Capita จะพบว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นนั้นไม่เคยอยู่เหนือ GDP ต่อหัวเลย ยกตัวอย่างปี 2533 ในยุคของรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศต่อวันจะอยู่ที่ 76.08 บาทต่อวัน แม้จะมีวิกฤตการณ์อ่าวเปอร์เซียที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ทว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวของประชากรอยู่ที่ 125 บาทต่อวัน นั่นหมายความประชากรหนึ่งคนในประเทศ สามารถสร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจของประเทศได้มากกว่าเฉลี่ยค่าจ้างขั้นต่ำเสียอีก
แต่ ณ ตอนนี้ ในเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำของไทย ยังมีความไม่เป็นธรรม ... และเมื่อ ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นไหนๆก็ตาม
ที่มา rocketmedialab.co
ข่าวที่เกี่ยวข้อง