svasdssvasds

นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล ใครได้ประโยชน์บ้าง

นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล ใครได้ประโยชน์บ้าง

นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน กลุ่มพันธมิตร นปช. กปปส. และ คณะราษฎร ได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า แต่ผ่านสภายากเพราะติด ม.112

ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อ สำหรับ พ.ร.บ นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล ที่โอกาสผ่านยังคงริบหรี่

ก่อนหน้านี้ ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่าเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกลหรือไม่ผ่านเว็บไซต์ของสภา ในระหว่างวันที่ 9 พ.ย. 2566 - 9 ธ.ค. 2566 (1 เดือนเต็ม) ซึ่งผลปรากฏว่า มีประชาชนเห็นด้วยเพียง 28.39% เท่านั้น ส่วนอีก 71.32% ไม่เห็นด้วย

นั่นจึงแปลว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกลไม่ผ่านประชาพิจารณ์ แต่ทางพรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู้สภาต่อไป

ในส่วนของรายละเอียดของ พ.ร.บ ดังกล่าว พรรคก้าวไกลได้นิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่ทำผิดในคดีการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่แสดงออกทางกายภาพ หรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ในช่วงตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 2549 จนถึงวันที่ พ.ร.บ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้

ถ้าดูตามระยะเวลาที่กฎหมายครอบคลุม กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ มีดังต่อไปนี้

  1. กลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมระหว่างปี 2549-2551
  2. กลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมระหว่างปี 2552-2553
  3. กลุ่ม กปปส. ชุมนุมระหว่างปี 2556-2557
  4. กลุ่มเยาวชน นักศึกษา ประชาชนที่ต่อต้าน คสช. ชุมนุมระหว่างปี 2557-2562
  5. คณะราษฎร ชุมนุมระหว่างปี 2563-2564

ยื่นกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภา ก้าวแรกสร้างความยุติธรรม หาฉันทามติใหม่ของสังคม พรรคก้าวไกล - Move Forward Party

อย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล จะไม่มีผลรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้อำนาจภายใต้บังคับบัญชาของขณะผู้ก่อการ และเกณฑ์การพิจารณาผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม ต้องกระทำโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับนิรโทษกรรม มีสิทธิ์ที่จะเลือกไม่รับการนิรโทษกรรมก็ได้ และคณะกรรมการสามารถพิจารณาขยายการคืนความยุติธรรมไปก่อนหน้าปี 57 และกำหนดเกณฑ์สำหรับการกลั่นกรองคดีดังกล่าวได้ เพื่อสะสางความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมก่อนหน้าปี 57 เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้โดยไม่ละเลยการคืนความยุติธรรมในอดีต

ในส่วนที่ระยะเวลานิรโทษกรรมดังกล่าวครอบคลุมทุกกลุ่ม เพราะทางพรรคก้าวไกลต้องการยุติความขัดแย้งที่ฝังรากอยู่ในการเมืองไทย แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นปัญหา และกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆ ฝ่ายคือ การนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำผิดในคดี 112 ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องตัวเอง ทั้ง ‘ในสภา’ และ ‘นอกสภา’ อยู่หรือไม่

ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะพรรคก้าวไกล มีสมาชิก ที่มีความผิดใน คดี 112 อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจต้องพ้นสภาพจาก สส. ได้ หากศาลตัดสินให้มีความผิด นอกจากนี้ยังมีบรรดาแกนนำที่เป็นเยาวชน นักศึกษา และประชาชน อีกหลายสิบคน ซึ่งล้วนเป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่มีคดี 112 ติดตัวอยู่ด้วย ซึ่งถ้ากฎหมายนิรโทษกรรมฉบับก้าวไกลมีผลบังคับใช้ พวกเขาจะได้รับประโยชน์ไปด้วย

สส. ก้าวไกลที่โดนคดี 112

  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล – คดีพรรคก้าวไกลหาเสียงด้วยการจะแก้ไขมาตรา 112
  • ปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม.เขต 11 - คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 และ ข้อหาตาม พรบ คอมพิวเตอร์ฯ
  • ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี เขต 3 - กรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 โพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ในกิจกรรม #ราษฎรสาส์
  • รักชนก ศรีนอก สส.กทม.เขต 28 – กรณีทวิตและรีทวิตข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทสถาบันฯ 

แกนนำม็อบ 3 นิ้ว ที่โดน 112

  • อานนท์ นำภา
  • พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิ้น)
  • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง)
  • ภาณุพงศ์ จาดนอก
  • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
  • ทานตะวัน ตัวตุลานนท์
  • ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ ปิยบุตร แสงกนกกุล และคนอื่นๆ ในสมัยพรรคอนาคตใหม่อีกมาก ที่อาจได้รับ อานิสงส์ ด้วย แต่ยังอย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคนว่าจะรับนิรโทษกรรมฉบับนี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็ออกมาแสดงความกังวลว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล อาจจุดความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ ดังที่เคยเกิดขึ้นในสมัย รัฐบาลของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ใน ปี 2556 ที่ออก พ.ร.บ นิรโทษกรรม ที่รู้จักกันในชื่อ “นิรโทษกรรมสุดซอย” ซึ่งมุ่งล้างความผิดให้กับพี่ชาย “ทักษิณ ชินวัตร” จนออกหน้าออกตา ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด

ดังนั้นในรอบนี้ พรรคก้าวไกลจะยุติความขัดแย้ง หรือจุดกระแสความแตกแยกครั้งใหม่ให้เกิดขึ้น คงต้องติดตามกันต่อไป.

 

ที่มา : นิรโทษกรรมคดีการเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

 

 

 

related