svasdssvasds

ส่องยื่นกฎหมายสิ่งแวดล้อม 4 ฉบับ ของพรรคก้าวไกล ย้ำแก้ปัญหาทั้งโครงสร้าง

ส่องยื่นกฎหมายสิ่งแวดล้อม 4 ฉบับ ของพรรคก้าวไกล ย้ำแก้ปัญหาทั้งโครงสร้าง

ปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่าง ปัญหาขยะ ฝุ่นพิษ PM2.5 และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบกับมนุษย์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สส. พรรคก้าวไกล นำโดย พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ และภัทร พงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ ยื่นกฎหมายสิ่งแวดล้อมต่อสภา 4 ฉบับ ประกอบด้วย

(1) ร่าง พ.ร.บ.การจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร

(2) ร่าง พ.ร.บ. การรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR)

(3) ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

(4) ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน

ส่องยื่นกฎหมายสิ่งแวดล้อม 4 ฉบับ ของพรรคก้าวไกล ย้ำแก้ปัญหาทั้งโครงสร้าง

พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยทั้ง 4 ฉบับ เป็นชุดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมชุดแรกที่จะนำเสนอเข้าสู่สภา ตามนโยบายที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงกับประชาชน แต่ละร่างมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

ส่องยื่นกฎหมายสิ่งแวดล้อม 4 ฉบับ ของพรรคก้าวไกล ย้ำแก้ปัญหาทั้งโครงสร้าง

ร่าง พ.ร.บ.การจัดการขยะฯ เอาจริงแก้ปัญหาขยะอุตสาหกรรม 

ร่าง พ.ร.บ.การจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร เป็นการบูรณาการด้านการบริหารจัดการขยะทุกประเภท จากเดิมเป็นการบริหารโดยยึดติดกับภารกิจ แบ่งแยกตามหน่วยงาน เช่น ขยะที่เกิดขึ้นจากโรงงาน จะถูกกำหนดว่าเป็นขยะอุตสาหกรรม แม้ว่าขยะนั้นจะมีลักษณะหรือมีองค์ประกอบที่เหมือนกับขยะชุมชน

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะมีการจำแนกประเภทของขยะตามลักษณะ แบ่งเป็น ขยะอันตราย ขยะไม่อันตราย และขยะติดเชื้อ ที่สำคัญนี่จะเป็นร่าง พ.ร.บ. ฉบับแรกของประเทศที่นำหลักการ “ลำดับขั้นการจัดการขยะ” (Waste Hierarchy) มาใช้ แบ่งเป็น  5 ลำดับ คือ

(1) การลดการเกิดขยะ หรือ Reduce เป็นสิ่งที่เราต้องการทำมากที่สุด

(2) การใช้ซ้ำ หรือ Reuse

(3) การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ Recycle

(4) การนำขยะนั้นมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิง (Waste to Energy)

(5) การกำจัด หรือ Disposal เช่น การฝังกลบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

การนำหลักการเหล่านี้มาใช้ จะทำให้เราสามารถควบคุมการบริหารจัดการขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง โดยต้นทางเรากำหนดให้ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำขยะมาคัดแยก เช่น แบ่งเป็น กระดาษ แก้ว พลาสติก และเศษอาหาร เสร็จแล้วจะมีการควบคุมที่การเก็บรวบรวม โดยจะกำหนดอัตราการเก็บรวบรวมที่ 100% หมายถึงขยะจากบ้านเรือนที่เกิดขึ้นทุกประเภทต้องได้รับการเก็บขนทั้งหมด ไม่ปล่อยทิ้ง

ต่อมาการขนส่งจะควบคุมโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการทวนสอบและควบคุมเพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบทิ้ง และสุดท้ายคือการบำบัดและกำจัดที่ปลายทาง จะกำหนดให้เป็นมาตรฐานจากเดิมมีเพียงแนวทางในการปฎิบัติเท่านั้น

ส่องยื่นกฎหมายสิ่งแวดล้อม 4 ฉบับ ของพรรคก้าวไกล ย้ำแก้ปัญหาทั้งโครงสร้าง "อีกส่วนที่สำคัญคือการสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากร โดยเราจะนำหลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) จากเดิมผู้ผลิตทำหน้าที่เพียงผลิต จำหน่าย ได้กำไร แต่หลักการนี้จะขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตให้เพิ่มการจัดการซากผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้วย เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อผู้บริโภคซื้อจากห้างร้านต่างๆ แล้ว ต้องนำสิ่งนี้กลับคืนไปที่ผู้ผลิต โดยผู้ผลิตกำหนดจุดรับคืน กว่าสิบปีที่ผ่านมามีความพยายามจะออก พ.ร.บ. ออกมาควบคุมเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สำเร็จ" สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าว

ในร่างของพรรคก้าวไกลจึงดำเนินการแก้ไขด้วยการระบุว่าการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ สามารถออกเป็นกฎกระทรวงทดแทนได้ ระยะเวลาเป้าหมายในการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะอื่นๆ อยู่ที่ 3 ปี โดยให้ อปท. จัดการคัดแยก รวมถึงกำหนดให้ผู้ผลิตรวมกลุ่มกันเรียกคืนซากของตัวเอง และทบทวนเป้าหมาย เช่น อัตราการรีไซเคิล โดยกำหนดช่วงเวลาในการทบทวนส่วนการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน เช่น การปนเปื้อนลงสู่ดิน ลงสู่แหล่งน้ำ ผลกระทบเรื่องกลิ่น และยังเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทันที ไม่ต้องให้ประชาชนใช้เวลาเป็น 10 ปีเพื่อดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเอง ซึ่งจนถึงปัจจุบันหลายกรณีก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา

ส่องยื่นกฎหมายสิ่งแวดล้อม 4 ฉบับ ของพรรคก้าวไกล ย้ำแก้ปัญหาทั้งโครงสร้าง

ร่าง PRTR กำหนดปล่อย-เคลื่อนย้ายสารมลพิษ ต้องทำรายงานเปิดเผยต่อสาธารณะ

การปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม มีเนื้อหากำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เช่น ปริมาณสารเคมีหรือมลพิษที่เกิดขึ้น หรือหากต้องนำสารเคมีหรือของเสียไปบำบัดกำจัดภายนอกโรงงานหรือนอกโครงการ ก็ต้องทำรายงานด้วยเช่นกัน และเปิดเผยต่อสาธารณะ

ข้อดีของกฎหมายนี้ คือจะช่วยในการปกป้องและรับรองสิทธิ์ของชุมชนและประชาชนในการเข้าถึงและรับรู้ ตรวจสอบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสารเคมีอันตราย ขณะเดียวกันประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงว่าควรอยู่อาศัยหรือสร้างบ้านเรือนใกล้เคียงกับพื้นที่อันตรายเหล่านั้นหรือไม่ ขณะเดียวกัน รัฐสามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น เช่น กรณีอุบัติภัยโรงงานหมิงตี้ที่ผ่านมา

ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำกัดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

เนื่องจากตั้งแต่โลกของเรามีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เกิดการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน แต่กระทบถึงสิ่งแวดล้อมรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ส่งผลต่อความสมดุลระหว่างพืชและอาหาร และสุขภาพของมนุษย์ในท้ายที่สุด

ร่างกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมและบรรเทาผลกระทบ ด้วยการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และมีมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากำกับและสนับสนุนอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังเน้นการเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และการมีร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเตรียมความพร้อมรับมืออย่างเป็นระบบ ครอบคลุม และทันการณ์มากขึ้น

ร่าง พ.ร.บ. ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน กำหนดโทษผู้ประกอบการที่ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ

ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน สาเหตุของการเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ มาจากหลายแหล่ง เช่น แหล่งเกษตรกรรม จากการเผาในที่โล่ง ไฟป่าที่ไม่มีการควบคุม จากภาคพลังงาน เช่น การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถ่านหิน จากภาคขนส่ง เช่นการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ รวมถึงการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

แต่อีกแหล่งหนึ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งเราเห็นจากภาพถ่ายทางดาวเทียม คือร่องรอยการเผาไหม้จากประเทศเพื่อนบ้านที่ก่อให้เกิดมลพิษข้ามพรมแดน สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบทางเดินหายใจของประชาชน ทั้งที่ประชาชนควรมีสิทธิ์ได้รับอากาศบริสุทธิ์ เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน พรรคก้าวไกลจึงเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมฝุ่นพิษ

สรุปที่มาของการเสนอร่าง พ.ร.บ. ฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่แค่ฝุ่นธรรมดา แต่เป็นฝุ่นที่ทำลายสุขภาพและทำลายเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องกำหนดเป็นฝุ่นพิษ โดยพรรคก้าวไกลเห็นว่าการแก้ไขปัญหา ต้องแก้ทั้งโครงสร้าง ส่วนสำคัญที่สุดของโครงสร้างคือชั้นฐานราก ซึ่งก็คือกฎหมาย ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้อย่างยั่งยืน

ร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่เสนอโดยกลุ่มอื่นๆ จะพูดถึงสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดของประชาชน พูดถึงการคุ้มครองประชาชนในการฟ้องร้องผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศทั้งจากในและต่างประเทศ แต่ประเด็นที่ร่างของพรรคก้าวไกลแตกต่างออกไป คือจะให้ผู้ประกอบการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่ต้นสายถึงปลายสาย

เช่น กรณีข้าวโพดอาหารสัตว์ ถ้าจะนำเข้าต้องมีรายงานระบุชัดเจนว่ามาจากแหล่งใด และแหล่งดังกล่าวมีวิธีกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรอย่างไร ขนส่งด้วยวิธีใด และสุดท้ายการผลิตสินค้าในโรงงานมีการปล่อยมลพิษทางอากาศอย่างไรบ้าง   

สส.เชียงใหม่กล่าวต่อว่า บางคนอาจมีคำถาม ว่าหากมีการทำรายงานเท็จ หรือมีปัจจัยในต่างประเทศที่เราควบคุมไม่ได้ จะทำอย่างไร จึงเป็นที่มาของระบบการติดตามย้อนกลับโดยภาพถ่ายทางดาวเทียมที่ระบุในร่างกฎหมายนี้ เพื่อพิสูจน์ว่ารายงานที่ผู้ประกอบการทำนั้น ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และโทษบังคับใช้ต้องชัดเจน ผู้ใดที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในประเทศไทย ไม่ว่าจากในหรือต่างประเทศ ต้องมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ที่สำคัญ พรรคก้าวไกลยังมองว่าการลงโทษทางสังคมก็ต้องมีเช่นกัน เราต้องมีการเปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบการที่เป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษทั้งในและต่างประเทศ ให้สังคมได้ตัดสินว่าจะสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ต่อไปหรือไม่

ภัทรพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้สิ่งที่เราจะลืมไม่ได้เลยคือการแจ้งเตือน ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ที่เกิดฝุ่นพิษ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เคยได้รับการแจ้งเตือนจากภาครัฐสักครั้งหรือไม่ การแจ้งเตือนจะระบุให้ชัดเจนในร่าง พ.ร.บ. นี้ ว่าหากมีค่า PM2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐาน มากกว่า 24 ชั่วโมง ต้องมีการแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน

“ถ้า 10 ปีที่แล้วเรามีการแจ้งเตือน จะมีประชาชนกี่คนที่ตระหนักและตื่นรู้ถึงภัย PM2.5 และจะมีอีกกี่คนที่ไม่ต้องเป็นมะเร็งปอดด้วยสาเหตุที่ว่าไม่รู้จัก PM2.5 นี่คือความสำคัญของการแจ้งเตือน” 

 

เนื้อหาที่น่าสนใจ :