เปิดเหตุผล ทำไม #ไอซ์รักชนก ศรีนอก สส. ก้าวไกล จะพ้นตำแหน่งสส.ทันที ถ้าหากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์ภายในวันนี้ จากการที่เธอโดนโทษ จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา จากคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ
จากกรณีที่ ไอซ์ รักชนก ศรีนอก สส. ก้าวไกล จากกรุงเทพฯ โดนศาลพิพากษา จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา จากคดี ม.112 และพ.ร.บ.คอมฯ ทำให้หลายๆคน มีคำถามขึ้นในใจว่า เธอจะพ้นสภาพจากเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ทำให้ iLaw เปิดกางรัฐธรรมนูญ พลิกดูข้อบังคับต่างๆ และหากสมมุติ ไอซ์ รักชนก จะพ้นตำแหน่งสส.ทันที หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์ภายในวันนี้ (วันที่ 13 ธ.ค. 2566)
1.ถูกพิพากษาจำคุกโดย คดียังไม่ถึงที่สุด - ได้ประกันตัวทันที ผลลัพธ์ ไม่พ้นตำแหน่ง
2. ถูกพิพากษาจำคุก โดยคดียังไม่ถึงที่สุด - ไม่ได้ประกันตัว เข้าคุกจริง ผลลัพธ์ พ้นตำแหน่ง
3. ศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สุดให้จำคุก โดยไม่รอการลงโทษ ผลลัพธ์ พ้นตำแหน่ง
4. พิพากษาเป็นที่สุดในจำคุก แต่ให้รอการลงโทษจำคุก (ยกเว้น เป็นการกระทำโดยประมาท เป็นความผิดลหุโทษ หรือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท) ผลลัพธ์ พ้นตำแหน่ง
1.ถูกดำเนินคดี แต่คดียังไม่ถึงที่สุด ได้ประกันตัว ผลลัพธ์ สมัครรับเลือกตั้งได้
2. ถูกพิพากษาจำคุก และถูกคุมขังด้วยหมายศาล ผลลัพธ์ หมดสิทธิ์ลงเลือกตั้ง
3. ถูกพิพากษาจำคุกแล้ว พ้นโทษไม่ถึง 10 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง (ยกเว้นถูกจำคุกเพราะการกระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ) ผลลัพธ์ หมดสิทธิ์ลงเลือกตั้ง
โดย iLaw ระบุว่า ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการพ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 หมวดที่ 7 รัฐสภา โดยลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งจะอยู่ในมาตรา 98 ส่วนเงื่อนไขให้พ้นตำแหน่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถูกดำเนินคดีปรากฎอยู่มาตรา 101
มาตรา 98 (6) กำหนดห้ามคนที่ต้องคำพิพากษาจำคุกและถูกขังโดยหมายศาลลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วน (7) กำหนดห้ามผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกแล้วพ้นโทษยังไม่ถึงสิบปีนับจากวันพ้นโทษถึงวันเลือกตั้งลงสมัครรับเลือกตั้ง ยกเว้นแต่ถูกพิพากษาจำคุกจากความผิดที่ทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ระยะเวลาต้องห้ามสิบปีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ขยายจากระยะเวลาต้องห้าม 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550
มาตรา 98 (9) (10) และ (11) ยังกำหนดห้ามผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาในความผิดบางประเภทลงสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีการกำหนดระยะเวลานับจากวันพ้นโทษไว้ด้วยซึ่งหมายความว่าคนที่ถูกดำเนินคดีเหล่านั้นจะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเลยตลอดชีวิต (9) กำหนดลักษณะต้องห้ามผู้ที่เคยถูกพิพากษาเป็นที่สุดให้ยึดทรัพย์และผู้ที่เคยถูกพิพากษาจำคุกในกฎหมายป้องกันการทุจริต (10) กำหนดห้ามผู้ที่เคยถูกตัดสินว่าทำความผิดเกี่ยวกับหน้าที่ราชการ หรือความผิดบางประเภท เช่น ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการฉ้อโกง กฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพพย์ติด (เฉพาะผู้ผลิต นำเข้า และจำหน่าย) และความผิดตามกฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ เป็นต้น
ความผิดที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมือง รวมทั้งมาตรา 112 ไม่ได้ถูกกำหนดเป็นลักษณะต้องห้าม "ตลอดชีวิต" คนที่ต้องโทษจำคุกในคดีประเภทนี้จะเข้าลักษณะต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งในระยะเวลาสิบปี นับจากวันพ้นโทษถึงวันเลือกตั้งเท่านั้น
ในการเลือกตั้งปี 2566 นักการเมืองอย่างณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งเคยถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือนจากกรณีชุมนุมหน้าบ้านพล.อ.เปรมในปี 2550 และเพิ่งครบกำหนดโทษจำคุกในวันที่ 29 มีนาคม 2564 ก็ยังติดเงื่อนไขไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ จึงช่วยพรรคเพื่อไทยหาเสียงเท่านั้น แต่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 2566 เอง
สำหรับคนที่มีคดีติดตัวแต่ขณะเข้าสู่ตำแหน่ง สส.ศาลยังไม่มีคำพิพากษาออกมา ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ไปได้ตามปกติจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจึงจะต้องพิจารณาว่า คำพิพากษาที่ออกมาทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งพ้นจะตำแหน่งเพราะเข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งหรือไม่ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 101 กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคดีความที่จะส่งผลให้บุคคลพ้นสมาชิกภาพส.ส.ไว้ใน (6) คือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 และ (13) คือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้ศาลจะให้รอลงอาญาโทษจำคุก ยกเว้นคดีที่เป็นการกระทำโดยประมาท เป็นความผิดลหุโทษ หรือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
ในทางปฏิบัติแล้ว เมื่อผู้ดำรงตำแหน่ง สส. ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกระหว่างดำรงตำแหน่ง หากคำพิพากษาที่ออกมายังไม่ถึงที่สุดและตัว ส.ส. ได้รับการประกันตัวในวันที่ศาลมีคำพิพากษาเพื่อจะยื่นอุทธรณ์คดีต่อ ก็จะไม่พ้นจากตำแหน่งเพราะถือว่ายังไม่ถูกออกหมายขังตามมาตรา 98(6) และคดียังไม่ถึงที่สุดตามมาตรา 101(13) แต่หากคำพิพากษาที่ออกมาเป็นที่สุดให้ลงโทษจำคุก ไม่ว่าศาลจะรอการลงโทษจำคุกให้หรือไม่ ตัวผู้ถูกดำเนินคดีก็จะพ้นจากตำแหน่งเพราะเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 101 (13) หรือหากตัวส.ส.ถูกพิพากษาจำคุกและไม่ได้รับการประกันตัว คือ ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ "แม้เพียงวันเดียว" ก็จะพ้นจากตำแหน่งเพราะถือว่าเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 98 (6) แล้ว
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่อยู่ในสมัยประชุม สส.ก็จะมีเอกสิทธิ์คุ้มครองจากกระบวนการทางคดีอาญาบางประการเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างราบรื่นและเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งฟ้องคดีจนกระทบกับเสียงลงคะแนนในสภา โดยมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ห้ามจับกุม คุมขัง หรือออกหมายเรียกทั้งส.ส.และส.ว. ไปสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่บุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิก ในกรณีที่ตัวสมาชิกสภาถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุมพนักงานสอบสวนหรือศาลจะต้องปล่อยตัวสมาชิกสภาที่ถูกคุมขังทันทีที่ประธานสภาที่ผู้ถูกจับเป็นสมาชิกร้องขอ นอกจากนั้นในกรณีที่มีการฟ้องร้องคดีต่อสมาชิกรัฐสภา ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดขวางการประชุมสภาของตัวสมาชิกผู้ถูกดำเนินคดี
ที่มา iLaw
ข่าวที่เกี่ยวข้อง