เมื่อไม่กี่วันมานี้ ตามที่หลายสื่อรายงานถึงกรณีที่เกิดขึ้นในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าเก่าแก่แห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ว่ามีการทำร้ายเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาทิ การบังคับให้เด็กกินพริก, การเหวี่ยงเด็กอ่อนติดกับตู้
เมื่อไม่กี่วันมานี้ ตามที่หลายสื่อรายงานถึงกรณีที่เกิดขึ้นในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าเก่าแก่แห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ว่ามีการทำร้ายเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาทิ การบังคับให้เด็กกินพริก, การเหวี่ยงเด็กอ่อนติดกับตู้
SpringNews ได้ติดต่อสอบถามข้อมูลจากผู้ที่ติดตามกรณีนี้ และสรุปข้อมูลเท่าที่ทราบมาให้อ่านกัน
แหล่งข่าวที่ SpringNews สัมภาษณ์ระบุว่า สถานสงเคราะห์แห่งนี้จดทะเบียนเป็นของเอกชน ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยผู้บริหารทั้งหมดเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ใน จ.เชียงใหม่ แต่ไม่ค่อยได้ใส่ใจเข้ามาดูแลมากนัก แต่มอบอำนาจให้แก่เลขาธิการ ซึ่งเป็นหญิงชราวัยประมาณ 80 ปีซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าสังคมสงเคราะห์ของ รพ.แห่งหนึ่งเป็นผู้ดูแล แต่ด้วยความชรา เธอก็มอบอำนาจต่อให้นักสังคมสงเคราห์ประจำบ้านดูแลเป็นผู้ดูแล
ภายในสถานสงเคราะห์แห่งนี้รับเด็กมาจากบ้านเวียงพิงค์ ในสังกัด พม.โดยรับหน้าที่ดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 3 เดือน - 6 ปี แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ห้อง ได้แก่
สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เจ้าหน้าที่ในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าแห่งนี้มีพฤติกรรมเข้าข่ายทารุณกรรมเด็กด้วยวิธีต่างๆ ตรงกับที่ SpringNews ได้สัมภาษณ์อดีตพี่เลี้ยงคนหนึ่งที่เคยทำงานในสถานเลี้ยงเด็กดังกล่าวเป็นเวลาราว 7 เดือน เธอเล่าว่าเธอเห็นความรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้นแทบทุกวัน โดยเคยเห็นนักพัฒนาการเด็ก “เหวี่ยงเด็กติดตู้” เพราะอยากให้เด็กอยู่นิ่งๆ โดยเด็กคนดังกล่าวอยู่ในห้องแรก หรือมีอายุระหว่าง 3 เดือน - 1 ขวบครึ่งเท่านั้น
เธอยังเล่าอีกว่า มีกรณีหนึ่งที่เด็กห้องสอง (1 ขวบครึ่ง - 3 ขวบ) ไม่ยอมนอน จึงถูกพี่เลี้ยงพาตัวไปในห้องน้ำ แล้วพอกลับออกมามีรอบแดงที่ฝ่าเท้า ซึ่งเด็กไม่ได้เล่าให้เธอฟังว่าถูกทำอะไร เพียงแต่ชี้ไปที่เท้าแล้วพูดว่า “เจ็บๆ”
“เด็กเขาเดินลากขาออกมาเหมือนเจ็บเท้า แล้วหนูก็ดูตรงเท้าของเด็ก เท้าของเด็กเป็นสีแดงๆ พอถามเด็กว่าเจ็บตรงไหน เขาก็ชี้ไปที่เท้า” อดีตพี่เลี้ยงเล่า
เธอยังเล่าว่ามีกรณีที่เด็กมีแผลในปากจึงไม่ยอมกินข้าว พี่เลี้ยงจึงเอาพริกบดจากข้าวผัดกะเพราของตัวเองแล้วบังคับให้เด็กกิน นอกจากนี้ยังมีการตบปากเด็กเพื่อบังคับให้กินข้าว
คำบอกเล่าดังกล่าวตรงกับรายงานของ Thai PBS ที่ระบุว่ามีหลักฐานว่าช่วงเดือน ม.ค.2566 แพทย์โรงพยาบาลมหาราชจังหวัดเชียงใหม่ได้ตรวจพบร่องรอยบาดแผลในตัวเด็ก และในเดือน ก.ค. 2566 พบว่า ลิ้นเด็กติดเชื้อรา ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากการกินเผ็ดรุนแรง
ภายหลังที่มีการร้องเรียน ทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบและพบว่ามีพี่เลี้ยง, นักพัฒนาการเด็ก และนักสังคมสงเคราะห์จำนวน 9 คนที่ทำร้ายร่างกายเด็ก จึงให้มีการทำทัณณฑ์บน 1 ราย และไล่ออก 8 ราย อย่างไรก็ตาม กลับมีรายงานว่ามีการรับ 4 รายกลับเข้ามาทำงานในภายหลัง โดยหนึ่งในนั้นมีอาการซึมเศร้า ซึ่งถือว่าทีคุณสมบัติไม่เหมาะสม
ต่อมาในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีรายงานซ้ำอีกครั้งว่ามีการใช้ความรุนแรงกับเด็กในสถานสงเคราะห์แห่งนี้ขึ้นอีก
ล่าสุดในวันที่ 1 ต.ค.เจ้าหน้าที่จึงได้ลงมาตรวจสถานสงเคราะห์ดังกล่าวอีกครั้ง และมีคำสั่งให้ส่งเด็ก 17 คน กลับไปที่สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ พร้อมทั้งเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับพี่เลี้ยงโดยแหล่งข่าวระบุว่ามีอย่างน้อย 2 รายที่เข้าข่ายผิดคดีอาญา ขณะที่ที่เหลือกำลังอยู่ในช่วงเก็บข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติม
“มันไม่ใช่ความผิดของภาครัฐที่ไม่ตรวจสอบนะครับ คนจะละเมิดเขาไม่ละเมิดให้เราเห็นหรอก” วิวัฒน์ ธนาปัญญาวรคุณ ประธานมูลนิธิวันสกายและผู้ติดตามกรณีนี้กล่าวเริ่มต้น ก่อนจะอธิบายสาเหตุของปัญหาที่อยู่ลึกลงไปของเรื่องนี้ทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
เรื่องแรกคือ ทัศนคติการเลี้ยงดูเด็ก เขายกตัวกรณีที่เด็กคนหนึ่งกำลังเอาหัวโขกกำแพง แต่พี่เลี้ยงบอกว่าอย่าเข้าไปยุ่งเพราะเด็กกำลังเรียกร้องความสนใจ สะท้อนถึงความไม่เข้าใจว่าลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเด็กมีปัญหาทางอารมณ์หรืออาจเป็นภาวะออทิสติกในเด็ก ซึ่งความเข้าใจในเรื่องนี้เกิดจากบุคลากรที่เข้ามาทำงานมีความรู้ไม่เพียงพอ เพราะสถานดูแลเด็กเหล่านี้ให้เงินเดือนเพียงแค่ 9,000 บาท/ เดือน จึงไม่แปลกที่จะดึงดูดบุคลากรที่ไม่มีความเข้าใจเด็กเข้ามาทำงาน
เรื่องสอง ไม่มีการดำเนินคดีอย่างจริงจัง วิวัฒน์ยกตัวอย่างใน อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีสถานสงเคราะห์เกือบ 20 แห่ง และมีกรณีที่ผู้ดูแลทำร้ายเด็กมากมาย แต่ผู้บริหารเพียงแค่ไล่ออก ไม่มีการดำเนินคดี ทำให้สุดท้ายผู้ดูแลเหล่านี้ก็แค่ย้ายจากสถานเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่งไปอีกแห่งเท่านั้น
“ผู้ดูแลที่ทำร้ายเด็กก็ย้ายจากสถานเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่งไปอีกแห่งเท่านั้น ผู้บริหารไม่ได้ดำเนินการทางกฎหมาย ทั้งที่จริงๆ ควรทำ คนเหล่านี้ก็ยังเอาความคิดว่าต้องตีเด็กเพื่อปรับพฤติกรรมไปใช้ที่อื่นต่อไปเรื่อยๆ” วิวัฒน์กล่าว
เรื่องสาม ประเทศไทยมีสถานสงเคราะห์เด็กมากเกินไป วิวัฒน์ชี้ว่าไทยมีสถานสงเคราะห์เด็กของเอกชนมากเกินไป โดยในเชียงใหม่มีอย่างน้อย 175 แห่ง ในเชียงรายอย่างน้อย 196 แห่ง และมีเด็กนับหมื่นคนถูกดูแลอยู่ในสถานเลี้ยงด็กเหล่านี้ วิวัฒน์ชี้ว่าในปัจจุบันเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่ได้กำพร้า แต่เข้ามาเพราะยากจน ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีนัก
“ตัวเลขจากงานวิจัยยืนยันว่าเด็กในสถานสงเคราะห์ที่กำพร้าพ่อและแม่มีไม่เกิน 3% เท่านั้น แต่เราเลือกแยกเด็กออกมา แทนที่จะช่วยเหลือให้เด็กได้กลับบ้านอยู่กับพ่อกับแม่” วิวัฒน์กล่าว
สุดท้ายวิวัฒน์ทิ้งท้ายว่า สถานสงเคราะห์ควรหมดไปได้แล้ว เพราะสถานสงเคราะห์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเท่ากับที่ครอบครัวทำได้ เทรนด์ที่ดีกว่าคือการช่วยให้เด็กมีครอบครัวทดแทนหรือครอบครัวอุปการะที่สามารถให้เวลากับเด็กได้จริงๆ เขายกตัวอย่างเวลาที่เราไปสถานสงเคราะห์และเด็กเดินมากอดเรา นี่ไม่ใช่ความน่ารัก แต่เป็นสัญญาณว่าเด็กไม่ได้รับความรักที่เพียงพอ
“รูปแบบกระทำความดีควรจะเปลี่ยน การมีสถานสงเคราะห์อาจทำร้ายเด็กมากกว่าส่งเสริมก็ได้ แต่เรื่องนี้ไม่ค่อยถูกพูดถึง เราเห็นแค่ซึ่งหน้าว่าเด็กมีเสื้อผ้า มีที่นอน แต่ปัญหาของสถานสงเคราะห์อยู่ลึกไปกว่านั้น และอาจต้องใช้วเลาเป็น 10 ปีผลกระทบถึงจะออกมา”
อ้างอิง: CM 108 ข่าวเชียงใหม่/ Thai PBS