ทำความรู้จัก "วิษณุ เลิศสงคราม" ปลัด อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม 1 ใน 14 จำเลยคดีตากใบ ปรากฏตัว กลับมาปฏิบัติหน้าที่เป็นคนแรก หลังหายไป 14 วัน ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ อ้างเมื่อ 20 ปีก่อน ทำหน้าที่เป็นเพียงพลขับเท่านั้น
จากกรณีที่ “คดีตากใบ” หมดอายุความไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามตัวจำเลย 14 คนในคดีนี้มาขึ้นศาลได้ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคม โดยเฉพาะในแง่มุมกระบวนการยุติธรรมและการทำงานของรัฐบาล
โดยหลังจากที่คดีตากใบหมดอายุความ นายวิษณุ เลิศสงคราม ปลัด อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม 1ใน 14 จำเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลาราชการไปตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.67 และหายตัวไปหลังถูกออกหมายจับ ได้ปรากฎตัวกลับมาทำงานที่อำเภอท่าอุเทน เมื่อวันที่ 26 ต.ค.67 โดยลงพื้นที่ปฏิบัติราชการกรณีมีชายคลุ้มคลั่งยาเสพติดทำลายทรัพย์ และมีอาการทางจิตเวช ที่บ้านนาผักปอด ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน ถือเป็นการปรากฎตัวของผู้ต้องหารายแรกในคดีตากใบ หลังจากที่คดีหมดอายุความ
ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 14 วันที่ นายวิษณุ มาทำงานเป็นวันแรก หลังจากที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีตากใบ เมื่อ 20 ปีก่อน และอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องผู้ต้องหา 14 คน ศาลได้อนุมัติหมายจับก่อนที่คดีจะหมดอายุความเพียงไม่กี่วัน
ก่อนหน้านี้ หลังจากถูกออกหมายจับ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายจับเข้าไปประสานงานกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เพื่อดำเนินการติดตามนำตัวมาดำเนินคดี ซึ่งทางผู้บังคับบัญชาได้ทำการยกเลิกใบลาราชการ แต่ก็ไม่สามารถติดต่อหรือตามตัวนายวิษณุได้แต่อย่างใด
ในการสอบวินัยการขาดราชการของข้าราชการ ตามระเบียบหากขาดงานเกิน 15 วัน ผู้บังคับบัญชาสามารถให้ออกจากงานได้โดยไม่ต้องสอบวินัย แต่ถ้าขาดราชการไม่ถึง 15 วัน จะต้องมีการสอบข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าพบ นายวิษณุ ที่ห้องทำงาน ซึ่งก็พบว่ามาทำงานตามปกติ แต่ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ บอกเพียงเมื่อ 20 ปีก่อน ตัวเองทำหน้าที่เป็นเพียงพลขับเท่านั้น
หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงเหตุการณ์ตากใบ วิษณุ เลิศสงคราม เป็นพลขับของกองพลทหารราบที่ 5 เป็นหนึ่งในพลขับที่ขนม็อบจาก สภ.ตากใบ เพื่อนำไปเก็บที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี โดยระหว่างทางมีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ด้านผู้บังคับบัญชาในสายปกครอง เผยข้อมูลว่า เรื่องการสอบวินัย การขาดราชการ ไม่เฉพาะกรณีของปลัดอำเภออุเทนเท่านั้น แต่ถ้ามีข้าราชการขาดงานติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดจะต้องรายงานไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งบรรจุ นั่นก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อสอบข้อเท็จจริง
ซึ่งตามหลักข้อกฎหมายและระเบียบ หากขาดงานเกิน 15 วัน ผู้บังคับบัญชาสามารถให้ออกจากงานโดยไม่ต้องสอบวินัย แต่ถ้าขาดราชการไม่ถึง 15 วัน ผู้บังคับบัญชาก็จะต้องเสนอให้มีการสอบข้อเท็จจริง ถ้ามีความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง โทษก็จะมีอยู่ระดับ คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน และก็ลดเงินเดือน
หากย้อนกลับไปวันที่ 12 กันยายน 2567 อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนแล้วมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 โดยวินิจฉัยว่า จากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน แม้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ประกอบด้วย พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1, ร้อยตรีณัฐวุฒิ เลื่อมใส ผู้ต้องหาที่ 2, นายวิษณุ เลิศสงคราม ผู้ต้องหาที่ 3, เรือโทวิสนุกรณ์ ชัยสาร ผู้ต้องหาที่ 4, นายปิติ ญาณแก้ว ผู้ต้องหาที่ 5, พันจ่าตรีรัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 6, พันโทประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ต้องหาที่ 7 และร้อยโทฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 8 จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถ เพียงจำนวน 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมประมาณพันกว่าคน อันเป็นการบรรทุกที่แออัดเกินกว่าจะเป็นวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม
โดยผู้ต้องหาที่ 1 ที่ 7 รู้อยู่แล้วว่า จำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสมกัน ผู้ต้องหาที่ 2 ถึงที่ 6 และที่ 8 ซึ่งเป็นคนขับรถก็เห็นถึงสภาพการบรรทุกผู้ชุมนุมดังกล่าว อันเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่
การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง จึงสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 ตามข้อกล่าวหาดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง