ลืมไม่ได้ จำไม่ลง, บาดแผลของสังคมไทย, วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด, การสังหารหมู่โดยรัฐ.. หลากหลายประโยคที่ถอดทอนใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ความสูญเสียนั้นผ่านมาแล้ว แต่หน้าที่ใจการจดจำและเรียนรู้เป็นของเราทุกคน
ครบรอบ 48 ปีเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลากหลายชีวิตสูญเสียไปในเหตุการณ์ อีกมากสูญเสียในป่าเขา และอีกหลายที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงในชีวิต เมื่อไม่มีสิ่งใดที่เราจะทำได้มากไปกว่าจดจำ ตระหนัก และเรียนรู้บทเรียนในวันนั้นไม่ให้เกิดขึ้นอีก
เนื่องในโอกาสครบรอบเหตุการณ์อันเลวร้าย SpringNews คัดหนังสือ 6 เล่ม ทั้งหนังสือกึ่งวิชาการและวรรณกรรม เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันเข้าใจเหตุการณ์ในวันนั้นให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าในมุมของนักศึกษาหรือมุมของผู้ใช้ความรุนแรง
ด้วยความหวังเพื่อจะเรียนรู้ ไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก..
หนังสือกึ่งวิชาการถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง ธงชัย วินิจจะกูล อดีตแกนนำนักศึกษาและอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) หนังสือเล่มนี้นับว่าเป็นหนังสือ ‘ต้องอ่าน’ สำหรับผู้ที่อยากทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาทั้งในมุมประวัติศาสตร์และความคิดอ่านของกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรง
หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ส่วนแรกคือ การไล่เรียงเหตุการณ์ 6 ตุลาที่เกิดขึ้นในวันนั้นผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าผู้เสียชีวิต ไทม์ไลน์ ตลอดจนประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเอง ส่วนสองคือ การสัมภาษณ์กลุ่มผู้ก่อเหตุ ผ่านตัวธงชัยเอง จึงเป็นการตั้งคำถามผ่านสายตาและความคิดของผู้ที่มีบาดแผลจากเหตุการณ์ล้อมปราบในครั้งนั้น
หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงเป็นซุ่มเสียงที่ทำลายความเงียบที่ติดแน่นกับเหตุการณ์ 6 ตุลามาตลอด 40 ปี แต่ยังชวนให้เราเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาผ่านมุมมองประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ชนวนใดบ้างที่จุดให้เหตุการณ์ 6 ตุลาปะทุ ตัวละครใดบ้างที่โลดแล่นอยู่ และเส้นสายโยงใยความสัมพันธ์ทั้งของตัวละครหน้าฉากและหลังฉาก
หลายคนที่เคยอ่านเพจ ‘มนุษย์กรุเทพ’ น่าจะตระหนักถึงทักษะการสัมภาษณ์และความสามารถในการเรียบเรียงเรื่องราวของผู้เขียนเป็นอย่างดี ในหนังสือ ‘มนุษย์ 6 ตุลา’ ผู้เขียนได้ใช้ทักษะที่ตัวเองถนัด สัมภาษณ์ 38 บุคคลที่มีส่วนสัมผัสเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่อดีตแกนนำนักศึกษา เรื่อยไปจนถึงแม่ค้าร้านอาหารใน ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
บทสัมภาษณ์นี้เปรียบเสมือนการทบทวนลงไปในทรงจำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ผ่านคำถามและซุ่มเสียงของนักสัมภาษณ์ยุคใหม่ หนังสือเล่มนี้จึงมีคุณค่าและร่วมสมัยอย่างมากต่อการมอง 6 ตุลาผ่านสายตาคนยุคปัจจุบัน
อีกหนึ่งคำอธิบายเชิงประวัติศาสตร์จากนักประวัติศาสตร์ที่เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลา ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล งานเขียนชิ้นนี้อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวบรวมบทความที่เคยตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์หลายแห่งมาร้อยเรียงจนเกิดเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้น
หนังสือเล่มนี้นับเป็นหนังสือหายาก โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในงานรำลึก 25 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อปี 2544 โดยหนังสือแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วน ส่วนแรกคือเหตุการณ์ตั้งแต่ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึง 14 ตุลา ส่วนที่สองคือเหตุการณ์ 14 ตุลา และส่วนสุดท้ายคือเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งมีทั้งการวิพากษ์บทเพลงพระราชนิพนธ์ การเล่าถึงชนวนเหตุการณ์ละครแขวนคอนักศึกษา จนถึงลำดับเหตุการณ์และตัวละครในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
หนังสือเล่มนี้ควรค่าแก่การอ่าน ไม่เพียงเพราะ สมศักดิ์ เป็นนักประวัติศาสตร์อันดับต้นๆ ของสังคมไทย แต่เขายังเป็นหนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์และถูกคุมขังในเรือนจำภายหลัง อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้นับเป็นหนังสือหายาก แต่ทาง Common School ก็ได้เผยแพร่ไฟล์ PDF ให้ดาวน์โหลดกันได้ฟรีทางด้านล่างนี้
https://www.facebook.com/commonschoolth/photos/a.344473043411972/521685445690730/
“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่สร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”
หากจะเอ่ยถึงวรรณกรรมที่ทรงอิทธิพลในหมู่นักศึกษาในช่วงเวลานั้น คงลืม ‘ปีศาจ – เสนีย์ เสาวพงศ์’ ไปไม่ได้เลย เพราะนอกจากจะเป็นวรรรกรรมที่พูดถึงระบบชนชั้นในสังคม ตัวละครในเรื่องทั้ง สาย สีมา และ รัชนี ต่างเป็นภาพสะท้อนของความรักที่ก้าวข้ามชนชั้นวรรณะของหนุ่มสาวในยุคนั้น แม้จะถูกกีดกันจากพ่อของรัชนี ซึ่งเป็นข้าราชบริพารที่เชื่อในจารีตแบบเดิม
อันที่จริง นิยายเล่มนี้ถูกตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 2496 ก่อนถูกนำมารวมเล่มครั้งแรกในปี 2500 และนำมาพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่องระหว่างช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาจนถึง 6 ตุลา รวมถึงมีการคัดลอกบางตอนลงไปเผยแพร่ในวารสารของกลุ่มนักศึกษา สะท้อนความนิยมของนักศึกษาต่อวรรณกรรมเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
ขณะที่บางประโยคในหนังสือยังถูกนำมาหยิบใช้จนถึงปัจจุบัน เช่นประโยคด้านล่างนี้
“ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก…โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน”
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือ สหายสมพร เป็นอีกหนึ่งนักประวัติศาสตร์หัวกะทิของเมืองไทยที่เข้าร่วมกับ พคท. หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา สุธาชัยเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น เมื่ออรุณจะรุ่งฟ้า: ขบวนการนักศึกษาไทย พ.ศ.2513-2519 ที่พาไปดูการเติบโตของขบวนการนักศึกษาที่กลายมาเป็นกำลังสำคัญทางการเมือง
ในหนังสือเล่มนี้เขาดัดแปลงเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์จากบันทึกประสบการณ์ของตัวละครนาม ‘สมพร จันทรชัย’ อดีตนักศึกษาที่หนีเข้าป่าในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา จนถึงปลาย พ.ศ.2520 โดยหนังสือเล่มนี้มุ่งถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตในป่าเขา ความคิดของนักศึกษาในช่วงเวลานั้น ตลอดจนภาพการปราบปรามจากรัฐไทยที่มุ่งความรุนแรงมาที่ พคท.
ถึงแม้ สุดท้ายแล้วเป้าหมายที่สมพรตั้งไว้จะไม่ประสบความสำเร็จดั่งที่คาด แต่เขาก็ยังส่งต่อความหวังต่อสังคมที่ดีกว่าให้แก่ผู้อ่านสืบต่อไป คล้ายดั่งเป็นเสียงจากผู้เขียนที่เคยผ่านความรุนแรงโหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในสังคมไทยมาแล้ว
ภายหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา 6 ตุลา นักศึกษาจำนวนมากได้หนีเข้าป่าเพื่อร่วมกับ พคท. ทิ้งสถานะปัญญาชนและที่นอนสุขสบาย สวมบูทและจับปืนเรียกร้องการปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมไร้ศักดินาที่คนเท่ากันโดยแท้จริง
และถ้าหากอยากเข้าใจความคิดและความเป็นไปในช่วงดังกล่าว หนังสือ ‘หลัง 6 ตุลา’ คือหนึ่งในคำภีร์ที่สำคัญที่สุด หนังสือเล่มนี้พาไปดูความขัดแย้งและสอดคล้องระหว่างขบวนการนักศึกษาที่เข้าป่ากับ พคท. ระหว่างปี 2519 - 2525 ตั้งแต่ช่วงรุ่งโรจน์จนถึงช่วงตกต่ำ และพูดถึงสิ่งพิมพ์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นบนป่าเขา ตั้งแต่วารสารของ พคท. เรื่อยจนถึงบันทึกความทรงจำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว
ถึงแม้ หนังสือเล่มนี้จะพูดถึงสถานการณ์หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่หนังสือเล่มนี้ก็ควรค่าแก่การทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่แพ้เล่มไหนๆ เพราะประวัติศาสตร์คือสายธารที่ไหลสู่ข้างหน้า และหนังสือเล่มนี้คือภาพเหมือนของผิวน้ำในช่วงเวลาหนึ่ง
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ช่วงดังกล่าว อาทิ แม่ (แม็กซิม กอร์กี้), แลไปข้างหน้า (ศรี บูรพา), ภูสูง ห้วยลึก กับฝันที่ไปไม่ถึง (สิตา การย์เกรียงไกร), บ้านเมืองของเราลงแดง (เบเนดิก แอนเดอร์สัน) หรือหนังสือเล่มละบาททั้งหลาย
เราชวนทุกคนอ่านหนังสือเหล่านี้เพื่อจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 48 ปีที่แล้ว เพื่อไม่หลงลืมความรุนแรงอันบ้าคลั่งในช่วงเวลานั้น และเพื่อไม่ให้มีเพื่อนเราคนไหนถูกกระทำอย่างป่าเถื่อน หรือหลงกระทำต่อผู้อื่นอย่างเดรัจฉานเช่นนั้นอีกต่อไป
ภาพประกอบ: สมชาย พัวประเสริฐสุข