เวที ‘6ตุลา’ จัดหนักกองเซนเซอร์ ไม่เข้าใจซอฟต์พาวเวอร์ แต่ปิดกั้นความสร้างสรรค์ คุมกำเนิดเศรษฐกิจไทย "ซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริง ไม่ใช่แค่รำไทย กับ ข้าวเหนียวมะม่วง" แต่คือเสรีภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และการแสดงออก
น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเมือง พรรคไทยสร้างไทย และนายโชคชัย ชยวัฑโฒ รองเลขาธิการสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “เอายังไงดีกับกองเซนเซอร์: บทบาทของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ภายใต้รัฐบาลซอฟต์พาวเวอร์” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ เนื่องในงานรำลึก 6 ตุลา
นายโชคชัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2473 ถูกควบคุมมาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาเกือบ 80 ปี จนมาถึง 2551 เปลี่ยนจากการควบคุมเป็นการกำกับดูแล แต่ก็ยังสะท้อนมุมมองของรัฐว่าคนทำภาพยนตร์ยังโง่เขลา ต้องได้รับการกำกับชี้แนะ แต่สมาพันธ์ภาพยนตร์ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายที่กำกับดูแล แต่เปลี่ยนส่งเสริมให้เกิดความสร้างสรรค์ การเซนเซอร์มันเป็นความดัดจริต เช่น การตัดฉากพระเล่นกีต้าร์ เป็นต้น
แต่ความเป็นจริงเหล่านี้มันมีอยู่ แต่เขาพยายามทำให้เป็นสังคมล้าสมัย แทนที่จะเอาเรื่องราวเหล่านี้มาตีแผ่ให้ถึงที่สุด รัฐพยายามกดทับพยายามเป็นบางสิ่งที่เป็นอยู่ ตนฝากถึงรัฐบาลว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์จะเปลี่ยนมาเป็นการให้ภาพยนตร์พิจารณากันเอง (Self-regulation) เหมือนสื่อ ตอนนั้นที่หลายพรรคการเมืองเข้ามาพูดคุยกับสมาพันธ์ทุกคนเห็นด้วยและยกมือร้อยเปอร์เซ็นต์ จะดูว่าจะรักษาความพูดหรือไม่ ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นซอฟต์ ที่ไม่มีพาวเวอร์
น.ส.วทันยา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงการเมืองทั่วโลก มันจะมีการปฏิรูปวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วย ยิ่งถ้าเราต้องการเปลี่ยนประเทศให้เข้าสู่ประชาธิปไตย การจำกัดเสรีภาพในความคิดมันย่อมกระทบต่อการเปลี่ยนแปลง และยังจำกัดเสรีภาพในทางความคิดที่เราจะส่งออกไปสู่สังคม
ถ้าเรากลับไปดูที่คณะกรรมการเซนเซอร์ฯ และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่เป็นซูเปอร์บอร์ด มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรี ก.วัฒนธรรม ก.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นรองประธาน และกรรมการอื่นๆ ที่เป็นข้าราชการจำนวนมาก โดยเฉพาะ ผบ.ตร. ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แถมคนที่มาจากภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมกลับมีแค่ 7 คนในคณะกรรมการ ยกตัวอย่างประเทศที่มีรายได้สูงหลายประเทศก็ไม่ได้เพิ่มแค่การค้าขาย แต่ยังเพิ่มเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ด้วย ต่างกับไทยที่มองเรื่องการเซนเซอร์ที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงจึงนำมาซึ่งการแทรกแซงโดยรัฐ มันเป็นการยัดเยียดค่านิยมและไม่ยอมรับความจริง เขาเน้นย้ำเรื่องความมั่นคงจนบั่นทอนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์
นอกจากนี้กฎหมายปี 2551 เองก็ไม่ทันกับความจริงในปัจจุบันที่คนเสพสื่อทางอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกควบคุมแล้ว แล้วคณะกรรมการก็กลับไม่ได้ระแวดระวังด้วยซ้ำ เราต้องกลับมาทบทวนกฎหมายให้ร่วมสมัยทั้งค่านิยม เทคโนโลยี และไม่เอาวิธีคิดเดิมๆ ไปปิดกั้นโอกาสและความคิดสร้างสรรค์ที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศ พูดได้คำว่าเดียวว่า “เสียดาย เสียดาย เสียดาย”
น.ส.วทันยา ย้ำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ไม่เท่ากันวัฒนธรรม หน่วยงานราชการส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่าซอฟต์พาวเวอร์เท่ากับรำไทย ข้าวเหนียวมะม่วง อย่างเดียว ถ้าเราเข้าใจไม่ตรงกันก็พัฒนาไปไม่ถูกเสียที แต่ซอฟต์พาวเวอร์มันคืออำนาจที่คนอื่นอยากทำ อยากเป็น เปลี่ยนความคิดคนได้ เช่น การเรียนรู้ หนังสือ คอนเทนต์วีดิโอ ภาพยนตร์ การ์ตูน ฯลฯ มันคือสิ่งที่จะส่งไปสู่ผู้คน มากกว่าการส่งเสริมให้ทำข้าวเหนียวมะม่วงจานใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่เราต้องคิดว่าจะช่วยกันส่งเสริมเสรีภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และการแสดงออกให้ไปได้ไกลได้อย่างไรมากกว่า ความคิดสร้างสรรค์ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
แต่ทำไมวงการภาพยนตร์ไทยกลับมูฟออนเป็นวงกลม หลายประเทศนำหน้าแล้วและหลายประเทศกำลังจะแซง เราต้องหยุดปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์กันเอง แต่ต้องส่งเสริมให้ความคิดเหล่านี้ออกไปสู่คนทั่วโลกด้วยความสนับสนุนของภาครัฐอย่างจริงจัง
น.ต.ศิธา กล่าวว่า ภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง ตอนมันส์ๆ ไฮท์ไลท์ก็มันจะโดนตัดโดนเซนเซอร์ ภาพยนตร์บางเรื่องโดนตัดจนแทบไม่รู้เรื่อง ประเทศที่เจริญแล้วจะปล่อยให้คนเข้าถึงสื่อและมีวิธีการสอนให้คนแยกแยะ แต่ไทยกลับไม่ให้เห็นเลย ทั้งที่ความจริงเด็กสมัยใหม่สามารถกดดูในสื่อออนไลน์อื่นได้ สิ่งที่ห้ามไม่สามารถบล็อกการเข้าถึงของเด็กได้จริง สุดท้ายบทลงโทษมันมีอยู่แล้ว แต่เราไปตัดสิ่งที่เป็นอรรถรสเพราะกลัวคนทำตาม สุดท้ายภาพยนตร์ก็ไม่เหลือความสนุก เราไม่ได้ประโยชน์จากการปิดกั้น แถมยังขยายประเด็นให้คนอยากรู้ เช่น เพลงประเทศกูมี ก่อนปิดกั้นยอดวิวไม่เยอะ แต่พอปิดกั้นยอดวิวคนยิ่งกลับมาฟังอย่างตั้งใจ หรือกรณีคราฟต์เบียร์ที่ห้าม แต่สุดท้ายก็ต้องเอาไปผลิตข้างนอก แต่นำเข้ามาให้คนไทยจ่ายแพงขึ้น คนไทยผลิตได้อร่อย แต่เวียดนามได้รางวัลเพราะไม่ได้ผลิตในไทย ไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรสักด้าน
น.ต.ศิธา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาร์ดพาวเวอร์คือเอาคำสั่ง บังคับให้คนทำตาม แต่ซอฟต์พาวเวอร์คือการเอาสิ่งสนุกสนานบันเทิงให้คนอยากทำตาม แต่เราไม่เข้าใจ ความเป็น Thainess + Global Mindset คือสิ่งที่จะทำให้ไปไกลได้ คือเอาความเป็นไทยประกอบวิธีคิดแบบสากล ยกตัวอย่าง มิลลิกินข้าวเหนียวมะม่วงกลางคอนเสิร์ต ซอฟต์พาวเวอร์คือมิลลิที่คนอยากกินตาม ทุกวันนี้เรามีโอกาสสร้างซอฟต์พาวเวอร์มากมาย เช่น เหล้าไทย ที่สามารถประยุกต์มากินกับอาหารในแต่ละภาคได้ เหมือนในต่างประเทศที่ทานอาหารกับเหล้า ดังนั้นรัฐบาลต้องคิดในมุมของการต่างประเทศ การ collapse กันของผลงานไทยกับแบรนด์ต่างประเทศจะทำให้ต่างชาติสนใจ แต่ไม่ใช่บังคับให้เขามาดูรำไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง