8 เหตุการณ์สำคัญ ก่อนและระหว่างวันที่ 6 ตุลาคม 2519 บาดแผลทางประวัติศาสตร์ ที่กาลเวลามิอาจเยียวยา แม้จะล่วงเลยมา 44 ปีแล้วก็ตาม
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถือว่าเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ที่กาลเวลามิอาจเยียวยา แม้จะล่วงเลยมา 44 ปีแล้วก็ตาม
เหตุการณ์ดังกล่าวรุนแรงในระดับที่นิตยสาร Time กล่าวว่า "A Nightmare of Lynching and Burning" (ฝันร้ายของการประชาทัณฑ์และการเผา)
ซึ่งปัจจัยที่นำไปสู่การล้อมปราบกลางเมืองในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวง ก็มีมากมาย และมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนเป็นอย่างยิ่ง
แต่ถ้าโฟกัสไปที่ชนวนสำคัญจนนำไปสู่การชุมนุมต่อต้าน ก็คือความพยายามกลับเข้าไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร กับ จอมพลประภาส จารุเสถียร ที่ได้หลบหนีออกนอกประเทศจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่นักศึกษาและประชาชนลุกฮือขึ้นขับไล่
โดยสปริงนิวส์ได้รวบรวม 8 เหตุการณ์สำคัญ ก่อนและระหว่างวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไว้ดังต่อไปนี้
จอมพลประภาส จารุเสถียร ได้กลับเข้าไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2519 นำไปสู่การชุมนุมขับไล่ของนักศึกษาและประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวง จนกระทั่งจอมพลประภาส ยอมเดินทางออกนอกประเทศ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2519 การชุมนุมจึงยุติลง
ส่วนจอมพลถนอม ก็ยังมีความพยายามเดินทางกลับไทย จนสามารถเข้าประเทศได้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2519 โดยได้บวชเณรมาจากประเทศสิงคโปร์ ก่อนเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ
วันที่ 24 กันยายน 2519 เกิดเหตุ 2 พนักงานการไฟฟ้านครปฐม สมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ระหว่างออกติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม
โดยมีการนำศพไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่จัดสรรบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม และในเวลาต่อมามีผู้นำหลักฐานการฆาตกรรมไปให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)
ช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. วันที่ 4 ตุลาคม นักศึกษาได้ชุมนุมที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการอภิปรายและการแสดงละครเกี่ยวกับการฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้า ที่จังหวัดนครปฐม
ต่อมาได้ย้ายการชุมนุมไปที่ท้องสนามหลวง แต่ช่วงเย็นถูกกลุ่มกระทิงแดงก่อกวน เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง ทางแกนนำจึงย้ายการชุมนุมกลับเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ได้นำรูปการแสดงละครของนักศึกษาออกเผยแพร่ ในวันที่ 5 ตุลาคม แต่เสนอข่าวบิดเบือนว่า นักศึกษามีเจตนาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เริ่มมีเค้าลางความรุนแรง ตั้งแต่เวลา 01.40 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม เมื่อมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง พยายามบุกเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ต่อมาช่วงเวลา 04.00 น. ตำรวจตระเวนชายแดน ได้เข้าล้อมมหาวิทยาลัยจากทางด้านสนามหลวง และนำกำลังติดอาวุธไปตั้งในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
เวลาประมาณ 07.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระดมยิงปืนเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประกาศให้ยอมจำนน นักศึกษาที่วิ่งออกมานอกมหาวิทยาลัย ก็จะถูกฝูงชนฝ่ายตรงข้ามรุมทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม
กระทั่งเวลา 08.25 น. ตำรวจก็บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ และจับกุมผู้ชุมนุมที่หลบซ่อนตามอาคารต่างๆ
นักศึกษาประชาชนถูกควบคุมตัวขึ้นรถเมล์และรถสองแถว ส่งไปขังตามสถานีตำรวจต่างๆ โดยถูกสั่งให้เอามือกุมหัว คลานไปตามพื้น ระหว่างนั้นก็ถูกถีบเตะอย่างป่าเถื่อน
เวลา 18.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศยึดอำนาจ มีการตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี
เหตุการณ์ในวันนี้ เมื่อ 44 ปีที่แล้ว สร้างความบอบช้ำให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก แต่ประวัติศาสตร์ก็ยังไม่ถูกชำระ ความจริงยังไม่กระจ่าง และความเจ็บปวด...ยังคงดำรงอยู่ต่อไป
ข้อมูลจาก บันทึก 6 ตุลา https://doct6.com