หลังจากเหตุการณ์เพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษาจากโรงเรียนเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า หน้าศูนย์การค้าเซียร์รังสิต เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 23 ราย จุดคำถามสำคัญถึงมาตรฐานความปลอดภัยของรถบัสโดยสารที่ควรจะเป็น
SpringNews ได้เดินทางไปพูดคุยกับ ชยพล ประวีณเมธ กรรมการและทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัททรัพย์เจริญ แทรเวล ธุรกิจรถบัสถึงมาตรฐานความปลอดภัยของรถบัสโดยสาร และข้อสังเกตในฐานะที่ผู้โดยสารควรจะมีเมื่อใช้บริการรถบัส
ข้อสังเกตแรก ล้อรถ ชยพลให้คำแนะนำว่าก่อนขึ้นรถให้ลองสังเกตที่สภาพยางด้านนอกดูว่า มีรอยแตกลายงาหรือไม่ เพราะโดยปกติ ล้อของรถบัสไม่ควรมีลายงา เพราะล้อของรถบัสวิ่งไม่ประจำทางควรมีอายุใช้งานประมาณ 2 - 3 ปี หลังจากนั้นควรเปลี่ยนได้แล้ว และอีกวิธีหนึ่งคือการใช้นิ้วก้อยวัดกับร่องยาง เพื่อกะคร่าวๆ ว่าสภาพของดอกยางเป็นอย่างไร โดยมาตรฐานอยู่ที่ 4 มม.
ข้อสังเกตสอง ค้อนทุบกระจก ตามมาตรฐานขนส่ง รถบัสแต่ละคันควรมีค้อนทุบกระจก 4 อัน และมีกระจกนิรภัยอย่างน้อย 2 บาน โดยวิธีการทุบกระจกนิรภัยที่ถูกต้องคือทุบที่มุมใดมุมหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องใช้แรง แล้วกระจกจะแตกออกมาเหมือนเมล็ดข้าวโพด
ข้อสังเกตสาม ถังดับเพลิง ควรสังเกตว่าถังดับเพลิงมีอายุการใช้เงินเกิน 1 ปีหรือเปล่า และลูกศรที่หน้าปัดควรชี้ไปที่สีเขียว ไม่ใช่สีแดง
ข้อสังเกตสี่ ประตูนิรภัย ชยพลย้ำมากว่าถ้าเดินขึ้นรถบัส ควรขอทดลองเปิดประตูนิรภัยว่าใช้ได้ไหม เพราะประตูนิรภัยบนรถโดยสารบางคันอาจขึ้นสนิม และไม่สามารถเปิดประตูได้
ชยพลแถมข้อสังเกตสุดท้ายว่า หากอยากดูอายุของรถโดยสาร ให้สังเกตดูที่ป้ายทะเบียน (ป้ายเหลือง) หากเลขสองตัวหน้าขึ้นต้นด้วย 30, 31 และ 32 อาจจะอายุการใช้งานตั้งแต่ 5 - 10 ปี แต่ถ้าเลข 33 จะมีอายุการจดทะเบียนไม่นานนัก
ทั้งนี้ ส่วนตัวชยพลมองว่ามาตรฐานความปลอดภัยที่กรมการขนส่งทางบกตั้งขึ้นถือว่าปลอดภัยแล้ว แต่ปัญหาคือการตรวจสอบรถประจำทางเหล่านี้ว่าได้ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานหรือเปล่าต่างหาก
ล่าสุด สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการสอบสาเหตุของรสบัสไฟไหม้เกิดจากอะไรกันแน่น จะมีการป้องกันอย่างไร โดยจะเชิญวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ามาร่วมตรวจสอบ
นอกจากนี้ สุริยะยืนยันว่าทางกรมขนส่งทางบกมีข้อกำหนดให้ทางรถโดยสารสาธารณะทำประกันภัยทุกคน โดยจะมีเงินชดเชยให้ผู้เสียชีวิตรายละ 1,000,000 บาท และผู้ประสบอุบัติเหตุจะได้รับค่ารักษาพยาบาลจำนวน 160,000 บาท
ทางด้าน คณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ดังนี้
1. กรณีเสียชีวิต เป็นค่าจัดการศพ รายละ 1,000,000 บาท
2. กรณีทุพพลภาพ รายละ 700,000 บาท
3. กรณีบาดเจ็บสาหัส รายละ 200,000 บาท
4. กรณีบาดเจ็บเล็กน้อย รายละ 100,000 บาท
อีกทั้ง ยังมีเงินช่วยเหลือจากกระทรวงยุติธรรม ดังนี้
1. เงินช่วยเหลือกรณีผู้เสียชีวิตรายละ 200,000 บาท
2. ผู้ได้รับบาดเจ็บ 40,000 บาท
และกระทรวงศึกษาธิการให้เงินช่วยเหลือ ดังนี้
1. เงินช่วยเหลือกรณีผู้เสียชีวิตเป็นนักเรียน 180,000 บาท
2. เงินช่วยเหลือกรณีผู้เสียชีวิตเป็นครู 100,000 บาท
ขณะที่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะให้เงินช่วยเหลือ ผู้เสียชีวิตรายละ 10,000 บาท และจะดูแลต่อเนื่องจนอายุ 18 ปี