svasdssvasds

เปิดกฎหมายแพ่ง "สมรสเท่าเทียม" แก้ไขใหม่ บังคับใช้ใน 120 วัน หลังลงราชกิจจาฯ

เปิดกฎหมายแพ่ง "สมรสเท่าเทียม" แก้ไขใหม่ บังคับใช้ใน 120 วัน หลังลงราชกิจจาฯ

เปิดกฎหมายแพ่ง "สมรสเท่าเทียม" ฉบับแก้ไขใหม่ การสมรสระหว่างบุคคล ไม่จำกัดแค่ชาย-หญิง อีกต่อไป โดยกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งมีเนื้อหารับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง อีกต่อไป โดยกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ความหมายคือ หากมีผู้ประสงค์จะไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายใหม่ จะยังไม่สามารถทำได้ทันทีระหว่างที่กฎหมายเพิ่งประกาศใช้ ต้องรอให้ “พ้น” 120 วัน โดยหลักการนับระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยชี้แจงว่าต้องนับวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นวันที่หนึ่ง วันที่ครบ 120 วัน จะเป็นวันที่ 21 มกราคม 2568

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป กฎหมายแพ่งใหม่จึงจะมีผลใช้บังคับ สามารถไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งใหม่ที่รับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม

ทั้งนี้นอกจากการแก้ไขใจความหลักของการสมรสจากชาย-หญิง เป็น บุคคล เปลี่ยนถ้อยคำที่บ่งชี้เพศอย่างคำว่า สามี-ภริยา เป็น คู่สมรส ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ฉบับแก้ไขใหม่เพื่อรับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม ยังแก้ไขอายุขั้นต่ำสำหรับการหมั้นและการสมรส จาก 17 ปีบริบูรณ์ เป็น 18 ปีบริบูรณ์ และกำหนดรับรองสิทธิของคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายใหม่ มีสิทธิตามกฎหมายอื่นๆ ที่รับรองสิทธิของสามี-ภริยา ตามกฎหมายแพ่งเดิม

 

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ส่งผลให้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน 

ตามกรอบกฎหมาย 120 วันที่จะบังคับใช้ในวันที่ 22 ม.ค. 2568 โดยระหว่างนี้ให้ส่วนราชการทำความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะรายละเอียดกฎหมายที่ผูกพัน ทั้งอาญาและแพ่ง เพื่อให้ประชาชนจะได้เข้าใจถึงสิทธิต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิรับบุตรบุญธรรม สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย 

นับจากวันที่ 21 ธ.ค.2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ใจความสำคัญคือเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความหลายหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย โดยแก้ไขกฎหมายเดิม ที่อนุญาตให้แต่เฉพาะบุคคล "เพศชาย" กับ "เพศหญิง" จดทะเบียนสมรสได้เท่านั้น เป็นการสมรสระหว่างบุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม

 

 

 

 

ปรับอายุขั้นต่ำการหมั้น-สมรส จาก 17 ปีเป็น 18 ปี

จากเดิมใน ป.พ.พ. กำหนดให้การหมั้น (มาตรา 1435) รวมถึงการสมรส (มาตรา 1448) ทำได้ระหว่างชายและหญิง ที่มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ โดยผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กล่าวคือ อายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ และยังไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน

หากประสงค์จะทำการหมั้นหรือการสมรส จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้รับบุตรบุญธรรรมก่อน อย่างไรก็ดี ในกฎหมายสมรสเท่าเทียม นอกจากจะแก้ไขเรื่องสำคัญ คือ จากการหมั้นหรือการสมรสที่ทำได้เฉพาะ “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคลสองฝ่าย” แล้ว ยังปรับอายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสจาก 17 ปีเป็น 18 ปีบริบูรณ์

ทั้งนี้ หากมีเหตุอันสมควร ศาลก็สามารถอนุญาตให้บุคคลสมรสก่อนอายุ 18 ปีได้ เช่น มีฝ่ายหนึ่งที่ตั้งครรภ์ก่อนอายุ 18 ปีและประสงค์จะทำการสมรสกับอีกฝ่าย

 

ข้อห้ามเกี่ยวกับการสมรส ที่ยังคงไว้ตามเดิม

  • บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ ไม่สามารถสมรสได้ (มาตรา 1449)
  • ห้ามสมรสกับญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา พี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ความเป็นญาตินี้คำนึงตามสายโลหิต ไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (มาตรา 1450)
  • ห้ามผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม (มาตรา 1451) หากผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกไป (มาตรา 1498/32)
  • ห้ามบุคคลสมรสขณะที่มีคู่สมรสอยู่แล้ว (ห้ามสมรสซ้อน) (มาตรา 1452)

กฎหมายยังกำหนดให้การสมรสจะต้องทำโดยที่บุคคลสองคน “ยินยอม” เป็นคู่สมรสกันด้วย และต้องแสดงความยินยอมโดยเปิดเผยต่อนายทะเบียน (มาตรา 1458) โดยการสมรสกับบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 1449 การสมรสกับญาติ ตามมาตรา 1450 การสมรสซ้อน ตามมาตรา 1452 และการสมรส ตามมาตรา 1458 เป็นโมฆะ (มาตรา 1495) คู่สมรสเอง บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรส สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้พิพากษาว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะได้ (มาตรา 1496 วรรคสอง)

ดังนั้น หากคู่สมรสไม่ได้ยินยอมอยู่ร่วมกัน หรือแอบแฝงจดทะเบียนเพื่อเอาสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการของรัฐ ก็จะส่งผลให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะ ผลของการสมรสที่เป็นโมฆะ คือ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสนั้น ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสก็ยังเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะพิจารณาจากปัจจัยอื่นประกอบ

ที่มา : ilaw

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

related