svasdssvasds

กระบวนการยุติธรรมนำหน้าไปไกล แต่การตระหนักรู้เรื่อง LGBTQ+ ยังอยู่ที่เดิม

กระบวนการยุติธรรมนำหน้าไปไกล แต่การตระหนักรู้เรื่อง LGBTQ+ ยังอยู่ที่เดิม

ความหลากหลายทางเพศในประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมมากนัก ความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมทำให้สังคมมองว่ากลุ่ม LGBTQ+ เป็นเรื่องผิดปกติ แต่ในขณะเดียวกระบวนการยุติธรรมของเกาหลีใต้ก็นำหน้าสังคมไปไกลมากแล้ว

SHORT CUT

  • ศาลสูงสุดเกาหลีใต้ตัดสินให้คู่รักเพศเดียวกันชนะคดีหลังจากเป็นฝ่ายยื่นฟ้อง NHIS ที่ถอดถอนความคุ้มครองหลังจากที่พบว่าพวกเขาเป็น LGBTQ+
  • กระบวนการพิจารณาคดีของศาลประเทศเกาหลีใต้ถือเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมโดยพิจารณาไปตามเหตุและผล
  • ในขณะเดียวกันเกาหลีใต้ยังไม่มีกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ให้การคุ้มครองกลุ่มคนที่เป็น LGBTQ+

ความหลากหลายทางเพศในประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมมากนัก ความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมทำให้สังคมมองว่ากลุ่ม LGBTQ+ เป็นเรื่องผิดปกติ แต่ในขณะเดียวกระบวนการยุติธรรมของเกาหลีใต้ก็นำหน้าสังคมไปไกลมากแล้ว

ความหลากหลายทางเพศในประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบัน หลายคนอาจจะมองว่าเป็นสังคมแห่งปิตาธิปไตย คนที่แสดงออกจากกรอบของสังคมก็จะมองว่าผิดแปลกไป ประเทศเกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่กลุ่ม LGBTQ+ ในเกาหลีใต้ก็ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะสังคมยังไม่ให้การยอมรับความหลากหลายทางเพศ หากเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกัน และในประเทศเกาหลีใต้ยังไม่มีกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ให้การคุ้มครองกลุ่มคนที่เป็น LGBTQ+ และการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันก็ยังไม่ได้รับการยอมรับ ความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมทำให้คนเกาหลีใต้มองว่ากลุ่ม LGBTQ+ เป็นเรื่องผิดปกติและมองว่ากลุ่มเพศทางเลือกมีแนวโน้มที่เสี่ยงจะติดโรคทางเพศสัมพันธ์มากกว่า ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคติดต่อ และทำให้ถูกกีดกันในสังคมจนมาถึงปัจจุบัน

ในทางกลับกัน ศาลสูงสุดเกาหลีใต้ตัดสินให้คู่รักเพศเดียวกันชนะคดี เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567  หลังจากเป็นฝ่ายยื่นฟ้องบริษัทหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (NHIS) ที่ถอดถอนความคุ้มครองหลังจากที่พบว่าพวกเขาเป็น LGBTQ+ โดยทั้งคู่กล่าวว่า เคยได้รับความคุ้มครองมาก่อนแต่ก็ถูกเพิกถอนสิทธิ์ และทาง NHIS ก็อ้างว่าเป็นกระบวนการทำงานที่ผิดพลาดที่ไปให้ความคุ้มครองคู่รักเพศเดียวกัน ส่งผลให้ศาลสูงสุดของเกาหลีใต้ได้ตัดสินว่า คู่รัก LGBTQ+ ต้องได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพเท่าเทียมกับคู่สมรสชาวเกาหลีคนอื่นๆ ถึงแม้ในประเทศเกาหลีใต้จะยังไม่รองรับการแต่งงานของกลุ่ม LGBTQ+ ให้ถูกกฎหมายก็ตาม สื่อท้องถิ่นของเกาหลีใต้รายงานว่า ศาลเกาหลีใต้เองก็ยอมรับว่าอาจจะเป็นเรื่องยากในการผลักดันกฎหมายคู่ชีวิต (กฎหมายที่ให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้) ภายใต้กฎหมายสมรสที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน แต่ถึงอย่างนั้นศาลก็เล็งเห็นว่า

การเพิกถอนสิทธิ์การคุ้มครองประกันของคู่รักเพศเดียวกัน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานรสนิยมทางเพศและขัดต่อผลประโยชน์ของรัฐในหลักประกันสุขภาพแก่พลเรือน

ในขณะเดียวกันเมื่อต้นปี 2564 มีกรณีคนข้ามเพศเลือกจบชีวิตตนเอง หลังจากที่เขาเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศในไทย การเป็นหญิงข้ามเพศทำให้เขาโดนกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้จัดเป็นผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ และคณะกรรมการทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ได้มีคำสั่งให้ถูกบังคับปลดประจำการ การเสียชีวิตของเขาได้จุดกระแสเรียกร้องให้รัฐสภาของเกาหลีใต้ผ่านกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อเพศทางเลือก โดยถูกตัดสินว่ากองทัพเกาหลีใต้ควรให้การยอมรับความเป็นหญิงของเขาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเขาได้ยื่นคำร้องของแปลงเพศต่อศาล และส่งรายงานต่อกองทัพแล้วจึงสมควรยอมรับว่าเป็นหญิง

กระบวนการในชั้นศาลก้าวผ่านคำว่า"เพศ"

ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลประเทศเกาหลีใต้นั้นถือเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมโดยพิจารณาไปตามเหตุและผล จะเห็นได้จากกรณีคู่สมรสเพศเดียวกันสามารถยื่นฟ้องและชนะคดี และศาลก็เล็งเห็นว่า การเพิกถอนสิทธิ์การคุ้มครองประกันของคู่รักเพศเดียวกันถือเป็นการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานรสนิยมทางเพศ หรือการตัดสินให้ทหารหญิงข้ามเพศชนะคดี เช่นเดียวการรองรับเพศสภาพตามกฎหมายก็ถือเป็นก้าวสำคัญเพื่อสิทธิของคนข้ามเพศ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 คำตัดสินของศาลฎีกาในเกาหลีใต้ว่าด้วยเรื่องการมีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะไม่ควรเป็นเหตุผลที่จะปฏิเสธการรับรองเพศตามกฎหมายของคนข้ามเพศในทันที ศาลเน้นย้ำว่าบุคคลข้ามเพศมีสิทธิที่จะได้รับการรับรองทางกฎหมายตามอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งในเกาหลีใต้ยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมการรองรับเพศสภาพตามกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องยื่นขอการรับรองเพศสภาพทางกฎหมายผ่านศาลตามหลักเกณฑ์ “Guidelines for the Handling of Petition for Legal Sex Change Permit of Transgender People” ที่ได้รับการรับรองจากศาลฎีกาในปี 2549

การเคลื่อนไหวต่อต้าน LGBTQ+ ในเกาหลีใต้ กับกฎหมายที่ยังไปไม่ถึง

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีความอนุรักษ์นิยมสูง อะไรที่ผิดไปจากขนบธรรมเนียมย่อมมีคนไม่เห็นด้วย ถึงแม้ว่าการรักเพศเดียวกันจะไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายในสังคมเกาหลีใต้ แต่การได้รับการยอมรับของกลุ่ม LGBTQ+ ยังมีน้อย ทั้งการเคลื่อนไหวต่อต้านที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่อดีตประธานาธิบดีอย่าง มุน แจอิน ที่เคยออกมาบอกว่าอยากผลักดันการคุ้มครองสิทธิคนในชุมชน LGBTQ+ ก็โดนกลุ่มคนที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นศาสนาที่คนเกาหลีส่วนใหญ่นับถือมากที่สุดในเกาหลีออกมาต่อต้าน ทำให้เขาต้องถอยออกมา อย่างไรก็ตามเกาหลีใต้ก็เคยเสนอร่างกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ครอบคลุมชุมกลุ่มน้อยและผู้ถูกเลือกปฏิบัติต่างๆ อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้ก็ยังไม่สามารถผ่านได้ แม้ว่าจะได้รับร่างกฎหมายดังกล่าวถึง 11 ฉบับนับตั้งแต่ปี 2549 ถึงแม้การนับถือศาสนาในเกาหลีจะลดน้อยลง แต่การเคลื่อนไหวต่อต้านยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการคุกคามนักกิจกรรมที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ หรือการตะโกนด่าทอคนในม็อบเควียร์ เขียนข้อความภาษาอังกฤษแสดงถึงการต่อต้านกลุ่ม LGBTQ+ ในขณะเดียวกันก็นับเป็นอีกก้าวสำคัญในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศสำหรับเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 หลังมี สส. ยื่นเสนอร่างกฎหมายให้คนเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ แม้จะมีการคาดการณ์ว่ากฎหมายดังกล่าวอาจจะไม่ผ่านการรับรอง แต่ก็นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของเกาหลีใต้ที่จะมีการพูดถึงประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสภา

 

อ้างอิง

https://www.thaipbs.or.th/news/content/324822

https://themomentum.co/gender-southkorea-homophobia/

https://www.amnesty.or.th/latest/news/1059/

https://asialink.unimelb.edu.au/insights/why-south-korea-cant-pass-anti-discrimination-laws

https://thematter.co/brief/205076/205076#goog_rewarded

https://thestandard.co/lgbtqian-rights-in-south-korea/

https://mgronline.com/around/detail/9640000099359

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related