เลื่อนไปไม่มีกำหนด! รมว.แรงงาน ขออภัยปรับค่าแรง 400 บาทไม่ทัน 1 ต.ค. นี้ ตั้งแต่ปี 55 ขึ้นค่าแรงเฉลี่ยปีละ 8 บาท ย้ำเข้าใจความลำบากของผู้ใช้แรงงาน แต่รัฐบาลต้องสร้างความสมดุลระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายที่รัฐบาลทั่วโลกใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ สำหรับประเทศไทยค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดครั้งแรกในปี 2516 และขยายพื้นที่บังคับใช้ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศในปีต่อมา โดยแต่ละจังหวัดมีการค่อยๆ ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาอย่างต่อเนื่อง
การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปี 2555-2556 โดยรัฐบาลประกาศให้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในอัตรา 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ เมื่อต้นปี 2567 นี้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในอัตรา 330–370 บาทต่อวัน และในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มมีมาตรการและแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 รัฐบาลได้ประกาศแนวทางในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันทุกประเภทกิจการทั่วประเทศ เพื่อที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567
ล่าสุดวันที่ 23 กันยายน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 67 ว่า นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ให้รับทราบแล้วว่านายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย เกษียณอายุราชการ ไม่ได้เป็นตัวแทนแล้ว จึงต้องรอให้แบงก์ชาติส่งหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร และส่งผู้แทนคนใหม่เข้ามา เพื่อแต่งตั้งใหม่ ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมบอร์ดค่าจ้างได้ เพราะสัดส่วนคณะกรรมการค่าจ้างมีไม่ครบ 15 คน ตามกฎหมาย
ต้องขอโทษที่ไม่สามารถทำตามที่สัญญาได้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ แต่ยืนยัน จะเดินหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถึงแม้รัฐบาล น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ประกาศเป็นนโยบาย เพราะตระหนักดีถึงความลำบากของผู้ใช้แรงงาน แต่รัฐบาลจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หาค่าจ้างในอัตราที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกฝ่ายเดินหน้าต่อไปได้
เป็นเวลา 12 ปีแล้ว หลังจากมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ในปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ค่าจ้างก็ยังขึ้นไม่ถึง 100 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 8 บาท กระทรวงแรงงานไม่อยากกดค่าจ้างให้ต่ำ ทุกคนมีครอบครัว จำเป็นต้องใช้จ่าย แต่ต้องดูฝั่งนายจ้างว่า ไหวหรือไม่ในการจ่ายค่าแรงตามที่ผู้ใช้แรงงานต้องการ สิ่งเหล่านี้สำคัญกระทรวงแรงงานก็ลำบากใจ อยู่ตรงกลาง อยากให้ทั้งสองฝ่ายเดินหน้า แต่มั่นใจว่า หากหันหน้ามาคุยกัน สุดท้ายก็จะเดินไปได้ด้วยกัน
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2567 ที่กระทรวงแรงงาน มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ่าง หรือไตรภาคี) ครั้งที่ 8 เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยมีนายไพโรจน์ โชตสิกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ซึ่งมีวาระการพิจารณา เรื่องการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เป็นรอบที่ 3 ของปี 2567 ปรากฏว่าในส่วนขององค์ประชุม กรรมการ 3 ฝ่ายนั้น ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐ เข้าร่วมครบทั้ง 10 คน ขณะที่ฝ่ายนายจ้างไม่มีคนเข้าร่วม ทำให้ที่ประชุมไม่สามารถพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ ประธานที่ประชุมได้มีการนัดหมายประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 20 ก.ย.67 นี้ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 82
นายไพโรจน์ กล่าวว่าครั้งนี้ไม่เรียกว่าการประชุมล่ม แค่ไม่ครบองค์ประชุม จึงแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ปัจจุบันมีกิจการประเภทไหนบ้างที่มีการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเกิน 400 บาท ถ้ามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใครจะได้ประโยชน์ ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมพบว่า จะมีแรงงานไทยได้ประโยชน์ประมาณ 3 ล้านคน แรงงานต่างด้วยประมาณ 1 ล้านคน นอกจากนี้ ยังดูกิจการไซต์แอล หรือลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป
ด้าน นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ไม่ได้ประชุมเพราะฝ่ายนายจ้างไม่เข้าประชุม ถือว่าการประชุมล่ม เพราะไม่ครบองค์ประชุม แต่ได้มีการพูดคุยกันนอกรอบ คุยเรื่องการปรับอัตราค่าจ้าง และมีแนวทางของสูตร และภาวะเศรษฐกิจ เพราะเราคุยอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะว่ามากันไม่ครบ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังมีหวังอยู่เหมือนเดิมแม้ว่านายจ้างจะไม่มา ซึ่งครั้งถัดไปประธานฯ เรียกประชุมใหม่ตามกฎหมายภายใน 15 วัน ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 82 และโดยกำหนดในวันที่ 20 ก.ย.67 นี้
ขณะที่นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ผมไม่ว่าง แล้วนายจ้างคนอื่นก็ไม่ว่าง เป็นการไม่ว่างตรงกัน คือ การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างนั้น ปกติจะนัดทุกวันพุธที่ 2 ของเดือน ในช่วงเช้าก็ทำอย่างนี้มาตลอด ถ้าจะเลื่อนนัดกันใหม่ก็ต้องกำหนดให้ องค์ประชุม ทุกคนสามารถเข้าร่วมพร้อมกันได้ แต่จริงๆ แล้วมันต้องไม่เลื่อน ปลัดกระทรวงมีรองปลัดฯ ตั้งหลายคน ก็สามารถให้รองปลัดเข้าแทนได้ แล้วทำไม ถึงไม่ให้เข้าฟังให้คนอื่นก็พร้อมอยู่แล้ว ในวันพุธที่ 2 ของเดือน ทำไม ต้องเลือกเอาตามตัวเองไม่ได้
พอมารอบที่ 2 ในสัปดาห์ การประชุมบอร์ดค่าจ้างครั้งที่ 9/2567 (วันที่ 20 ก.ย.2567) พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งที่ 3 ในรอบปี 2567 กรรมการฝ่ายนายจ้างมาครบ แต่กรรมการฝ่ายรัฐบาลกลับมาเพียงคนเดียว นั่น คือ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นประธาน ส่วนที่เหลืออีก 4 คนหายตัว (บางคนมาแถวกระทรวงแรงงาน แต่ไม่เข้าร่วมประชุม) เช่นเดียวกับกรรมการฝ่ายลูกจ้างที่มาเพียง 3 คน ส่วนอีก 2 คน ติดต่อไม่ได้ เมื่อมากันไม่ครบองค์ประชุมก็ไม่สามารถลงมติปรับตัวเลขอัตราค่าจ้างรอบใหม่ได้ แรงงานต้องรอต่อไป
ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายด้าน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในมิติเชิงโอกาสและมิติเชิงเศรษฐกิจ ค่าจ้างที่แท้จริงนั้นไม่ได้มีการเติบโตมากนักในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นปัญหาที่สำคัญและต้องการการแก้ไข ที่ผ่านมาช่วงที่ค่าจ้างปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็มักจะมาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นหลัก หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง ก็น่าจะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าของแรงงานในเรื่องรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
การแก้ปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งผลที่ไม่คาดคิดในมิติอื่นๆ เช่น ธุรกิจขนาดเล็กอาจจะปิดตัวลง และแรงงานมีการโยกย้ายจากธุรกิจขนาดเล็กไปยังธุรกิจขนาดใหญ่ หรือหากรัฐจำเป็นต้องออกมาตรการอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็อาจจะส่งผลในวงกว้างได้ ดังนั้นชุดนโยบายที่จะมาแก้ปัญหารายได้ไม่เพียงพอ ควรจะมีการมองรอบด้านและแก้ทั้งปัญหาระยะสั้นและระยาวไปพร้อมๆ กัน
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวก่อนเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ขณะนี้สะดุดไม่สามารถดำเนินการได้ทันวันที่ 1 ต.ค.นี้ นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวต้องมีการประชุมกันอีก
เมื่อถามว่า ยังไงต้องผลักดันให้ได้ 400 บาทภายในปีนี้ใช่หรือไม่ นายกฯอิ๊งค์ พยักหน้ารับ และกล่าวว่า มันควรจะเป็นอย่างนั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง