svasdssvasds

วันแรงงาน 2567 รัฐบาลย้ำปรับค่าแรงขั้นต่ำ 77 จังหวัด 400 บาท แตะ 600 บาท ปี 70

วันแรงงาน 2567 รัฐบาลย้ำปรับค่าแรงขั้นต่ำ 77 จังหวัด 400 บาท แตะ 600 บาท ปี 70

รัฐบาลจัดวันแรงงานแห่งชาติ ลั่น 1 ต.ค.67 ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 77 จังหวัด 400 บาท เร่งคุยเจ้าของกิจการปลดล็อคปัญหา ตั้งเป้าเดินตามนโยบายรัฐบาล ค่าแรงแตะ 600 บาท ปี 70

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2567 ณ บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยมีการรับมอบข้อเรียกร้อง 10 ข้อ จากตัวแทนผู้ใช้แรงงาน 

โดยนายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะเรื่องการปรับอัตราค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศล่าช้า ต้องได้รับความเห็นชอบจากหลายฝ่าย ต้องใช้การโน้มน้าว การอธิบาย แต่การมุ่งมั่นของรัฐบาล โดยนายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานว่า จะต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทให้ได้ เพราะมีความสำคัญเช่นเดียวกับดิจิทัลวอลเล็ต และเราต้องการเห็นสวัสดิภาพสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน แสดงความยินดีล่วงหน้าที่จะได้รับขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม  เนื่องในวันแรงงานนายกฯ และรัฐบาลขอให้ผู้ใช้แรงงานมีกำลังกายกำลังใจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมไทยให้ก้าวหน้า เพราะเราคือทีมเดียวกัน ในการยกระดับแรงงานและยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย และของประเทศ 

 

 

 

 

 

ขณะที่นายพิพัฒน์ รัชกิจปราการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  กล่าวว่า ว่าวันนี้คือวันของพวกเราผู้ใช้แรงงานทุกคน ปีนี้มีการจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ และได้สรุปหลายๆเรื่อง ที่จะมีการประกาศออกมาในอนาคต และมีการลงราชกิจจารุเบกษา เมื่อคืนนี้ คือ การคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน ซึ่งได้ประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อย สิ่งที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล คือ ต้องได้ค่าแรงขั้นค่ำ 400 บาท ตามได้ประกาศไปแล้ว จะใช้ได้วันที่ 1 ต.ค.2567 นี้

ส่วนเหตุผลที่ล่าช้าเนื่องจากต้องดูว่าวิชาชีพไหนที่พร้อมและไม่พร้อมเหลือเวลาต่อจากนี้ 5-6 เดือน ก็ต้องติดต่อประสานงานกับนายจ้างเจ้าของกิจการว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรและเมื่อประกาศใช้ไปแล้วก็ต้องให้ความสำคัญกับ  SMEs ให้เดินต่อไปได้เช่นกัน นอกจากนี้จะมีการเตรียมการพัฒนาทักษะต่างๆให้กับแรงงานเพื่อเพื่อตอบโจทย์กับ ความต้องการของนายจ้าง

ปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกอาชีพ เป็นภาพรวมเท่ากัน พร้อมกันทั่วประเทศ ส่วนอาชีพใดที่ไม่ไหวก็ให้แจ้งรัฐบาลมาเพื่อจะได้เข้าไปช่วยสนับสนุนให้เดินต่อไปได้ เราจะได้ค่าแรงขั้นต่ำในความเท่าเทียมกันในทุกจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดปัตตานี นราธิวาส เพราะที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่ามีการปรับค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดเพียงแค่ 2 บาท

ฉะนั้นการปรับครั้งนี้จะปรับให้อยู่ในอัตราส่วนเท่าเทียมกัน และหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2567 จะต้องทำการศึกษาการที่เราจะก้าวขึ้นไปสู่ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทในปี 2570 จะต้องทำอย่างไร และสิ่งที่ต้องทำเป็นก้าวแรกคือเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ซึ่งสิ่งที่แรงงานได้รับฟังในวันนี้ต้องมีการทำความเข้าใจ และขอให้สบายใจได้ว่านโยบายของรัฐบาล เราได้เริ่มปฏิบัติตามนโยบายและทำในเบื้องต้นคือ 400 บาท ส่วน 600 บาท ยังมีเวลาอีก 2-3 ปี กว่าะถึงปี 2570 

 

 

ส่วนถามว่ามีความกังวลหรือไม่ ตลอดระยะ 8 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้มีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำในวันที่ 1มกราคม 2567 เพราะเรามีความกังวลจึงต้องมีการลงในรายละเอียดและต้องประเมินดูว่าเมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศผ่านไปแล้วเกินกว่า6 เดือน เศรษฐกิจของเราดีในภาคส่วนใดบ้าง และการประกาศนำร่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทใน 10 จังหวัด เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา และยอมรับว่ามีความกังวลตนจึงมีการเดินทางไปหารือผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการซึ่งเป็นนักลงทุนชาวต่างชาติรวมถึงผู้ประกอบการในประเทศไทย ว่าสิ่งที่มีการประกาศเพิ่มขึ้นนี้รับไหวหรือไม่ และต้องการให้รัฐบาลช่วยในด้านใดบ้าง ซึ่งตนรวมถึงปลัดกระทรวงแรงงานและข้าราชการในกระทรวงแรงงานต่างก็ได้มีการลงไปหาข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนนี้

‘สุพันธุ์’ แนะรัฐบาลแบ่งเงินดิจิทัลแสนล้านทำกองทุนฟื้นฟู SMEs 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า เห็นด้วยที่ต้องขึ้นค่าแรงเพราะวันนี้ค่าแรงของแรงงานไทยต่ำจริงๆ แถมค่าครองชีพยังสูง ค่าน้ำมัน-ค่าไฟฟ้าแพง ทำให้คนเหลือเงินในกระเป๋าน้อย แต่ถ้าต้องการให้ค่าแรงดีอย่างยั่งยืน เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอุปสงค์อุปทานที่ต้องทำให้แข็งแรงทั้งคู่ ไม่เช่นนั้นจะเกิดอุปทานส่วนเกิน (Over Supply) และอุปสงค์ก็จะพังตาม จึงต้องดำเนินนโยบายหลายด้านไปพร้อมกันเพื่อให้คนเหลือเงินในกระเป๋ามากขึ้น 

การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่ เงินของลูกจ้างก็น้อยลงเพราะค่าใช้จ่ายสูง แต่ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็รายได้ไม่ดี การขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียวจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ดังนั้นต้องทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้สูงตามไปด้วย พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการลงด้วยการแก้กฎหมายให้ทำมาหากินสะดวกมากขึ้น เพิ่มวงเงินทุน และหาตลาดเพิ่ม โดยปัจจัยสำคัญคือเอสเอ็มอี (SMEs) ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินซื้อวัตถุดิบ

ที่ผ่านมารัฐบาลก็เน้นแต่การแก้หนี้ แต่ไม่มีเรื่องเพิ่มวงเงิน นายุสพันธุ์ เสนอว่า รัฐบาลควรตั้งกองทุนสำหรับ SMEs ด้วยวงเงิน 100,000 ล้านบาท อาจจะลดงบประมาณจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจาก 500,000 ล้านบาทเหลือ 400,000 ล้านบาท แบ่งมาช่วยผู้ประกอบการ หรือเป็นการขายพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเอาเงินมาอัดฉีดเศรษฐกิจการจ้างงานผ่านผู้ประกอบการและบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเพื่อให้ SMEs เข้าถึงเงินได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นหนี้เครดิตบูโร รหัส 21 ที่ไม่เคยเป็นหนี้เสียก่อนโควิด ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีกำลังแต่ไม่มีทุน ถ้าได้ทุนพวกเขาก็จะกลับมาแข็งแกร่งได้ง่าย เมื่อ SMEs เติบโตแข็งแรง การจ้างงานก็จะโตขึ้น และเศรษฐกิจระดับฐานรากก็จะมั่นคง

ทั้งนี้ นายสุพันธุ์ ยังคาดการณ์ว่า หากรัฐบาลใช้งบประมาณเข้าไปอัดฉีดให้กลุ่ม SMEs เหล่านี้ฟื้นตัวแล้วให้พวกเขาเข้าสู่ระบบภาษี ภายใน 5 ปีกองทุนนี้ก็จะสามารถเรียกคืนเงินต้นได้หมดและยังได้ปรับปรุงระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน นายสุพันธุ์ กล่าวว่า การขึ้นเงินเดือนต้องทำไปพร้อมกับการเพิ่มทักษะของลูกจ้าง (Reskill-Upskill) เพื่อเตรียมรับมือกับยุคที่ AI เข้ามาทำงานได้แทนคน ด้วยการจัดอบรมผ่านภาครัฐหรือผ่านนายจ้าง แล้วนายจ้างค่อยเอาต้นทุนการอบรมส่วนนี้ไปลดหย่อนภาษีก็ได้ แต่ต้องทำให้แรงงานทุกคนเข้าถึงได้ เพราะหากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียว แต่เศรษฐกิจไม่ดี แรงงานไม่มีฝีมือ สุดท้ายก็จะมีแต่ค่าจ้าง ไม่มีคนจ้างงาน แรงงานก็จะกลับตกงานมากขึ้น แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือแรงงานอย่างยั่งยืน

“ชัยธวัช” ถามรัฐบาลขึ้นค่าแรงกี่โมง มองปรับ 400 ทบางพื้นที่ ทำผู้ใช้แรงงานผิดหวัง

พรรคก้าวไกล นำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ดูแลปีกแรงงาน นำสหภาพแรงงานพรรคก้าวไกล เข้าร่วมเดินขบวนมนกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ และเนื่องในวันกรรมการสากล เพื่อแสดงพลังเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการที่ดีของผู้ใช้แรงงาน

โดยเริ่มเดินขบวน ตั้งแต่ แยก จปร. ถนนราชดำเดินนอก มายังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมทำกิจกรรมในการยื่นข้อเรียกร้อง10ข้อต่อรัฐบาลร่วมกับคณะผู้จัดงานของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการเปิดงาน

ช่วงหนึ่งบนรถขยายเสียง ระหว่างเคลื่อนขบวน นายชัยธวัช ได้ปราศรับด้วยคำถามว่า “รัฐบาลขึ้นค่าแรงกี่โมง”

โดยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล  บอกถึงกรณีการปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาล ว่า วันนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ และเป็นวันกรรมกรสากล ที่ผู้ใช้แรงงานออกมารวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการที่ดี แต่น่าเสียดาย เพราะควรจะเป็นวันที่รัฐบาลน่าจะมีคำตอบที่ชัดเจน เรื่องการปรับขึ้นค่าแรง เพราะได้รอคอยรัฐบาลใหม่มา 7-8เดือนแล้ว ว่าจะมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องสิทธิแรงงาน สวัสดิการแรงงาน รวมถึงเรื่องค่าแรงอย่างไร และที่ผ่านมาก็ไม่มีความชัดเจน มีแต่โยนก้อนหินถามทางไปเรื่อยๆ 

ซึ่งที่มีกระแสข่าวว่าวันนี้จะมีของขวัญในการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ แต่ล่าสุดรัฐมนตรีก็ออกมาปฏิเสธข่าว และดูเหมือนว่าจะยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน ซึ่งสิ่งที่พี่น้องแรงงานกังวลคือจะความชัดเจนในการปรับขึ้นค่าแรงจะเท่าไหร่กันแน่ จะ 400 บาทแบบมีเงื่อนไขหรือไม่ เพราะการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทบางส่วนนั้น โดยเฉพาะพื้นที่โรงแรม ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์อะไร และทำให้ผู้ใช้แรงงานผิดหวัง จึงต้องการความชัดเจนจริงๆ และต้องยอมรับว่า กว่า10ปีแล้วที่ค่าครองชีพขึ้นเร็วมาก แต่ค่าแรงไม่ขึ้นตาม ซึ่งส่งผลกระทบดับเศรษฐกิตในประเทศ เมื่อคนทำงานมีค่าแรงไม่เพียงพอ กำลังซื้อก็ไม่เกิด 

ทั้งนี้แม้จะมีความว่า การขึ้นค่าแรงอาจจะไปกระทบกับผู้ประกอบการ ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งก็ต้องทำควบคู่กัน และต้องยอมรับว่า ประเทศไทยควรจะต้องขึ้นค่าแรงแล้ว จะมาคิดว่าประเทศไทยไม่สามารถไปแข่งขันหรือสู้เวียดนามไม่ได้เพราะค่าแรงแพงนั้น ทิศทางของประเทศไทยควรแข่งขันด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและทักษะแรงงาน รวมถึงการดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในช่วงเปลี่ยนผ่าน และหวังว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจนมากกว่านี้

นายชัยธวัช ยังบอกอีกว่า ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลผลักดัน และเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว คือร่างที่มีการเพิ่มวันลาคลอด180วัน ซึ่งเชื่อว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านและรัฐบาล น่าจะผลักดันให้ร่างกฎหมายนี้ ผ่านสภาได้ เพราะการลาคลอดเป็รส่วนหนึ่งที่สำคัญ ในการวางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ต้องการให้คนมีบุตรมากขึ้น ดังนั้นการให้ความสำคัญของสิทธิแม่และเด็ก จะเป้ฯกานกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการกลัาจะมีบุตร

ส่วนร่างกฎหมายอีกฉบับที่ยื่นต่อสภาฯ แล้วคือ ร่างกฎหมายสหภาพแรงงาน เพื่อทดแทนกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ประกาศใช้มากว่า10ปีแล้ว ที่ต้องการให้เกิดการปรับปรุง เพื่อให้เกิดการรับรองสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน และเพิ่มกลไกในการแสวงหาข้อตกลงกับนายจ้างกับลูกจ้างให้เกิดความเป็นธรรม  ซึ่งยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น

ด้านนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล บอกด้วยว่า พรรคก้าวไกลมีประเด็นที่ขับเคลื่อน3ประเด็นหลัก คือ พรบ.คุ้มครองแรงงาน ลาคลอด180วัน / เรื่องการรับรองอนุสัญญาไอโอ98 ว่าด้วยการต่อรอง/พรบ.สหภาพแรงงาน ได้ยื่นต่อสภาไปแล้ว และคาดว่าจะเข้าสู่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเร็วๆนี้

ทั้งนี้ก็อยากให้รัฐบาลรักษาสัญญา ที่เคยสัญญาไว้ ว่าจะดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาททั่วประเทศ ทั้งนี้ก็ติดตามว่ารัฐบาล และกระทรวงแรงงานพูดและทำเหมือนกันหรือไม่ เพราะมีการพูดถึงมาโดยตลอด เรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงโดยเฉพาะ400บาท แต่ก็ปรับขึ้นแต่บางกลุ่มอาชีพเท่านั้น 10 จังหวัด โดยเฉพาะสัดส่วนของโรงแรงทำให้เกิดปัญหา เพราะบางจังหวัดปรับขึ้นเฉพาะตำบล ไม่ครอบคลุม แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ จึงเรียกร้องถ้ามีการปรับค่าข้างขั้นต่ำจริง อยากให้ปรับเท่ากันทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะบางกลุ่มอาชีพ หรือบางสถานประกอบการเท่านั้น

มองว่าค่าแรง 400บาท ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ดังนั้นรัฐบาลต้องดูแลผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการปรับอัตราค่าข้างขั้นต่ำควบคู่กับการปรับสวัสดิการให้กับประชาชนควบคู่กันไป

การทำกิจกรรมวันนี้ ประกอบไปด้วยเครือข่ายแรงงานจากกลุ่มต่างๆทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สภาองค์กรลูกจ้าง16สภา สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ภายใต้คณะกรรมการจัดการวันแรงงานแห่งชาติ

ได้ยื่นข้อเรียกร้องวันแรงงาน ปี 2567 จำนวน 10 ข้อ ต่อรัฐบาล คือ 

  1. รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98  
  2. ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้ง กองทุนประกันความเสี่ยง “เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง
  3. ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น การปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท 
  4. ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน 
  5. ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1  
  6. ให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุ ให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง 
  7. ให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว 
  8. ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น “กรมความปลอดภัยแรงงาน” 
  9. ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง 
  10. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

"ภูมิพัฒน์" โต้ "เซีย" แนะศึกษา กม.แรงงานให้ถี่ถ้วน ย้ำปรับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างมีหลักการ

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่นายเซีย จำปาทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวพาดพิงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ว่าให้ความหวังลมๆ แล้งๆ เรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ว่า นายเซียต้องไปศึกษาให้ดีว่าประเทศไทยใช้กฎหมายอะไรในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ

ดังนั้น ฝ่ายการเมืองหรือ รมว.แรงงาน จึงไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือทำอะไรได้ตามอำเภอใจ อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าจ้างถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล กระทรวงแรงงานจึงได้รับนโยบายมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และมีหน้าที่อธิบายถึงเหตุความจำเป็นให้คณะกรรมการค่าจ้างเข้าใจในจุดนี้ เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น

การให้อำนาจคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณานั้นเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่การโยนบาป เพราะหากไม่ทำตามกฎหมายเชื่อว่านายเซียก็คงหาเหตุมาโจมตีอีกว่า ฝ่ายการเมืองเข้าไปล้วงลูกหรือแทรกแซงทำให้คณะกรรมการไม่มีอิสระ เช่นนี้กระทรวงแรงงานก็ตกเป็นจำเลยของสังคมทั้งขึ้นทั้งล่อง จึงขอความเป็นธรรมด้วย ที่ผ่านมาเราประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงปีละ 1 ครั้ง แต่จากนี้ รมว.พิพัฒน์ ประกาศแล้วว่าสามารถประกาศได้มากกว่านั้นตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ โดยขอให้นายเซีย รู้จักใจเย็นและอย่านำพี่น้องแรงงานมาอ้าง เพื่อเรียกคะแนนให้ตัวเองหรือสร้างความขัดแย้งเพราะคนเหล่านี้เข้าใจดีถึงหลักกฎหมายอยู่แล้ว

ความจริงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะถูกกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามกฎหมายเพื่อนำมาประกอบกัน เช่น อัตราค่าจ้างปัจจุบัน ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน จีดีพีของประเทศ และสภาพเศรษฐกิจสังคม

นอกจากนี้ยังกระจายอำนาจไปยังภูมิภาคผ่านคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดและกรุงเทพฯ รวม 76 คณะ ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีเช่นกัน เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะอัตราค่าจ้างให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยกระทรวงแรงงานมีเป้าหมายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้ และจะปรับขึ้นในปีต่อ ๆ ไป

"ราเมศ" ยก พี่น้องผู้ใช้แรงงาน คือกำลังสำคัญ ชี้รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ สอบตก นโยบายแรงงาน

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ว่าถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงานไทยและผู้ใช้แรงงานทั่วโลก มีความยินดีในวันสำคัญของผู้ใช้แรงงานและผู้ใช้แรงงานคือบุคคลสำคัญที่ร่วมกันสร้างสรรค์ประเทศ ไม่ใช่เป็นแค่เพียงผู้ที่ใช้แรงงานของตนในการสรรค์สร้างสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นพัฒนาขึ้น ในประเทศนี้อย่างมากมายแต่เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองและสังคมให้เจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทุก ๆ ประเทศในโลกรวมทั้งประเทศไทย จึงให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน

ในปีพุทธศักราช 2567 นี้ ขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เข้าใจดีว่าพี่น้องคาดหวังว่ารัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญต่อพี่น้องชาวแรงงานแต่ความเป็นจริงแล้วขณะนี้รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายด้านแรงงานเลย ที่หาเสียงไว้ก็แค่ลมปากที่ไม่สามารถทำได้จริง รัฐบาลสอบตกในเรื่องนี้ แต่พรรคประชาธิปัตย์จะเร่งผลักดันช่วยเหลือแก้ปัญหาให้พี่น้องผู้ประกอบการและพี่น้องผู้ใช้แรงงานผ่านกลไกสภาผู้แทนราษฏรอย่างเต็มที่ และในวันสำคัญนี้ขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานและครอบครัว จงประสบแต่สิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเป็นพลังสำคัญในการสร้างสรรค์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวหน้ารุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป และขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

related