svasdssvasds

สทนช. เตือน 35 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

สทนช. เตือน 35 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

สำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ เตือน 35 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

SHORT CUT

  • สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ พบว่าปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุดได้แก่ สุโขทัย ขอนแก่น สิงห์บุรี จันทบุรี กาญจนบุรี พังงา

  • สทนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 24 – 30 ส.ค. 67

  • ประกาศเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น เตรียมรับมือจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง

สำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ เตือน 35 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

26 สิงหาคม 2567 สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ณ เวลา 7.00 น.

ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุดได้แก่ ภาคเหนือ : สุโขทัย (76 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ขอนแก่น (94 มม.) ภาคกลาง : สิงห์บุรี (54 มม.) ภาคตะวันออก : จันทบุรี (47 มม.) ภาคตะวันตก : กาญจนบุรี (30 มม.) ภาคใต้ : พังงา (146 มม.)

จากแอปพลิเคชัน  National Thaiwater พบว่ามีปริมาณฝนสะสมสูงสุดในภาคใต้ฝั่งตะวันตกที่ จ.พังงา 145.50 มม. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.นครศรีธรรมราช 97 มม. และที่ภาคอีสานตอนบน จ.อุดรธานี 55.40 มม.

โดยสภาพอากาศในวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมที่ตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้นเป็นกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

การคาดการณ์ในช่วงวันที่ 27-28 สิงหาคม 2567 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนเคลื่อนผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศเมียนมา ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบน ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สทนช. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 24 – 30 สิงหาคม 2567 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้

  1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำบริเวณจังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย หนองบัวลำพูน บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสตูล
  2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
  3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง

 

ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ช่วงวันที่ 25-31 สิงหาคม 2567 ขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นและเตรียมรับมือจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณริมแม่น้ำโขง บริเวณ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

สทนช.ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จ.สุโขทัย ปัจจุบันปริมาณน้ำจาก จ.แพร่ ได้ไหลลงมาถึง จ.สุโขทัย และเกิดสถานการณ์น้ำหลากใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง สวรรคโลก ศรีสำโรง และศรีสัชนาลัย 

ปัจจุบันปริมาณน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่าน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนในตัวเมืองสุโขทัยระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่ากำแพงป้องกันตลิ่ง

ทั้งนี้กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเหนือโดยการหน่วงน้ำไว้ที่เหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก และใช้คลองหกบาท คลองยมน่าน แม่น้ำยมสายเก่า และแม่น้ำน่าน ช่วยตัดยอดน้ำหลากก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเมืองสุโขทัย พร้อมควบคุมการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ลงสู่แม่น้ำสายหลัก ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related