SHORT CUT
ศาลฎีกายกฟ้อง "เอ๋ ปารีณา" ’ยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ เตรียมฟ้องกลับ ป.ป.ช.มาตรา 157 ถามกลับเป็นองค์กรอิสระจริงหรือไม่ ลั่นควรยุบ ให้อำนาจชี้มูลเป็นของอัยการ
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 67 ที่ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง สนามหลวง ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดี อม.อธ. 10/2566 ชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ระหว่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จฯ
คำฟ้องสรุปว่าเมื่อวันที่17 ต.ค.65 ว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน 2 รายการ ขอให้ลงโทษตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมาตรา 114 วรรคสอง (1), 167และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาตาม พรป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 81 ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ
คดีนี้เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2566 ที่ผ่านมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มติเสียงข้างมาก เห็นว่า สำหรับรายการเงินให้กู้ยืม นาย ป. ยอมรับว่า ผู้ถูกกล่าวหาให้เงินสนับสนุนในการหาเสียงเลือกตั้งเเละทำสัญญากู้ยืมไม่ได้เป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าสัญญาเงินกู้ดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิปลอม หรือมีการสมคบกันทำสัญญาเงินกู้ขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและ หนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ ส่วนรายการพระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ส้นด้าย และพระสมเด็จนางพญาพิษณุโลก พิมพ์อกนูนใหญ่ศาลมติเสียงข้างมาก เห็นว่า นาย อ. อดีตสามีของ เป็นเจ้าของพระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย (กรุใหม่) และพระสมเด็จนางพญา พิษณุโลก พิมพ์อกนูนใหญ่ ซึ่งเป็นองค์เดียวกับที่แสดงในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของคู่สมรส เนื่องจากนาย อ.กำลังจะหย่ากับผู้ถูกกล่าวหา นาย อ. เคยให้ผู้ถูกกล่าวหายืมใส่พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย (กรุเก่า) และพระนางกำแพง
หลังจากหย่ากันผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้คืนให้ พระเครื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาครอบครองเป็นคนละองค์กับพระเครื่องสององค์ดังกล่าว และผู้ถูกกล่าวหาให้ถ้อยคำว่าหลังจดทะเบียนหย่าผู้ถูกกล่าวหาครอบครองพระเครื่อง สององค์เรื่อยมาเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของพระเครื่องทั้งสององค์ที่อยู่กับตนและเป็นองค์เดียวกับที่เคยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจมาโดยตลอดว่าพระเครื่องทั้งสององค์ที่ได้รับมาจากนาย อ. ระหว่างสมรสและอยู่ในความครอบครองเรื่อยมา พฤติกรณ์แห่งคดีจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาแสดงรายการพระเครื่องไม่ตรงกับที่มีอยู่จริงและระบุราคาสูงกว่าความเป็นจริง พิพากษายกคำร้อง
ในวันนี้ น.ส.ปารีณา เดินทางมาศาลพร้อมทนายความเเละบุตรชาย โดยองค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง
ภายหลังอ่านคำพิพากษา นายทิวา การกระสัง ทนายความของนางสาวปารีณา กล่าวว่า ป.ป.ช. มีการอุทธรณ์ใน 2 ประเด็น ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า น.ส.ปารีณา จะให้การในชั้นการสอบสวนของ ป.ป.ช. ที่แตกต่างกันว่า มีการกู้เงินจริง เพราะลูกหนี้ยอมรับ ว่าน.ส.ปารีณา ได้ช่วยเหลือในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2555 จึงมีการกู้เงินจำนวน 10 ล้านบาท แต่ใช้คืนไม่หมด จึงมีการทำสัญญาในปี 2561 ซึ่งถือว่าเป็นมูลเหตุของคดีนี้ โดยในที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาไม่ได้เชื่อคำอุทธรณ์ของ ป.ป.ช.
ส่วนกรณีครอบครองพระ 2 องค์ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกัน แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า น.ส.ปารีณาไม่มีความรู้เรื่องพระเครื่อง จึงเชื่อได้ว่าพระ 2 องค์ดังกล่าว เป็นพระองค์เดียวกัน ถึงแม้กรอบพระจะแตกต่างกัน แต่การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นการตีราคาพระ ไม่ได้ตีราคากรอบพระ จึงเชื่อได้ว่าน.ส.ปารีณาไม่ได้มีเจตนาจงใจ ที่จะไม่แสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน หรือที่มาของทรัพย์สิน พร้อมกับย้ำว่าศาลฎีกาในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงมีคำวินิจฉัยยกคำร้องอุทธรณ์ของ ป.ป.ช. นอกจากนี้จะมีการฟ้องกลับในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 เนื่องจากการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ผู้ที่แสดงเป็นเท็จต้องมีเจตนาพิเศษคือ การจงใจที่จะปกปิดทรัพย์สินไม่ให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ทั้งยังไม่เชื่อเอกสารที่มีการยื่นโต้แย้งไป อีกทั้งยังยืนยันว่าเรามีเจตนาพิเศษที่จะปกปิด ดังนั้นจึงมีสิทธิฟ้องเรื่องการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยหลังจากนี้จะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวกับ น.ส.ปารีณาอีกครั้ง
ในขณะที่นางสาวปารีณา ระบุว่า วันนี้รู้สึกดีใจ และรู้สึกว่าวันนี้ยังมีข้อบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม และเรื่องขององค์กรอิสระที่ไม่มีความเป็นอิสระ ซึ่งมีการใช้หน้าที่เกินขอบเขตของกฎหมายกฎหมาย โดยในวันนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังมีที่พึ่งหวังคือศาลฎีกา ที่ยังสามารถใช้ต่อสู้คดี เพื่อหาความยุติธรรม
เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะมีการดำเนินการทางกฎหมาย ฟ้องกลับ ป.ป.ช.หรือไม่ น.ส.ปารีณาระบุว่า จะมีการฟ้องกลับอย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้กับผู้อื่น เพราะการกู้ยืมเงินครั้งนี้ มีสัญญาเงินกู้ บ้านและที่ดินค้ำประกัน มีการเซ็นเช็ก เพื่อชำระ และเรื่องของพระ ก็มีฎีกาออกมาแล้ว ว่าเป็นเรื่องของความพอใจ และยืนยันว่าส่วนตัวตนไม่เคยครอบครองพระมาก่อนแต่งงาน แต่หลังจากนั้นอดีตสามีได้มอบพระให้กับตน ยืนยันว่าตนไม่ใช่เซียนพระที่มีความรู้เรื่องพระ เพียงแต่มีสามีที่เป็นเซียนพระเท่านั้น และเคยมอบพระให้กับตน พร้อมยืนยันว่ามีความบริสุทธิ์ ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมระบุว่า ตนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ถูกชี้มูลความผิดในครั้งนี้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นการทำเกินขอบเขตอำนาจของกฎหมาย และก่อนที่จะถูก ป.ป.ช. ชี้มูลทนายความตนได้ทำหนังสือไปค้าน และขอยื่นอุทธรณ์แล้วว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย แต่ ป.ป.ช. ยังคงเดินหน้าชี้มูลความผิดตน
ทั้งนี้นางสาวปารีณา ได้กล่าวขอบคุณศาลฎีกา ที่ได้ให้ความยุติธรรม และเตรียมฟ้อง ป.ป.ช.ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ สิ่งที่ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการกับตนเองนั้น ตนมองว่าเป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ วันนี้คนจำนวนมากถูกชี้มูลความผิดอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ได้ต่อสู้ ซึ่งตนรู้สึกว่า กฎหมายธรรมนูญปี 60 ได้ให้อำนาจกับ ป.ป.ช. มากเกิน และหลงอำนาจมากเกินไปหรือไม่ หากเมื่อองค์กรอิสระทำผิดพลาด ก็ต้องถูกดำเนินการตรวจสอบด้วยเช่นกัน ว่าพฤติกรรมต่าง ๆ การใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่
ส่วนกรณีที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ล่ารายชื่อประชาชน เพื่อถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช.บางท่านนั้น น.ส.ปารีณา มองว่า เป็นความเห็นของประชาชนกลุ่มหนึ่ง แต่ตนมองว่าควรจะยุบ ป.ป.ช.ไปเลย เพราะไม่รู้ว่าจะมีไว้ทำไม ซึ่งความรู้มีไม่เท่ากับอัยการ และ ป.ป.ช. ไม่มีความรู้ด้วยกฎหมาย ไม่ได้เรียนนิติศาสตร์หรือไม่ อย่างไร จึงบอกว่าควรยุบ ป.ป.ช. และให้อำนาจชี้มูลกับทางอัยการ จะดีกว่าหรือไม่ ซึ่งวันนี้ ป.ป.ช. ก็เป็นองค์กรอิสระ แต่ตั้งคำถามว่าเป็นอิสระจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตามนางสาวปารีณา เคยถูกศาลฎีกาพิพากษาตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี ไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 กรณีรุกที่ป่าสงวนครอบครอบที่ดินโดยไม่คืนที่ดินสู่การปฏิรูป จำนวน 711 ไร่ทำฟาร์มไก่ใน จ.ราชบุรี จากคำร้องของ ป.ป.ช.ฐานกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561
เมื่อเวลา 10.00น. ของวันที่ 30 พ.ค. ศาลฎีกาโดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ได้อ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.10/2567 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ร้อง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ผู้ถูกกล่าวหา
คดีนี้ ผู้ร้องยืนคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจงใจยืนบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนีสินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา114 วรรคสอง (1) ขอให้ลงโทษตาม มาตรา 167 และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาตาม มาตรา 81
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้ว พิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 22 พ.ย. 66 ขอให้ลงโทษ ผู้ถูกกล่าวหาตามคำร้อง
ศาลฎีกาโดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำสั่งรับอุทธรณ์วันที่ 15 ก.พ. 67 สำหรับรายการเงินให้กู้ยืมรายนาย ป องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาใช้สิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่นาย ป ข้อหาฉ้อโกงและออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตั้งแต่ก่อนที่จะมีผู้ยื่นหนังสือขอให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบและเปิดเผยรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาตามที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินครั้งนี้ ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ผู้ถูกกล่าวหายังใช้สิทธิทางแพ่งฟ้องเรียกเงินตามสัญญาเงินกู้จากนาย ป โดยในคดีดังกล่าวนาย ป และนาย ส เบิกความและตอบคำถามค้านไว้ว่าผู้ถูกกล่าวหาให้เงินสนับสนุนนาย ป ในการหาเสียงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลเมื่อประมาณปี2555 และได้ความจากผู้ถูกกล่าวหากับนาย อ เบิกความทำนองเดียวกันเกี่ยวกับความเป็นมาของมูลหนี้ตามสัญญาเงินกู้ว่า มีมูลหนี้เดิมที่ผูกพันกันมาก่อน ทั้งนาย ป ลงลายมือชื่อในสัญญาเงินกู้โดยไม่มีการข่มขู่บังคับถือว่ายินยอมลงลายมือชื่อในสัญญาเงินกู้ด้วยความสมัครใจ พฤติการณ์ของนาย ป จึงสอดคล้องกับลำดับเหตุการณ์และทางนำสืบเกี่ยวกับความเป็นมาของมูลหนี้ของผู้ถูกกล่าวหาอย่างสมเหตุสมผล ส่วนถ้อยคำของผู้ถูกกล่าวหาในชั้นไต่สวนของผู้ร้องและคำให้การของ ผู้ถูกกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนก็ไม่เป็นข้อพิรุธถึงขนาดต้องนำมารับฟังผูกพันผู้ถูกกล่าวหาเป็นเด็ดขาดไม่พฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาฟ้องนาย ป เป็นคดีแพ่งเรียกเงินตามสัญญาเงินกู้มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และการที่นาย ป ยินยอมลงลายมือชื่อในสัญญาเงินกู้และเช็คแล้วส่งมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาไว้พร้อมกับโฉนดที่ดิน ซึ่งหากเห็นว่าไม่มีความรับผิดต่อกันจริงย่อมเป็นเรื่องผิดวิสัยของวิญญูชนที่ยินยอมส่งมอบทรัพย์สินหรือกระทำการใดในลักษณะประกันการชำระหนี้ไว้แก่ผู้ถูกกล่าวหา
พฤติการณ์แห่งคดีย่อมมีเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจว่าตนมีสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามสัญญาเงินกู้ได้ ส่วนที่ว่ามูลหนี้ตามสัญญาเงินกู้จะบังคับได้หรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องทางแพ่งที่ต้องพิจารณาแยกต่างหาก จึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินส่วนนี้
สำหรับรายการพระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย และพระสมเด็จนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่นั้นองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบพระเครื่องที่ระบุในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกับ ที่ผู้ถูกกล่าวหานำมาแสดงมีลักษณะและรูปทรงเดียวกัน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหายืนยันตั้งแต่ชั้นไต่สวนของผู้ร้องว่าพระเครื่องทั้งสององค์ที่ระบุในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นพระเครื่องที่นาย อ มอบให้ระหว่างสมรสโดยแจ้งว่าเป็นพระเครื่องใดกับแจ้งราคาให้ทราบ ส่วนกรอบพระเครื่องแม้มีความแตกต่างกัน แต่ตาม บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบมุ่งเน้นการแสดงทรัพย์สินในส่วนองค์พระเป็นสำคัญ กรอบพระเครื่องที่แตกต่างกันมิใช่สิ่งยืนยันแน่ชัดว่าผู้ถูกกล่าวหาต้องรู้ว่าพระเครื่องที่อยู่ในกรอบนั้นเป็นคนละองค์กัน นอกจากนี้ นาย อ ให้ถ้อยคำต่อผู้ร้องและเบิกความว่า เคยให้ผู้ถูกกล่าวหายืมใส่พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้ายที่เคยแสดงไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินในส่วนคู่สมรสในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2556 และพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีเมื่อปี2557 ภายหลังจดทะเบียนหย่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้คืนพระเครื่องให้ นอกจากนี้ ตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวในส่วนทรัพย์สินของคู่สมรสมีทรัพย์สินที่เป็นพระเครื่องอื่นอีกหลายรายการ รวมถึงมีพระสมเด็จที่มีรูปทรงพิมพ์คล้ายกันอยู่อีก ยิ่งสนับสนุนให้เชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจว่าพระเครื่องที่ตนครอบครองคือพระเครื่องทั้งสององค์ที่ระบุในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงรายการพระเครื่องทั้งสององค์ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินมาโดยตลอด ทั้งผู้ถูกกล่าวหายินยอมส่งมอบพระเครื่องที่ตนครอบครองให้ผู้ร้องตรวจสอบด้วยดี โดยไม่ปรากฏมูลเหตุจูงใจใดให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องปกปิดทรัพย์สินหรือแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ
เชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจว่าพระเครื่องที่ตนครอบครองเป็นพระเครื่ององค์เดียวกับที่ระบุไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จึง รับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินส่วนนี้เช่นกัน
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกคำร้องมานั้น องค์คณะวินิจฉัย อุทธรณ์เสียงข้างมากเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง