ในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงแนวคิด StableCoin ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย โดยเขาได้เปรยว่า แพทองธาร ชินวัตร อาจจะฝากให้กระทรวงการคลังหารือแนวทางการพัฒนานโยบายนี้ต่อไป
ก่อนที่ต่อมา พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง จะให้สัมภาษณ์เรื่องนี้อีกครั้ง โดยพูดถึงการใช้เงินเหล่านี้ในพื้นที่แซนด์บ็อก เช่น ภูเก็ตหรือหัวหิน
ว่าแล้วอะไรคือ StableCoin ที่อดีตนายกฯ พูดถึง มีกี่ประเภท มีใครเคยลองใช้หรือยัง SPRiNG สรุปให้อ่านกัน
📌 อะไรคือ StableCoin
StableCoin คือสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง ที่ถูกผูกไว้กับสินทรัพย์ประเภทอื่น ทำให้เงินชนิดนี้มีความผันผวนน้อยกว่าเงินดิจิทัลประเภทอื่นๆ เช่น คริปโต, อีธีเรียม หรือเหรียญต่างๆ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Finnomena ระบุว่า StableCoin แบ่งออกได้ 4 ประเภท ได้แก่
1) Fiat – collateralized เป็นวิธีพื้นฐานที่สุด คล้ายการฝากสินทรัพย์ไว้กับใครสักคน แต่แลกเปลี่ยนด้วยการเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ออนไลน์
2) Commodity – collateralized การผูก StableCoin ไว้กับสินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น น้ำมัน, ทองคำ, หุ้น, ตราสารหนี้
3) Crypto – collateralized การผูก StableCoin ไว้กับคริปโตที่มีมูลค่ามากกว่าตัว StableCoin
4) Non – collateralized ไม่ผูก StableCoin ไว้กับเงินใดๆ เลย เช่นเดียวกับเงินสกุลต่างๆ ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ถ้าประเมินตามสิ่งที่ทักษิณเคยพูดเอาไว้ แนวทางที่พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการคือ ใช้พันธบัตรของรัฐบาลเป็นตัวค้ำประกัน หรือใช้วิธีเปลี่ยนเงินแบบ Fiat – collateralized นั่นเอง
📌 เป็นไปได้แค่ไหน ใครเคยทำบ้าง
ในปัจจุบัน มีการใช้ StableCoin อยู่หลายชนิดทั่วโลก เช่น Tether Stablecoin ที่มีมูลค่าอันดับ 1 ของตลาด Crypto ซึ่งผลิตมาโดยอ้างอิงกับสินทรัพย์หลายอย่างชนิด คล้ายคลึงกับ TUSD ที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน ซึ่งทั้งชนิดนี้เป็น StableCoin แบบ Fiat – collateralized
แต่นอกจากเหรียญดังกล่าว ยังมี StableCoin อื่นๆ อาทิ Digix Gold ที่สามารถนำไปแลกเป็นทองคำจริงๆ ได้ที่สิงคโปร์, TCX ที่ถูกผูกไว้กับโลหะหลายชนิดที่ใช้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ Gemini และ Paxos ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลสหรัฐฯ
📌 มีข้อกังวลอะไรบ้าง
ถึงแม้ StableCoin ดูจะเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น แต่ในมุมของ นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เรื่องนี้ก็มีความน่ากังวลอยู่เช่นกัน โดยยกตัวอย่างประเทศเอลซันวาดอร์ที่มีการประกาศใช้บิทคอยน์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
โดยเฉพาะการออกเหรียญโดยเอาพันธบัตรค้ำประกัน ซึ่งคล้ายกับเงินดิจิทัล 10,000 บาท มันคือการออกเงินสกุลใหม่มาแข่งกับเงินบาท ทำให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่อาจไม่เห็นด้วย เพราะอาจกระทบความเชื่อมั่นของสกุลเงินท้องถิ่น
นอกจากนี้ เงินดิจิทัลเหล่านี้ยังมมีแนวโน้มถูกนำไปใช้ในกิจกรรมผิดกฎหมายมากขึ้น เพราะเงินเหล่านี้ยังขาดนิยามทางกฎหมายอาญาที่ชัดเจน เปิดช่องว่างให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมถึงการตรวจสอบเงินเหล่านี้ก็ทำได้ยาก และต้องอาศัยความร่วมมือมากกว่าประเทศใดประเทศหนึ่ง