"BOI" เผย โครงสร้างพื้นฐาน-พลังงานสะอาด ไทยพร้อมมาก หนุนนักลงทุนเข้าไทย พร้อมดันนักลงทุนไทยไปต่างประเทศต่อเนื่อง แนะไทยปรับตัวรับเทรนด์ใหม่โลก เศรษฐกิจจีนเปลี่ยน
เศรษฐกิจไทยปี 2567 ต้องบอกได้คำเดียวว่าต้องลุ้นตัวโก่ง ขนาด “นายกรัฐมนตรี” ยังเคยออกมายอมรับว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดีจริง และกำลังเร่งแก้ไขปัญหานี้ หนึ่งในควันหลงงานสัมมนา GEOPOLITICS 2024 หัวข้อ “ส่องเศรษฐกิจไทย เมื่อโลกวิกฤต” ที่จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ มีการพูดถึงโอกาสการลงทุน และการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ใหม่โลกที่เปลี่ยนไป
พามาฟังมุมมองแรกจาก “นายวิรัตน์ อัชศฤงคารสกุล” รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ฉายภาพว่า ปัจจัยที่จะทำให้นักลงทุนมีการย้ายการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย แม้ปัจจุบันไทยจะมีข้อได้เปรียบลดลงในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากเวียดนามมีแรงงานที่มีค่าแรงต่ำกว่า แต่…ไทยมีจุดเด่น คือ เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ และมีพลังงานสะอาดที่หลายอุตสาหกรรมเป็นที่ต้องการ ทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจที่สามารถดึงการลงทุนในสาขาที่ต้องมีการผลิตโดยใช้พลังงานสะอาดในการลงทุน
ส่วนการสนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ บีโอไอ มีกิจกรรมต่อเนื่องมาหลายปีในการพาผู้ประกอบการไทยไปดูลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งในเวียดนาม เมียนมา และอินโดนิเซีย ซึ่งนักลงทุนสามารถติดต่อขอข้อมูลการลงทุนจากสำนักงานบีโอไอได้
สำหรับนักลงทุนประเทศอื่นๆที่ยังเข้ามาลงทุนในไทยก็ยังมีสัดส่วนที่คงที่ เช่น นักลงทุนญี่ปุ่นก็ไม่ได้ลดการลงทุนลงไป แต่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตขึ้นของการลงทุนเติบโตมาก เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ,อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีนักลงทุนจากจีนขอส่งเสริมการลงทุนเข้ามามากกว่าทำให้สัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนจากจีน และไต้หวันเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม 2 ปีที่ผ่านมาการลงทุนของจีนคิดเป็น 20–30% ของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ก็จะยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอีก โดยปัจจัยเรื่องของ Geopolitics เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ด้าน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า โลกของเราเข้าสู่การค้าเติบโตอย่างเดียว แต่การลงทุนลดลงแรง เนื่องจากเทคโนโลยีต่างๆ ปิดช่องว่าง ต้นทุนการผลิตไม่ได้ต่างกันมาก แต่หลังๆ การค้ากับจีดีพีโตเท่ากัน จากแต่ก่อนหน้านี้การค้าโตกว่าจีดีพี จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้เป็นเทรนด์ใหม่ ซึ่งประเทศไทยต้องระมัดระวังมาก เพราะสมัยก่อนการส่งออกไทยเติบโตกว่าจีดีพีมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันนี้จะเป็นเรื่องยาก
“สหรัฐอเมริกา มีการเติบโตของเศรษฐกิจ 25% ของจีดีพีโลก ขณะที่จีน 17% เมื่อรวมกันเป็น 42% เมื่อ 42% ทะเลาะกันที่เหลือ 58% ก็ลำบาก ส่วนยุโรป 15% ของจีดีพีโลก เมื่อทะเลาะกันเข้าไปอีก ก็เป็น 2 ใน 3 ของจีดีพีโลกที่มีปัญหา”
ทั้งนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีดีพีจีน สัดส่วน 15-17% ของโลก แต่จีดีพีจีนโต 1 เท่าตัวของโลก ฉะนั้น 10 ปีที่ผ่านมา จีดีพีโลก 1 ใน 3 โตเพราะของจีน แต่อนาคตข้างหน้าจะไม่ใช่ จีดีพีจีน กับโลกจะเติบโตเท่าๆ กัน ซึ่งไทยต้องรับสภาพนี้ เพราะเป็นหนึ่งในประเทศที่ค้ากับจีนเยอะ
สำหรับจีนเป็นประเทศที่ค้าขายเยอะที่สุดตั้งแต่ปี 2009 และในปี 2013 ทดแทนอเมริกาไปแล้ว และเศรษฐกิจจีนผิดปกติกว่าคนอื่น เขาลงทุนมหาศาลเป็นพิเศษในเรื่องการผลิตกว่า 50% ส่วนการบริโภคครัวเรือนอยู่ที่ 30% เมื่อเทียบกับการบริโภคครัวเรือนต่อดีจีดีของไทย และอเมริกาสูงถึง 50-60% ดังนั้นไม่แปลกที่จีนเป็นซุปเปอร์การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หนุนธุรกิจSME ไทย ปรับตัว! สู่เศรษฐกิจสีเขียว รับมือมาตรการการค้าโลก
เปิดแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวของ SCG ในการประชุม TCAC 2023
เปิดนโยบายสิ่งแวดล้อม ชาติพัฒนากล้า เศรษฐกิจสีเขียว กู้วิกฤตเศรษฐกิจชาติ