“ปานปรีย์” ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 67 ผันผวนสูง ความไม่แน่นอนจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ไทยต้องหลีกเลี่ยงการเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง
อีกหนึ่งไฮทไลท์สำคัญที่กรุงเทพธุรกิจ เปิดเวที “Geopolitics 2024 : จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย” คือในช่วงปาฐกถาพิเศษ : จุดยืนประเทศไทย ในสมรภูมิโลกขัดแย้ง ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ระบุว่า
ปี2567 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคาดการณ์ได้ยาก เพราะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆทางภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายของประเทศมหาอำนาจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยังมีส่วนต่อเศรษฐกิจโลกเช่นกัน เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงทุกรูปแบบตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วม ไฟป่า จนถึงความแห้งแล้งทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะ generative AI ก็นับเป็นหนึ่งในความเสี่ยงเช่นกัน และถูกพูดถึงอย่างมากในที่ประชุม DAVOS ทั้งในแง่โอกาสที่ AI สามารถเพิ่มผลผลิตซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดได้ ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะผลกระทบจากการจ้างงาน ที่ AI จะเข้ามาแทนที่กำลังคนในหลายด้าน การใช้ AI ยังสามารถแทรกแซงการเลือกตั้งและเผยแพร่ข่าวที่ไม่เป็นจริงหรือข่าวปลอมได้
ดังนั้นธรรมาภิบาลกำกับดูแล AI จึงสำคัญมากและไทยต้องมีความพร้อมในด้านการกำกับดูแลอย่างที่หลายประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน สิงคโปร์ สหภาพยุโรป รวมถึงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว
โจทย์สำคัญสำหรับไทยในวันนี้คือ จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์โลกและความท้าทายเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ประเทศไทยติดอยู่ภายใต้กับดักรายได้ปานกลาง ขณะที่เพื่อนบ้านของเราพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ปีที่ผ่านมา GDP ของไทยโตในระดับต่ำ เราจึงไม่สามารถพึ่งพาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเดิมๆได้ แต่จำเป็นต้องพลิกฟื้นและปฏิรูปการต่างประเทศและเศรษฐกิจไทยให้สามารถคว้าโอกาสทางภูมิศาสตร์ได้อย่างทันท่วงที
รัฐบาลกำลังเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและความน่าดึงดูดในการลงทุนโดยขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคผ่านการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ เร่งรัดการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียวโดยเฉพาะในภาคพลังงานควบคู่กันไป
รวมถึงกำลังเร่งเจรจา FTA ที่มีมาตรฐานสูงเช่น FTA ไทยกับสหภาพยุโรปและเดินหน้าขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อยกระดับมาตรฐานเศรษฐกิจในระยะยาวทั้งหมด เพื่อให้ไทยสามารถคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจไว้ได้
การที่ไทยจะสามารถคว้าโอกาสในภาวะโลกที่ผันผวนและเต็มไปด้วยความท้าทายได้นั้นจะต้องดำเนินการผ่านการทูตเชิงรุก เริ่มจากความชัดเจนในการวางจุดยืนของประเทศ รักษาความเป็นมิตรและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกขั้วประเทศ หลีกเลี่ยงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความความขัดแย้ง และเป็นพื้นที่ที่ทุกประเทศมีความสบายใจที่จะเข้ามาลงทุน
อย่างไรก็ตามนายปานปรีย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปี 2567 โลกยังคงเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ความผันผวนและความท้าทาย แต่ภายใต้บริบทนั้น ยังเต็มไปด้วยโอกาสที่เราสามารถตักตวงได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะดำเนินนโยบายของเราไปในทิศทางใด ถูกจังหวะและเวลาหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ย้อน 4 วิกฤตเศรษฐกิจไทยหนักแค่ไหน ? สงครามอ่าว ต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ โควิด
เปิด 3 ปัจจัยลบ "เศรษฐกิจไทย" ปี’67 หนี้ครัวเรือนพุ่ง เอลนีโญ รุมเร้า !
“เศรษฐา ทวีสิน ” หนักใจเศรษฐกิจไทยปี’67 ลุยแก้ไขค่าไฟแพง ค่าแรงขั้นต่ำ