svasdssvasds

ย้อนรอยยุบพรรคอนาคตใหม่ แล้ว “พรรคก้าวไกล” ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ?

ย้อนรอยยุบพรรคอนาคตใหม่ แล้ว “พรรคก้าวไกล” ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ?

“อนาคตใหม่” พรรคการเมืองเกิดใหม่ที่มาแรงในการเลือกตั้งปี 2562 แต่ต่อมา “หัวหน้าพรรค” ก็ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และพรรคก็ถูกยุบ กระทั่งกลายร่างมาเป็น “พรรคก้าวไกล” ที่กำลังเป็นที่จับตาว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ?

ราวกับ “เดจาวู” จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง กกต. ปมถือหุ้นไอทีวี และมีคำสั่งให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดย “พิธา” ได้กล่าวคำอำลา ระหว่างสภากำลังอภิปรายในประเด็นสามารถเสนอชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่

เพราะเหตุการณ์ดังกล่าว คลับคล้ายคลับคลากับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 โดยระหว่างการประชุมสภา “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ลุกขึ้นกล่าวคำอาลาเช่นเดียวกัน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากปมถือหุ้นสื่อ ก่อนมีคำสั่งให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562

ส่วนชะตากรรมของ “พรรคอนาคตใหม่” หลังจากนั้น ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติให้ยุบพรรค สืบเนื่องจากกรณีที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ให้ “พรรคอนาคตใหม่” กู้ยืมเงินจำนวน 191 ล้านบาท ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

ดังนั้นหลังจาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” พลาดตำแหน่งนายกฯ และถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สิ่งที่สังคมจับตานับจากนี้ก็คือ “พรรคก้าวไกล” จะต้องกลายไปเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” ? “พิธา” จะถูกตัดสินให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ? และที่สำคัญ “ก้าวไกล” จะถูกยุบพรรค ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับ “พรรคอนาคตใหม่” หรือไม่ ?

ย้อนรอยยุบพรรคอนาคตใหม่ แล้ว “พรรคก้าวไกล” ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ?

บทความที่น่าสนใจ

“พรรคอนาคตใหม่” จาก “พรรคม้านอกสายตา”

กลายเป็น “พรรคม้ามืด” ในการเลือกตั้งปี 2562

“พรรคอนาคตใหม่” มีจุดเริ่มต้นจาก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตรองประธานบริหารบริษัทไทยซัมมิท และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งผู้ร่วมจดจัดตั้งอีก 24 คน

โดยได้มีการยื่นจดแจ้งชื่อจัดตั้งพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปี 2561 และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้มีสถานะเป็น “พรรคการเมือง” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ซึ่ง “ธนาธร” ได้รับเลือกเป็น “หัวหน้าพรรค” และ “ปิยบุตร” ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรค

ในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2562 “พรรคอนาคตใหม่” แม้จะได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ถูกจัดให้เป็น “ม้านอกสายตา”

แต่จากการที่ “พรรคไทยรักษาชาติ” ซึ่งเป็นแนวร่วมของ “เพื่อไทย” ถูกยุบก่อนวันเลือกตั้งไม่นานนัก ทำให้ในหลายเขตเลือกตั้ง ไม่มีผู้สมัครเลือกตั้ง สส. จาก “พรรคเพื่อไทย” รวมทั้ง “พรรคแนวร่วม” หรือ “พรรคตัวแทน” เลย ประกอบกับนโยบายที่ชัดเจนของ “พรรคอนาคตใหม่” ที่ถูกใจคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้เกิดปาฏิหาริย์ทางการเมือง จาก “พรรคม้านอกสายตา” กลายเป็น “พรรคม้ามืด” อย่างไม่คาดคิด

ในการเลือกตั้งปี 2562 “พรรคอนาคตใหม่” ได้ สส.เขต 31 คน และได้ สส.บัญชีรายชื่อ 50 คน รวมเป็น สส. ทั้งสิ้น 81 คน โดยได้คะแนนกว่า 6 ล้านเสียง คิดเป็น 17.80 % ของคะแนนเสียงทั่วประเทศ ทำให้ “พรรคเกิดใหม่” กลายเป็นพรรคใหญ่อันดับที่ 3 ไปในทันที

ย้อนรอยยุบพรรคอนาคตใหม่ แล้ว “พรรคก้าวไกล” ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ?

จาก “พรรคอนาคตใหม่”สู่ “พรรคก้าวไกล”

ในการเลือกตั้งปี 2562 หากแบ่งข้างระหว่าง “เสรีนิยม” กับ “อนุรักษ์นิยม” คะแนนเสียงของทั้งสองขั้วก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก และฝั่ง “อนุรักษ์นิยม” ที่นำโดย “พรรคพลังประชารัฐ” ก็ได้รับชัยชนะในการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แคนดิเดตฯ ของพรรค ได้ขึ้นเป็นนายกฯ

ส่วน “พรรคเพื่อไทย” ที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุด กับ “พรรคอนาคตใหม่” ต้องไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน ก่อนที่ “ธนาธร” จะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และมีคำตัดสินให้สิ้นสุดการเป็น ส.ส. ในเวลาต่อมา 

และในช่วงต้นปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้กรรการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ส่วน 55 ส.ส. ที่เหลืออยู่ และสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งได้ย้ายเข้าสังกัด “พรรคก้าวไกล” โดยในเดือนมีนาคม ปี 2563 ที่ประชุมใหญ่ของพรรคก็มีมติให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นหัวหน้าพรรค และ “ชัยธวัช ตุลาธน” เป็นเลขาธิการพรรค

ย้อนรอยยุบพรรคอนาคตใหม่ แล้ว “พรรคก้าวไกล” ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ?

จากพรรคขวัญใจคนรุ่นใหม่ สู่พรรคขวัญใจประชาชน

ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีในสภา แม้ “พรรคก้าวไกล” จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้อย่างโดดเด่น และถูกอกถูกใจประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากการตรวจที่เข้มข้นด้วยข้อมูลเชิงลึก แบบกัดไม่ปล่อยแล้ว ยังมีความพยายามผลักดันนโยบายต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ สมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เป็นต้น

กระนั้นก็ตามที ก่อนการเลือกตั้งปี 2566 กูรูการเมืองส่วนใหญ่ก็ประเมินว่า “พรรคก้าวไกล” คงได้ สส. น้อยกว่าการเลือกตั้งปี 2562 ตัวเลขความน่าเป็นอยู่ที่ 30 คน เพราะขาดปัจจัยสำคัญ อาทิ “บ้านใหญ่” ในเขตเลือกตั้งต่างๆ อีกทั้งยังใช้ทุนการหาเสียงน้อยมาก เมื่อเทียบกับ “พรรคการเมืองขนาดใหญ่” หลายๆ พรรค

แต่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ก็เกิดปรากฏการณ์ “พิธาฟีเวอร์” อีกทั้งได้มีการตอกย้ำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ด้วยแคมเปญ “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง”

และเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา “พรรคก้าวไกล” ก็ได้สร้างปาฏิหาริย์ทางการเมืองอีกครั้ง โดยได้ ส.ส. มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ แบ่งเป็น ส.ส. เขต 112 คน กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 39 คน รวมเป็น ส.ส. ทั้งสิ้น 151 คน โดยได้คะแนนเสียงกว่า 14.4 ล้านเสียง ส่งผลให้ “พิธา” กลายเป็น “ว่าที่นายกฯ คนที่ 30” ไปในทันที

ย้อนรอยยุบพรรคอนาคตใหม่ แล้ว “พรรคก้าวไกล” ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ? ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ ?

และถึงแม้ “พรรคก้าวไกล” จะสามารถรวบรวมเสียง สส. จาก 8 พรรคการเมืองได้ 312 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพได้ แต่ด้วยข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ผู้ที่เป็นนายกฯ ต้องได้เสียงสนับสนุนจาก สส. และ สว. เกินครึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา (750 คน) ทำให้เส้นทางการเป็นนายกฯ ของ “พิธา” ไม่ง่ายนัก

โดยในการโหวตนายกฯ รอบแรก เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม “พิธา” ได้เสียงสนับสนุน 324 เสียง แบ่งเป็นเสียง สส. (8 พรรค) 311 เสียง (ประธานสภา งดออกเสียง ตามมารยาททางการเมือง) และจาก สว. เพียง 13 เสียง

ส่วนในวันโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติรับคำร้อง กกต. ปมพิธาถือหุ้นสื่อไอทีวี และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงที่ประชุมสภา ก็มีมติ “ไม่สามารถเสนอชื่อพิธา เป็นนายกฯ ซ้ำได้” ทำให้ “พิธา” หมดโอกาสเป็นนายกฯ และยังต้องลุ้นอีกว่า ไปๆ มาๆ จะต้องกลายไปเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” หรือไม่ ?

และช็อตที่ต้องลุ้นหนักยิ่งขึ้นไปอีกว่า “ก้าวไกล” จะถูกยุบพรรค ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยกับ “อนาคตใหม่” หรือไม่ ? ก็จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องของ “ธีรยุทธ สุวรรณเกสร” ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การปราศรัยของ “พิธา” และนโยบายหาของ “พรรคก้าวไกล” ที่เกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ ?

อ้างอิง

วิกิพีเดีย : พรรคอนาคตใหม่

วิกิพีเดีย : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562

วิกิพีเดีย : พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

วิกิพีเดีย : พรรคก้าวไกล

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566

related