รังสิมันต์ โรม โพสต์เดือด ฟาด ส.ว. ไล่ฟ้องคนที่ออกมาประณาม จากกรณีการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก “พิธา” ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เพียง 13 เสียง ไม่เพียงพอส่ง "แคนดิเดตฯ พรรคก้าวไกล" เป็นนายกฯ
“รังสิมันต์ โรม” ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณี ส.ว. ไล่ฟ้องคนที่ออกมาประณาม โดยมีรายละเอียดดังนี้
“ส.ว. ที่ไล่ฟ้องคนที่ออกมาประณามการทำลายเสียงประชาชน ยังกล้าเรียกผู้อื่นว่าอันธพาลได้อีกหรือ ?” หลายวันที่ผ่านมา ในช่วงระหว่างที่มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ตนฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่เงียบๆ ให้เวลาแก่ทุกคนทุกฝ่ายที่จะต้องมาเกี่ยวข้องกับกับวาระสำคัญนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ว. ทั้ง 250 คน ได้คิดทบทวนไตร่ตรอง ตกผลึกให้สุดว่าถึงจุดนี้แล้ว ถ้าพวกท่านยังจะพยายามฝืนมติมหาชนที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งผ่านการเลือกตั้งแล้ว ประเทศจะเดินต่อไปในทิศทางไหน สังคมจะยังเหลือคุณค่าอะไรให้ยึดถือในการอยู่ร่วมกัน และตัวพวกท่านเองจะอยู่ในฐานะอะไรในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
มาถึงวันนี้ นอกจากจะไม่นำพาต่อเสียงของประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับการยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ส.ว. บางส่วนยังพยายามเดินหน้าฟ้องร้องดำเนินคดีต่อประชาชนผู้ที่ออกมาประณามการใช้อำนาจของพวกท่าน ตนไม่สามารถอยู่เฉยๆ ปล่อยให้ประชาชนถูกกระทำย่ำยีซ้ำๆ แบบนี้ได้อีก
บทความที่น่าสนใจ
"รังสิมันต์ โรม" ระบุต่อไปว่า พวกท่านอ้างว่าการกระทำของพวกท่านในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เป็นสิทธิเสรีภาพของพวกท่านที่จะเห็นต่าง และคนอื่นต้องให้ความเคารพ นี่เป็นข้ออ้างที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะความเห็นต่างที่พวกท่านอ้างครั้งนี้มิได้อยู่บนพื้นฐานที่เสมอภาคเท่าเทียมกับประชาชนคนอื่นๆ ในประเทศนี้เลย
แน่นอนว่าพวกท่านย่อมมีสิทธิเสรีภาพในความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ในฐานะบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้พวกท่านก็มีโอกาสที่จะได้ใช้มันไปแล้ว เช่นในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ท่านมีเสรีภาพที่จะพูดออกมาได้ว่ารัฐบาลที่ดี นักการเมืองที่ดีควรเป็นเช่นไร บอกออกมาให้ประชาชนคนอื่นเขาเก็บไปคิดต่อ
หรือเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ท่านก็ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. และรัฐบาลที่ท่านอยากเห็นไปแล้วเสมอเหมือนกันกับประชาชนคนอื่นๆ ทั้งประเทศ
แต่เมื่อมาถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ในขณะที่พรรคการเมืองเสียงส่วนใหญ่ในสภากำลังน้อมนำเอาเสียงที่ได้รับจากประชาชนส่งต่อไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นให้ได้ พวกท่าน ส.ว. กลับอ้างเอาความคิดเห็นส่วนตัวมาปะปนกับการใช้อำนาจแล้วทำลายเสียงของประชาชนนั้นทิ้ง
พวกท่านกล่าวหาว่าการที่ผู้คนออกมาประณามพวกท่านบ้าง ประกาศคว่ำบาตรธุรกิจทางบ้านของพวกท่านบ้างนั้น เป็นพฤติกรรมของอันธพาล แต่การที่พวกท่านรับเอาอำนาจนี้มาจากคณะรัฐประหาร คสช. ผู้ซึ่งเป็นที่สุดแห่งอันธพาล ผ่านกติกาที่เขียนขึ้นโดยคณะรัฐประหารเอง (ซึ่งเลิกอ้างเสียทีว่ามันผ่านประชามติโดยชอบแล้ว เพราะมันไม่เคยเสรี ไม่เคยเป็นธรรม ผมนี่แหละคือคนที่ถูกจับเพียงเพราะคัดค้านกติกานี้)
แล้วเอาอำนาจนั้นมาทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนกลายเป็นไร้ค่า ประชาชนที่ควรเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดกลับต้องมาคุกเข่าอ้อนวอนพวกท่าน หากใครยังแข็งขืนยืนท้าทายก็งัดเอาเครื่องมือทางกฎหมายที่พวกท่านถนัดมาเหยียบซ้ำอีกทีหนึ่ง เช่นนี้แล้วพวกท่านยังกล้าเรียกผู้อื่นว่าเป็นอันธพาลได้อีกหรือ? ยังกล้าคิดว่าตัวเองเป็นผู้ดีมีอารยะได้อีกหรือ ?
หากพวกท่านลองหันไปมองเพื่อน ส.ว. อีก 13 ท่านที่ลงมติเห็นชอบให้กับ “คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ดูสักนิด ใน 13 ท่านนั้น ไม่มีใครสักท่านเลยที่บอกว่า “คุณพิธา” เป็นคนดีเลิศประเสริฐศรีไร้ที่ติทั้งปวง
ไม่มีใครสักท่านเลยที่บอกว่าเห็นด้วยกับนโยบายแก้มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล แต่พวกเขาก็ยังลงมติเห็นชอบให้ นั่นก็เพราะพวกเขาเหล่านั้นยังเห็นหัวประชาชน ยังยอมรับในเสียงของประชาชน
และตระหนักดีว่าถึงแม้ตัวพวกเขาเองจะมีที่มาและอำนาจที่ไม่เป็นปกติตามระบอบประชาธิปไตย แต่พวกเขาเลือกได้ที่จะใช้อำนาจนั้นเพื่อเปิดทางให้กระบวนการประชาธิปไตย และคืนความปกติให้กับการเมืองไทย
ผลที่เกิดขึ้นคือประชาชนก็ยังพร้อมที่จะเปิดใจให้กับพวกเขา หรืออย่างน้อยก็ไม่อยากจะถือสาหาความอะไรอีก พวกท่านเคยเก็บเอาตัวอย่างเหล่านี้มาคิดบ้างหรือไม่ว่า ที่มีประชาชนออกมาประณามพวกท่านกันถึงขนาดนี้ เป็นเพราะแค่ไม่ชอบความคิดเห็นส่วนตัวของพวกท่าน หรือเป็นเพราะเหลืออดแล้วกับสิ่งที่พวกท่านทำกับประชาชนตลอดหลายปีที่ผ่านมากันแน่ ?
พวกท่านอาจคิดว่าตัวเองมีโครงสร้างอำนาจและเครื่องมือทางกฎหมายเป็นหลักประกันความแตะต้องไม่ได้เสมอ แต่ทุกๆ ครั้งที่พวกท่านใช้หลักประกันพวกนั้นมันแลกมาด้วยการตอกลิ่มความขัดแย้งให้ร้าวลึกลงไปเรื่อยๆ และหากมองย้อนกลับไปให้ระยะยาวแล้ว ทิศทางของประเทศที่ถูกความขัดแย้งพาไปนั้นไม่เคยไปในทางที่เป็นคุณต่ออุดมการณ์ความเชื่อของพวกท่านเลย
พวกท่าน ส.ว. ทั้งหลาย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เติบโตมีชีวิตมาถึงขนาดนี้แล้ว วันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง 19 กรกฎาคมนี้ จะเอาอย่างไรต่อ? จะยังฝืนเสียงประชาชนและฟ้องทุกคนที่ขวางหน้าไปเรื่อยๆ แบบนี้หรือไม่ ? รังสิมันต์ โรม ระบุ