“งบประมาณฐานศูนย์” (Zero-Based Budgeting) ถือเป็นสิ่งใหม่ของประเทศ สำหรับการจัดทำงบประมาณแบบนี้ถือว่า เป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อน มาทำความรู้จักกันว่า มันคือการทำงบอย่างไร บริหารงบประมาณรัฐแบบไหน
จากการลงนาม MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลนำโดย พรรคก้าวไกล “งบประมาณฐานศูนย์” (Zero-Based Budgeting) ได้กลายเป็นประเด็นสนใจของสาธารณะขึ้นมา เมื่อรูปแบบงบประมาณนี้เป็นสิ่งใหม่ และจะเปลี่ยนหน้าระบบราชการไทยอย่างไรบ้าง
ทาง 8 พรรคการเมือง ซึ่งนำโดยพรรคก้าวไกลได้ลงนาม MOU เห็นชอบในนโยบายร่วมกัน โดยหนึ่งในสาระสำคัญของ MOU คือ การเปลี่ยนวิธีจัดทำงบประมาณประจำปีที่อ้างอิงจากฐานปีก่อนหน้า เป็น “งบประมาณฐานศูนย์” (Zero-Based Budgeting) แทน
คำคำนี้ กลายเป็นที่สนใจของผู้คนในวงกว้าง งบประมาณฐานศูนย์ คืออะไร ? และจะพลิกโฉมระบบราชการไทยอย่างไรบ้าง SPRiNG ชวนมาหาคำตอบกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การเบิกงบประมาณโดยทั่วไปของราชการ
ก่อนอื่นต้อง ปูพื้นฐานกันก่อน โดยทั่วไปตามหน่วยงานรัฐ การทำงบประมาณรายปี จะอ้างอิงฐานงบประมาณของปีก่อนหน้า ว่าใช้เงินเท่าไร และงบประมาณใหม่นี้ก็จะเพิ่มหรือลดลงเป็นเปอร์เซ็นต์ จากฐานอ้างอิงก่อนนั้น
วิธีการนี้ ข้อดีคือ การทำงบประมาณเช่นนี้ถูกย่นระยะเวลาลงมา เพราะมีข้อมูลเดิมอ้างอิงอยู่แล้ว แต่ ข้อเสียสำคัญ คือ เมื่อเบิกงบประมาณออกมา บางหน่วยงานแม้ใช้งบฯไม่หมด แต่ก็จะพยายามใช้ให้หมด เพราะหากส่งงบฯที่เหลือกลับคืนหลวง ก็อาจถูกมองว่ามีการเบิกงบฯเกิน และในครั้งหน้าก็เสี่ยงที่จะถูกลดงบฯลงได้ รวมไปถึงบางปีไม่มีความจำเป็นต้องใช้งบฯ แต่ก็ต้องเบิกงบฯออกมา เพราะถ้าไม่เบิกปีนี้ ก็จะไม่มีฐานสำหรับเบิกปีหน้า
ปัจจัยที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จึงทำให้หลายฝ่าย ตั้งคำถามว่าการจัดสรรงบฯไม่มีประสิทธิภาพ และไม่คุ้มค่าต่อภาษีประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ใน MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล จึงกลายมาเป็นแนวคิดใหม่ในการทำงบประมาณที่เรียกว่า “งบประมาณฐานศูนย์” ซึ่งมีการใช้ครั้งแรกในสหรัฐเมื่อปี 2516 และต่อมา จีนได้นำมาปรับใช้ในมณฑลหูเป่ย์เมื่อช่วงทศวรรษที่ 90
งบประมาณฐานศูนย์ คืออะไร
งบประมาณฐานศูนย์ ยึดหลัก zero-based budgeting หรือ งบประมาณแบบฐานศูนย์ ที่ไม่ได้จัดทำงบโดยอ้างอิงจากการจัดงบในอดีตเป็นหลักแล้วปรับเพิ่มงบเข้าไปในแต่ละปี แต่อ้างอิงจากความเร่งด่วนและขนาดของปัญหาที่ประเทศเผชิญในแต่ละปีเป็นหลัก
งบประมาณฐานศูนย์ หมายถึง งบประมาณที่ไม่อิงจากฐานก่อนหน้า หากกระทรวงหรือหน่วยงานรัฐจะทำเรื่องของบประมาณในปีถัดไป ก็ต้องมีการ “พิจารณาใหม่” ว่า
- โครงการที่ต้องการสานต่อนี้ยังจำเป็นหรือไม่
- จำนวนเงินที่ขอสูงเกินไปหรือไม่
- ผลลัพธ์โครงการที่ผ่านมาคุ้มค่าหรือไม่
เมื่อ ไม่ใช้ฐานตัวเลขเดิม แต่ใช้ “ความจำเป็น” แทน ทำให้การใช้งบจากภาษีประชาชนมีความรอบคอบมากขึ้น เพราะการของบประมาณในทุกกรณี จะต้องถูกพิจารณาใหม่ วิธีการทำ งบประมาณแบบนี้ จะต่างจากการพิจารณางบประมาณแบบปัจจุบันที่ใช้ฐานเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ตัวเลขในแต่ละปีถัดไปจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากฐานในปีก่อนหน้า
ขณะที่ ข้อสำคัญที่สุด งบประมาณฐานศูนย์ หากพิจารณาว่าปีนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณและโอนย้ายเงินส่วนต่างนี้ไปสู่ส่วนราชการที่ยังขาดแคลนงบแทนได้
ยิ่งโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นช่วงโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจเทคโนโลยีออนไลน์เฟื่องฟู และเมื่อโลกปรับตัวได้กับโควิด-19 ธุรกิจเปิดเมืองและท่องเที่ยวก็กลับมาเฟื่องฟูแทน ยังไม่นับรวมความผันผวนทางการเงินจากนโยบายธนาคารกลางสหรัฐ ที่ทำให้เงินบาทปรับอ่อนค่าและแข็งค่าได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจนำเข้า-ส่งออกของไทย
การเปลี่ยนแปลงในโลกที่ผันผวนและฉับไวเช่นนี้ หากยังคงยึดกรอบงบประมาณก่อนหน้า ก็อาจจะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ภาษีที่ควรถูกจัดสรรตามสถานการณ์ก็อาจถูกนำไปใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น
ด้วยเหตุนี้ การใช้งบประมาณฐานศูนย์จึงอาจถือเป็นตัวช่วยหนึ่ง ที่ทำให้การใช้งบประมาณมีความคุ้มค่าขึ้นได้
ความท้าทายงบประมาณฐานศูนย์
อย่างไรก็ตาม การทำงบประมาณฐานศูนย์ มาพร้อมกับ “ความท้าทาย” หลายอย่างที่ราชการไทยต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการต้องหาข้อมูลใหม่และเหตุผลที่รองรับมากกว่าเดิมในการพิจารณางบฯ รวมไปถึงผู้อนุมัติโครงการก็ต้องทำการบ้านมากขึ้นในการพิจารณาแต่ละรอบงบประมาณ นำมาซึ่งระยะเวลาการอนุมัติงบประมาณที่ยาวนานขึ้น
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า การใช้งบประมาณฐานศูนย์จำเป็นต้องใช้ฐานข้อมูลมหาศาล และมีการเตรียมพร้อมรัดกุมกับทุกหน่วยงานราชการ เพราะ “ระบบงบประมาณ” เป็นระบบที่ใหญ่ ผูกพันไปทุกภาคส่วนตั้งแต่ส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น รวมไปถึงสถานศึกษาและโรงพยาบาลด้วย
อย่างไรก็ตาม ดนุชา คาดว่า โมเดลงบประมาณฐานศูนย์ อาจยังทำไม่ได้ในการจัดทำงบประมาณปี 2567 และน่าจะเริ่มทำได้ในปีงบประมาณ 2568 หรือปี 2569 แทน
นอกจากนั้น จะต้องมีการหารือระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล และ 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ สศช. สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางการทำงบประมาณฐานศูนย์นี้
สุดท้ายนี้ การทำงบประมาณฐานศูนย์ แม้ใช้ความละเอียดและระยะเวลาที่นานขึ้น แต่สิ่งที่อาจจะได้กลับคืนมาคือ ความรอบคอบและความคุ้มค่าของการใช้เม็ดเงินภาษีประชาชน
อย่างไรก็ตามการจัดทำ "งบประมาณฐานศูนย์" จำเป็นจะต้องใช้เวลา และจะต้องมีการศึกษาให้รอบครอบก่อน โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำระบบงบประมาณฐานศูนย์เอาไว้ว่า รูปแบบดังกล่าว มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือการสะท้อนการใช้งบประมาณไปในอนาคต แต่ข้อเสียก็คือเป็นระบบการจัดทำงบประมาณแบบที่ต้องใช้ฐานข้อมูลจำนวนมาก ต้องมีการเตรียมความพร้อมกับทุกหน่วยงานราชการมาก เพราะระบบงบประมาณเป็นระบบใหญ่ผูกพันไปทุกภาคส่วนส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงสถานศึกษา สถานพยาบาล สำหรับในปีงบประมาณ 2567 มีการจัดทำงบประมารไปแล้วเรียบร้อย คาดว่าจะเริ่มทำได้ในปีงบประมาณปี 2568 หรือปี 2569
ที่มา bangkokbiznews