“พิธา” เข้าใจ “ปิยบุตร” กังวล MOU ยันไร้ปัญหา สอดคล้อง รัฐธรรมนูญ จ่อชวนพรรคร่วมเดินสายพบผู้ประกอบการ เตรียมนโยบายแถลงสภาฯ ชี้ หุ้นตกเพราะการเมืองไทยไม่แน่นอน ยืนยันพรรคก้าวไกล เดินหน้าผลักดัน 300นโยบายผ่านกลไกลบริการ นิติบัญญัติแน่นอน
นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ฯ ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีที่สืบเนื่องจากการเซ็น MOU ว่า เป็นแค่การทำงานในวาระร่วมกัน 23ข้อ ของพรรคร่วมในขั้นต่ำ แต่ยังมีวาระเฉพาะของของพรรคก้าวไกลกว่า 300นโยบายที่หาเสียงไว้และพรรคก้าวไกลก็จะพยายามผลักดันต่อให้เป็นไปได้ โดยจะผลักดันผ่าน2กลไกคือ กลไกการบริหาร ในฐานะที่ตนเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็จะมีอำนาจในการบริหารจัดการให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด และสอง คืออำนาจรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลที่จะอยู่ในกระทรวงต่างๆ ในการผลักดันวาระที่อาจจะไม่ได้อยู่ในMOUแต่อยู่ในนโยบาย 300 ข้อของพรรคก้าวไกล และสาม หากพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวง เราก็ยังประสานงานกับรัฐบาลร่วม ในการพูดคุยเจรจาให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงผลักดันนโยบายของพรรคเราได้
แต่อีกหลายเรื่องก็เป็นเรื่องของนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ 45 กฎหมายที่เราได้สัญญากับประชาชนไว้ เนื่องจากเรามีส.ส. 152 คน ก็สามารถผ่านกฎหมายเพื่อให้เกิดการถกเถียง และให้เกิดกรรมาธิการเพื่อให้ผ่านสภาเป็นกฎหมาย มีอำนาจรองรับ เช่น พ.ร.บ.น้ำประปาสะอาด พ.ร.บ.รับรองคำหน้าอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นต้น ถึงแม้เรื่องดังกล่าวจะไม่อยู่ในวาระร่วมของรัฐบาล แต่ก็มีหลายกฎหมายที่เราสามารถผลักดันได้ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เราได้สัญญาไว้ให้กับประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"พิธา" ผลักดัน 300 นโยบายก้าวไกล เมื่อจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งนี้ การที่มี เอ็มโอยู MOU 23 ข้อ เป็นวาระร่วมแค่ขั้นต่ำ แต่ในขณะเดียวกันหลายประเด็นที่อาจจะทำให้ประชาชนต้องลำบาก และต้องการความเปลี่ยนแปลงผ่านกฎหมายที่ก้าวหน้า และการบริหารงานของพรรคก็จะมีวาระเฉพาะที่สามารถผลักดันได้เช่นเดียวกัน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกฯคนที่ 30 บอกถึงขั้นตอนต่อไปหลังจากลงนาม MOU แล้วว่า คงต้องเป็นการเดินสาย พบพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ ขณะที่คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลก็ไม่ได้มีเพียงพรรคก้าวไกล ในการพบปะหารือครั้งต่อไปจึงจะเชิญพรรคร่วมรัฐบาลมาฟังปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อจัดทำนโยบายรวมแถลงต่อรัฐสภา และนำเอาผู้มีความรู้จริงมาบริหารกระทรวงที่เหมาะสม ส่วนตำแหน่งของกระทรวงเศรษฐกิจนั้น ก็จะต้องเป็นคนมีความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจ
เมื่อถาม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าจะสามารถคืนความมั่นใจของนักลงทุนได้อย่างไร เนื่องจากหลังเลือกตั้ง ตลาดหุ้นตกลงอย่างต่อเนื่อง นายพิธา ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้ไม่ใช่เรื่องศักยภาพของประเทศ แต่เป็นความผันผวนทางการเมือง เพราะเท่าที่ผ่านมา เคยมีพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่แน่นอน จึงต้องเร่งสร้างความมั่นใจว่าระบบการเมืองมีความแน่นอน สะท้อนเจตจำนงของประชาชน จึงจะสามารถคืนเสถียรภาพของการลงทุนกลับมาได้
ส่วนกรณีที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โต้แย้งบางประเด็นในเนื้อหา MOU โดยเฉพาะข้อ ห่วงใยเรื่อง ม.112 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า เข้าใจความกังวลใจของ นายปิยะบุตร แต่ข้อความก็คือข้อความ ส่วนเนื้อหาใน MOU ก็สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่าสาเหตุที่การแถลงข่าวเมื่อวานนี้ ล่าช้ากว่ากำหนด ก็มีการแก้ไขเนื้อหาบางส่วน รวมถึงตัดประเด็นนิรโทษกรรมออกใช่หรือไม่ นายพิธา ระบุว่า ไม่ใช่แค่นั้น เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ล่าช้า รวมถึงประเด็นกัญชาที่ต้องมาแก้ในวินาทีสุดท้าย
เดินหน้าปรับขึ้นค่าแรง 450 บาท แม้ไม่ตรงกับเพื่อไทย
พรรคก้าวไกล เสนอ 450 บาท พรรคเพื่อไทย เสนอ 600 บาท แต่ยังมีมุมของผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจเรื่องการสมทบเงินประกันสังคม 6 เดือนแรก การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 เท่า 2 ปีสามารถที่จะหักภาษีได้ หรือมาตรการลดภาษีให้กับ SME ซึ่งทั้งหมดเป็นภาพใหญ่ในการประชุมของสภาอุตสาหกรรม
“ต้องยืนยันว่าเรายังเดินหน้าเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลผสม ตอนนี้กำลังเดินหน้ารับฟัง โดยในช่วงวันศุกร์นี้ (26 พ.ค.) จะพูดคุยกับหอการค้าแรงงาน สภา SME สภาแรงงาน เพื่อรับฟังอย่างรอบคอบ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นและต้องขึ้นอย่างสม่ำเสมอโดยอัตโนมัติเพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทั้งกลุ่มนายจ้างที่จะควบคุมต้นทุนของตัวเองได้เพราะไม่ได้ขึ้นแรงมาก แต่ใช้วิธีการขึ้นน้อยและขึ้นบ่อย ส่วนลูกจ้างจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพพลังงานเกิดขึ้นได้จริง” นายพิธา กล่าว