หลังจากที่ประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่นำหยวนดิจิทัลออกมาใช้ ทำให้ทั่วโลกหันมาพัฒนาเหรียญดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง Central Bank Digital Currency (CBDC) เรียกได้ว่าเป็นข่าวดีของการเงินในประเทศไทย ที่ธนาคารกลางกำลังทดลอง ‘เงินบาทดิจิทัล’ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า
เงินบาทดิจิทัล คืออะไร?
เรียกสั้นๆง่ายๆว่ามันคือ คริปโทเคอร์เรนซีที่ออกโดยแบงก์ชาติ ทำหน้าที่เหมือน Stablecoin ที่จะคงตรึงราคาไว้กับค่าเงินของประเทศหรือบาทไทย ซึ่งเงินบาทดิจิทัลจะทำหน้าที่คล้ายเงินสด แต่จะนำมาใช้ได้ในแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ได้ มีความปลอดภัยสูงและไม่มีค่าธรรมเนียมในการฝากถอน
หลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว ว่าจะใช้งานยากหรือง่ายแค่ไหน แต่จริงๆแล้ว เงินบาทดิจิทัล สามารถใช้ได้แค่ขั้นตอนง่ายๆ โดยฝากเงินสดเข้าไปและแปลงออกมาเป็นเงินบาทดิจิทัล หากไม่มีสมาร์ทโฟนหรืออินเทอร์เน็ตก็ยังสามารถฝากเงินได้กับธนาคารต่างๆได้เช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เงินบาทดิจิทัล หรือ CBDC แตกต่างจากเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆและเงินสด อย่างไร ?
เงินสด สามารถจับต้องได้และจับจ่ายใช้สอยได้
คริปโทเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัล จับต้องไม่ได้ แต่จับจ่ายใช้สอยได้ ซึ่งเดิมทีคริปโทเคอร์เรนซีที่ออกโดยภาคเอกชน อาจยังไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่มั่นคงรวมถึงมีความผันผวนสูง
เงินบาทดิจิทัล ออกโดยแบงก์ชาติซึ่งมีกฎหมายรองรับ เป็นสกุลเงินที่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะมีความปลอดภัยสูงกว่าคริปโทเคอร์เรนซีทั่วไป
ในเมื่อเงินสดใช้จ่ายได้เหมือนกัน จะใช้เงินบาทดิจิทัลไปทำไม?
ยิ่งในยุคปัจจุบันที่อยู่ท่ามกลางโรคระบาดต่างๆ การใช้เงินดิจิทัลถือว่าตอบโจทย์ใครหลายๆคนที่ขณะนี้ก็มีการใช้การสแกน โอนจ่าย ที่อนาคตอาจก้าวไปสู่ “สังคมไร้เงินสด” เงินบาทดิจิทัลหรือ CBDC จะมาตอบโจทย์การจ่ายเงินแบบนี้ได้อย่างดี
เงินบาทดิจิทัล แตกต่างจาก ทรูมันนี่ วอลเล็ต,ไลน์ เพย์ อาจถูกจำกัดกรอบให้สามารถใช้งานได้เฉพาะบางเครือข่ายเท่านั้น แต่เงินบาทดิจิทัลสามารถใช้ได้ครอบคลุม
เงินบาทดิจิทัล อีกนานไหม จะเริ่มได้ใช้เมื่อไหร่ ?
ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้เร่งพัฒนาและทดลองใช้ในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า พร้อมกันนี้ทางแบงก์ชาติยังได้เผยเจตนารมณ์ที่ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินในไทยให้ดีขึ้น พร้อมเล็งนำบาทดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นโยบายของภาครัฐส่งตรงถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และตรงจุดมากที่สุด
แหล่งอ้างอิงข้อมูล : บทความจากธนาคารแห่งประเทศไทย
อนาคต ‘เงินบาทดิจิทัล’ อาจเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการชำระสินค้า บริการ หรือทำธุรกรรมต่างๆทั้งรัฐบาลและเอกชน ซึ่งจะช่วยให้คนไทยอาจไม่ต้องพกเงินสดไปไหนมาไหนอีกต่อไป ซึ่งเรายังคงต้องแก้ไขข้อดีข้อเสียของเงินดิจิทัลต่อไป เพื่อให้ใช้ได้ราบรื่นในชีวิตประจำวัน