เครือเนชั่นกรุ๊ป จัดเวทีดีเบต ประชันวิสัยทัศน์ โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 5 ผู้สมัครตัวเต็ง โชว์วิสัยทัศน์เน้นย้ำแนวนโยบายของตนเอง ขณะที่กองเชียร์ ประชาชนร่วมฟังอย่างคึกคัก
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่ ลานพาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน เครือเนชั่นกรุ๊ปจัดเวทีดีเบต ประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โค้งสุดท้าย.. ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. 65
โดยมีตัวเต็งของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 5 ท่าน ร่วมประชันวิสัยทัศน์ คือ
1. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 1
2. สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 3
3. สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกทม.หมายเลข 4
4. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 8
5. นาวาตรีศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 11
ส่วนอีกหนึ่งท่านที่มีการเชิญไปแต่ไม่ได้เดินทางมาคือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจ
ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนที่เป็นกลุ่มมนิวโหวตเตอร์ และประชาชนที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งของ กทม. ที่ผ่านไปมาในศูนย์การค้า และแนวรถไฟฟ้ามาร่วมรับฟังวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร
ขณะที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนได้ใช้เวลาในการแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อต่างๆ อย่างคุ้มค่า ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง โดยมีคำถามต่างๆ และจับคู่ดีเบตกัน ดังนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาพบรรยากาศ เวทีดีเบต "โค้งสุดท้าย...ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. 2565 ครั้งที่ 2
ผู้นำในวันที่ต้องปรับตัว : จากอธิการบดี สู่แร็ปเปอร์ - พี่เนียน
ทำได้หรือขายฝัน ? ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หาเสียง หั่นค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียว
1. ประเด็น สิทธิ์ของคนพิการต้องเท่าเทียม
สกลธี ภัททิยกุล VS นาวาตรีศิธา ทิวารี
น.ต.ศิธา กล่าวว่า คนพิการถูกละเลยมาตลอด อันดับแรกคือสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิที่ครอบคลุมทั้งหมดของคนพิการและกรุงเทพมหานครและหน่วยงานของรัฐ ไม่เคยให้ความสำคัญ และไม่เคยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง
อันดับแรกสิ่งอำนวยความสะดวกทางสัญจรไปมา กทม. พูดมาตลอดว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งคนพิการไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างเดียวแต่อยู่หลังสุด ต้อมเตี้ยมๆ อยู่ข้างหลัง เช่น สกายวอร์ค คนพิการเขาไม่ได้มองเห็นเหมือนคนทั่วไป เพราะไม่ได้ใช้งาน จึงมองว่าเป็นสิ่งที่อัตลักษณ์
ดังนั้นหน่วยงานกรุงเทพมหานคร จะต้องทำให้คนทุกคนเข้าถึงการบริการของภาครัฐ หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมดต้องส่งเสริมการสร้างงานให้กับคนพิการ โดยนำหน่วยงานของกรุงเทพมหานครมีโควตาเข้ารับทำงานมหาวิทยาลัยในสังกัดกรุงเทพมหานคร
เช่นเดียวกันต้องมีการรับเขาเข้าไปศึกษาวิชาอาชีพ ส่งเสริมให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครและหน่วยราชการอื่นๆ เรื่องงบประมาณที่จะใช้ ถ้าจะมีสิ่งปลูกสร้างหากมีผู้ว่าชื่อศิธา สเปคงานที่โผล่ออกมา ถ้าคนพิการเข้าถึงไม่ได้ ตนจะไม่ให้ผ่าน จะต้องมีการจัดงบประมาณให้คนพิการ ซึ่งเป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครไม่เคยจริงจังมาก่อน
ขณะที่สกลธี กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสิทธิ์ที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ตนได้เคยคุยกับคนพิการหลายประเภท เขาเหล่านั้นไม่ได้ต้องการความสงสาร แต่ต้องการที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองในสังคมเหมือนคนปกติคนหนึ่ง
เพราะฉะนั้นในยุคของผู้ว่าฯ กทม. ที่ชื่อสกลธี อย่างแรกคืออะไรนะสถาปัตย์ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของผู้พิการจะหมดไป ที่ต้องได้รับการแก้ไขทั้งการคมนาคมขนส่ง รวมไปถึงทางเท้า
นอกจากนี้คือการให้ความรู้กับผู้พิการ ซึ่งในชั้นประถมนั้นไม่มีปัญหา ปลายเดือนแต่เมื่อขึ้นชั้นมัธยมและมัธยมปลาย ที่จะรับคนพิการยังมีโรงเรียนน้อยมากที่จะรับผู้พิการ ทั้งด้านสติปัญญาและร่างกาย
ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ที่ชื่อสกลธีจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องทำให้ผู้พิการเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงการประกอบอาชีพ หน่วยงานกรุงเทพฯ จะต้องจ้างผู้พิการตามกฎหมายอย่างน้อย 1% ก่อนตนออกมาจากรองผู้ว่าฯ กทม. จ้าง 300 กว่าตำแหน่ง แต่หากตนได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะจ้างให้ครบ 1% เป็นหน่วยงานแรกของเมืองไทย
ต้องทำให้อาชีพของเขาอยู่กันอย่างมีศักดิ์ศรี ตนเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถึงจุดหนึ่งอาจจะต้องมีวิชาชีพให้กับผู้พิการเรียน ซึ่งวันนี้ก็ทำแล้วคือ ปลูกพืชเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ให้เขาอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรี
2. ประเด็น อยากเห็น กทม. เป็นเมืองอัจฉริยะ
สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ VS วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
สุชัชวีร์ กล่าวว่า ตนเองพูดชัดทุกเวลาในการใช้เทคโนโลยีหยุดปัญหาซ้ำซาก พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เมืองอัจฉริยะคือการคืนความสุขให้ประชาชนด้านความปลอดถัย และคืนเวลาให้กับประชาชน ตลอด 4 ปี กทม.ต้องได้ใช้เน็ตฟรี เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างในการบริการ
โดยหากทำไวไฟฟรีแล้ว จะทำให้กล้องวงจรปิดเป็นอัจฉริยะไม่ใช่ตาบอด และการบริการที่ต้องเดินทางไปที่เขต หากมีการออนไลน์ ก็เชื่อว่าจะไม่มีการคอร์รัปชันเกิดขึ้น และจะตรวจสอบติดตามได้ ชีวิตจะเปลี่ยนแน่นอน
และปัญหา กทม. เช่นน้ำท่วมเป็นปัญหาใหญ่ยังรอคนไปแก้ หากมีการใช้ไวไฟบริหารระบบปั๊มน้ำ ระบบระบายน้ำชีวิตคนก็จะเปลี่ยน หากเลือกเบอร์ 4 ก็จะรู้ว่า จะแก้ปัญหา ให้กทม. เป็นเมืองอัจฉริยะทั้งหมด และตนเองเคยทำมาแล้ว เปลี่ยนกทม.เราทำได้
ขณะที่วิโรจน์ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าต้องดึงสติกลับมาก่อน กับการสำลักเทคโนโลยีที่มันล้นเกิน สิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องการมากเกี่ยวกับเทคโนโลยีคือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวพันกับชีวิตเขา คือสิทธิในการรู้ ไม่ว่าจะเป็นระบบระบายน้ำ ว่าเมื่อฝนตกหนักเมื่อไหร่ จะสามารถระบายได้ ฝุ่น PM 2.5 หนักหนาสาหัสในเขตไหน การรอรถเมล์ รถเมล์สายใดกำลังจะมา นี่คือสิทธิในการรู้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเทคโนโลยีเกี่ยวกับความโปร่งใสที่จะทำให้คนกรุงเทพฯ สามารถตรวจการใช้งบประมาณกับความคืบหน้าในการใช้งบประมาณต่างๆ ได้ รวมไปถึงการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ เรื่องจราจร การปิดเปิดประตูระบายน้ำ
แต่อย่างไรก็ตาม อย่าบ้าหรือเพี้ยนกับเทคโนโลยีโดยละเลยโครงสร้างพื้นฐาน อย่าลืมว่าเมื่อฝนตกไฟมักจะดับ หากระบบสำรองไฟไม่มี หรือระบบที่เรียกว่าออโตเมติกทรานเฟอร์ หากเฟสไฟนี้ดับให้สลับอีกเฟสใช้ เพื่อให้ประตูน้ำยังสามารถทำงานได้ เครื่องสำรองไฟต้องมี เพื่อให้สถานีสูบน้ำ ยังคงทำงานได้
แม้ว่าช่วงเวลานั้นไฟจะดับก็ตาม นี่คือขั้นพื้นฐานที่สุด ขณะเดียวกันการเรียนออนไลน์ เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถเข้าถึงการเรียนที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุดก็คือ คนคิดว่ากรุงเทพธนาคมที่ลงทุนใน infrastructure ต้องลงทุนในดิจิทัล infrastructure และคอยให้คำแนะนำ และสนับสนุนให้กับหน่วยงานราชการและเขตต่างๆ
และท้ายที่สุดคือ หากเก็บภาษีป้ายต่างๆ ให้อย่างครบถ้วน ทุกวันนี้เข้าระบบเพียงแค่ร้อยละ 30 เราจะมีงบประมาณให้มาอุดหนุนกับบริษัทเล็กๆ แล้วเมืองเมืองนี้จะเป็นเมืองแห่งความหวังของคนรุ่นใหม่ ที่อยากจะใช้เทคโนโลยีในการบุกเบิกธุรกิจ ตนมองว่านี่คือเทคโนโลยีที่เป็นจริงที่สุดสำหรับกรุงเทพฯ
3. ประเด็น แก้ปัญหาเรื่องปากท้อง การค้าขายหาบเร่แผงลอย
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ VS สกลธี ภัททิยกุล
ชัชชาติ ระบุว่า หาบเร่แผงลอยเป็นสิ่งจำเป็นต้องอยู่กับคน กทม. ผู้ซื้อผู้ขายก็ต้องการ พ่อค้าแม่ค้าหายไปจากระบบเป็นหมื่นคน ดังนั้นหัวใจคือ หาบเร่แผงลอยต้องไม่เบียดเบียนคนเดินเท้า ต้องจดทะเบียนผู้ค้า อบรมให้ความรู้สุขลักษณะ ดูว่าพื้นที่ไหนมีหาบเร่แผงลอยได้ และต้องตั้งคณะกรรมการในพื้นที่ขึ้นมา ซึ่งที่ทำสำเร็จแล้วคือซอยอารีย์ มีการจัดระเบียบที่ดี และทำให้พ่อค้าแม่ค้าในห้องแถวขายดีขึ้นด้วย
และควรมีการทำฮ็อกเกอร์เซ็นเตอร์ โดยหาพื้นที่ของราชการหรือเอกชนนำคนหาบเร่แผงลอยเข้าไปอยู่ แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่าย อย่างพื้นที่ซอยนานา มีหาบเร่แผงลอยจำนวนมา และขณะนี้มีศูนย์โอท็อปที่ไม่ได้ใช้งานอยู่ใต้ทางด่วน กทม. จึงควรเข้าไปคุยกับเอกชนแล้วนำเอาหาบเร่แผงลอยเข้าไป และจะต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ใช่ให้เขาอยู่ข้างถนนตลอดไป
ส่วนสกลธี กล่าวว่า ตนมองว่าเรื่องสตรีทฟู้ดเป็นเรื่องสำคัญของคนกรุงเทพฯ แต่เป็นปัญหาที่ต้องสมดุลให้ดี ซึ่งตนพูดในหลายเวทีว่า ตนจะเป็นผู้ว่าฯ ของคนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเป็นผู้ว่าฯ ของคนเดินเท้าหรือแม่ค้า
เพราะฉะนั้นในยุคของผู้ว่าฯ กทม. สกลธี การค้าขายในที่สาธารณะเพื่อช่วยคนรายได้น้อย มีอย่างแน่นอน ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นทางเท้า เพราะฉะนั้นคงขายไม่ได้ทุกจุด แต่จะมีจุดที่ผู้ว่าฯ สกลธีจัดให้ทำการค้าช่วยเหลือคนยากจน ที่ต้องมีทางเท้าที่กว้างขวางเพียงพอ ไม่กระทบต่อการจราจรของคนเดินเท้าเป็นสำคัญ
นอกจากการหาพื้นที่จะทำอย่างไรให้ผู้ค้าอยู่อย่างยั่งยืนในการช่วยเหลือทั้งระบบ อย่างแรกที่กรุงเทพฯ จะช่วยได้คือการจ่ายช่วยเหลือคนรายได้น้อยรายละ 5,000 บาทโดยจ่ายคนที่ยากจนจริง โดยหากเป็นระบบที่ต้องจ่ายมากขึ้นไปอีก ต้องอาศัยพันธมิตร เช่นธนาคารออมสิน ซึ่งในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็เลยทำโครงการกับธนาคารออมสิน ด้วยการช่วยเหลือคนยากจนอยู่แล้ว
ทั้งนี้เมื่อพอมีเงินต้องมีความรู้ด้วย อย่างโรงเรียนฝึกอาชีพของ กทม. หลายแห่งจะสอนในเรื่องของการเย็บปักเสื้อผ้ามาขายเป็นเสื้อผ้า สอนทำอาหารหรือหลายอย่าง ซึ่งเขาก็สามารถนำมาประกอบอาชีพได้
สุดท้ายเมื่อมีเงินมีความรู้ ก็คือสถานที่ขาย คงจะไม่สามารถให้ขายได้ทุกที่ เพราะเป็นผู้ว่าฯ ของคนทุกคน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและพัฒนาแล้วในหลายจุด รวมถึงนำพื้นที่ของหน่วยงานราชการต่างๆ ทางใต้ทางด่วน ที่การรถไฟและที่ของกรมธนารักษ์ การท่าเรือ หรือนำมาช่วยประชาชนค้าขาย โดยสกลธียืนยันว่า หากตนได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน
4. จะพัฒนากรุงเทพฯ อย่างยั่งยืนในเชิงท่องเที่ยวได้อย่างไร
สกลธี ภัททิยกุล VS สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
สกลธีระบุว่า ถือเป็นข้อได้เปรียบของไทยที่ประเทศไหนก็ไม่เหมือน เพราะคนไทยคนกรุงเทพต้อนรับต่างชาติอย่างเต็มที่ และขนมธรรมเนียมวัฒนธรรมใน กทม. มีอยู่ทุกที่อยู่แล้ว ซึ่งโมเดลของการปรับการท่องเที่ยวของกทม.จะเป็นโมเดลที่จะทำเงินเข้า กทม.ด้วย ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ตนเองจะหาเงินเพิ่มจากการที่รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณปกติเข้ามา โดยการเก็บภาษีค่าโรงแรมที่พักเหมือนกับต่างประเทศ แต่เมืองไทยไม่เคยเก็บภาษีส่วนนี้ ซึ่งหากมีการเก็บภาษีค่าโรงแรม เช่น แค่ 100 บาทต่อห้องพัก กับนักท่องเที่ยวหากคิดแค่ปีละ 30 ล้านคน 4 ปีจะได้หมื่นกว่าล้านบาท และจะนำไปต่อยอดนำไปพัฒนาคลองพัฒนาพื้นที่ กทม.ให้ กทม. ดีขึ้นอีกได้
ส่วนคุณสุชัชวีร์กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลกจะไม่กลับมาเเหมือนเดิม เมื่อถามว่าวันนี้นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเที่ยวประเทศไหนเมืองไหน เขาคิดถึงเรื่องไหนก่อน เขาคิดเรื่องความปลอดภัย ทั้งจากการปลอดภัยทางการเดินทางและโรคติดต่อ
ตนพูดชัดเจนว่า หากดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ วันนี้ จะลงไปดูกระชับการทำงานเกี่ยวกับการรับมือโควิด 19 ในทันทีเพื่อให้พร้อมต่อการเปิดประเทศ ไม่เช่นนั้นแล้วนักท่องเที่ยวจะไม่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร ซึ่งตนก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
นอกจากนี้ยังมีเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตนจึงเน้นย้ำว่าจะเป็นผู้ว่าที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการดูแลความปลอดภัย ซึ่งตนตั้งใจว่าหากเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืนนักท่องเที่ยวและคนไทยต้องเดินได้อย่างปลอดภัย ไฟฟ้าต้องสว่างหลอดไฟ LED ไม่ใช่สลัวแบบนี้
นอกจากนี้กล้อง CCTV WiFi ตนขอย้ำว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุด เมื่อมีความพร้อมแล้ว ผู้ว่าฯ กทม. ต้องมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ โดยนโยบายของตนชัดเจนตั้งแต่วันแรก คือตั้งใจจะประชาสัมพันธ์ 12 เทศกาลใหญ่ 50เทศกาลเขต เป็นต้น