นักวิทย์จีน ค้นพบฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานชนิดใหม่ มีชื่อว่า "หงเหอซอรัส" โดยมีส่วนหางยาวกว่าลำตัวตัว และถูกจัดอยู่ในกลุ่ม "พาคีพลูโรซอร์"
สวี กวงฮุย (Xu Guanghui) นักวิทยาศาสตร์จีนและคณะ ค้นพบฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลายในทะเลสายพันธ์ใหม่ ที่มีหางยาวที่สุดตั้งแต่เคยค้นพบมา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่และคาดว่ามาจากยุคไทรแอสซิก (Triassic) ตอนต้นจนถึงตอนกลาง อายุกว่า 244 ล้านปี โดยอยู่ในกลุ่ม "พาคีพลูโรซอร์" (Pachypleurosaur)
พาคีพลูโรซอร์ เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กซึ่งมีลักษณะคล้ายจิ้งจก อาศัยอยู่ในน้ำและมีข้อบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นนักว่ายน้ำชั้นยอด โดยสายพันธุ์ใหม่นี้ถูกตั้งชื่อว่า "หงเหอซอรัส" (Honghesaurus) ตามสถานที่ค้นพบในกลุ่มชาติพันธุ์ฮาหนีและอี๋ (Hani & Yi) แคว้นปกครองตนเองหงเหอ (Honghe) มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) (Yun lan) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
หงเหอซอรัส มีความยาวตั้งแต่หัวจรดปลายหางที่ 47.1 เซนติเมตร โดยเฉพาะเพียงแค่ส่วนหางยาวก็ยาวมากถึง 25.4 เซนติเมตร กระดูกสันหลังรวม 121 ชิ้น ประกอบด้วยกระดูกสันหลังส่วนหางกว่า 69 ชิ้น ทำลายสถิติก่อนหน้านี้ของพาคีพลูโรซอร์ตัวอื่น ๆ ที่มีกระดูกสันหลังส่วนหางมากสุด 58 ชิ้น
โดยกลุ่มคณะนักวิจัยจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล (Institute of Vertebrate Paleontology and Paleoanthropology) อยู่ภายใต้สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Sciences) ได้ค้นพบฟอสซิลของ หงเหอซอรัส ตั้งแต่เมื่อปี 2021 ทว่าเพิ่งมาเผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารไซเอนทิฟิค รีพอร์ตส (Scientific Reports) เมื่อสัปดาห์ก่อน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
"ฟอสซิลดังกล่าวมีรูปร่างเหมือนจิ้งจกน้ำที่มีลำตัวยาว และมีหางยาวเป็นพิเศษ โดยสิ่งมีชีวิตในกลุ่มพาคีพลูโรซอร์ส่วนมากมีขนาดตัวไม่ใหญ่ มักไม่เกิน 50 ซ.ม. ทว่าส่วนหางที่ยาวเป็นพิเศษของ 'หงเหอซอรัส' ช่วยให้ได้เปรียบในการว่ายน้ำ" กวงฮุย กล่าว
นอกจากข้อมูลเชิงลึกใหม่นี้แล้ว การค้นพบนี้ยังเป็นหลักฐานฟอสซิลพาคีพลูโรซอร์ที่เก่าแก่ที่สุดในจีน โดยสัตว์เลื้อยคลานในทะเลตัวแรกที่ค้นพบในจีนและถูกตั้งชื่อตัวแรกเมื่อปี 1957 อยู่ในกลุ่มพาคีพลูโรซอร์เช่นกัน และมีชื่อว่ากุ้ยโจวซอรัส (Keichousaurus)
จ้าว ลี่จวิน (Zhao Lijun) ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเจ้อเจียง (Zhejiang Museum of Natural History) กล่าวว่า หงเหอซอรัส ตัวนี้มีอายุแก่กว่ากุ้ยโจวซอรัสราว 4 ล้านปี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพาคีพลูโรซอร์ที่ถูกพบในยุโรป และมีอายุมากที่สุดในหมู่สัตว์ตระกูลนี้ที่ค้นพบในจีน