svasdssvasds

แคลิฟอร์เนียหิมะตกหนัก! หนา 5 เมตร ส่อเจอภัยแล้งปีหน้า ผลกระทบ Climate Change

แคลิฟอร์เนียหิมะตกหนัก! หนา 5 เมตร ส่อเจอภัยแล้งปีหน้า ผลกระทบ Climate Change

แม้เซียร์รา เนวาดา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย จะมีหิมะตกหนักหนากว่า 5 เมตร แต่ก็อาจหนีไม่พ้นภัยแล้งในปีหน้า ผลกระทบจาก Climate Change

หลังจากที่เซียร์ราทนความแห้งแล้งที่ทำให้ขาดแคลนน้ำและไฟป่าที่ลุกลามมานานหลายเดือน แต่ในเดือนนี้ ธันวาคม กลับมีหิมะตกหนักจนทำลายสถิติในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

โดยเมื่อวันอังคารที่ 28 ธ.ค. มีหิมะตกสะสมมามากกว่า 202 นิ้ว หรือมากกว่า 5 เมตร (5.13 เมตร) ตามข้อมูลจากห้องปฏิบัติการกลางด้านหิมะของเบิร์กลีย์ในเซียร์รา (Berkeley's Central Sierra Snow Laboratory) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ที่ตั้งอยู่ในดอนเนอร์พาส (Donner Pass) ทางตะวันออกของแซคราเมนโต

"แอนดรูว์ ชวาร์ตษ์" (Andrew Schwartz) แกนนำนักวิทยาศาสตร์และผู้จัดการห้องปฏิบัติการหิมะเซียร์รา กล่าวว่า เดือนนี้เป็นเดือนธันวาคมที่มีหิมะตกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในเซียร์รา และเป็นเดือนที่มีหิมะตกมากที่สุดเป็นอันดับสามโดยรวม เดือนที่สูงสุดคือมกราคม 2017 ซึ่งตกลงมา 238 นิ้ว (6.05 เมตร) แต่คาดว่าหิมะภายในอีก 3 วันก่อนที่จะขึ้นปีใหม่มีไม่มากพอที่จะทำลายสถิตินั้น

ห้องปฏิบัติการกลางด้านหิมะของเบิร์กลีย์ในเซียร์รา มีบันทึกหิมะตกในเซียร์ราย้อนกลับไปถึงปี 1970

หิมะมีความหนามากและแข็งสุดๆ ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลากว่า 40 นาทีในการเดินไปถึงเครื่องตรวจวัดซึ่งอยู่ห่างจากหน้าประตูห้องปฏิบัติการเพียง 150 ฟุต (45.72 เมตร)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

แม้จะมีหิมะตกลงมาอย่างหนัก แต่แอนดรูว์ ชวาร์ตษ์ ระบุว่า "ต้องมีหิมะตกลงมามากกว่านี้"

"เหตุการณ์หิมะตกหนักนี้น่าทึ่งอย่างมาก แต่เรากังวลมากกับเดือนถัดๆ ไป ที่พายุอาจจะมีไม่มากนัก หากเซียร์รามีหิมะตกลงมาเพิ่มอีกไม่ถึง 1 นิ้ว มันจะยังต่ำกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ตลอดทั้งฤดูหนาว ซึ่งหมายความว่า เซียร์ราอาจจะประสบกับปัญหาภัยแล้งเกินกว่าที่จะแก้ไขได้" ชวาร์ตษ์ กล่าว

สโนว์แพ็ค คือ ชั้นหิมะหนาๆ ในเซียร์รา เนวาดา เหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติที่ช่วยบรรเทาความแห้งแล้งในฤดูร้อน จากการที่น้ำเริ่มละลายตั้งแต่ในฤดูใบไม้ผล โดยคิดเป็น 30% ของแหล่งน้ำจืดของแคลิฟอร์เนียต่อปี เมื่อปีที่แล้วมีสโนว์แพ็คต่ำกว่าระดับจนน่าใจหายเมื่อสิ้นสุดฤดูหนาว

ตัวอย่างเช่น อ่างเก็บน้ำในทะเลสาบโอโรวิลล์ (Lake Oroville) มีระดับน้ำสูงสุดที่ 37% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ประมาณ 71% ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำโอโรวิลล์ไม่สามารถดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เนื่องจากมีระดับน้ำต่ำ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เปิดดำเนินการในปี 1967

โดยในปีนี้เป็นหนึ่งในปีที่แห้งแล้งที่สุดจากสถิติ 126 ปีของรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมที่ทุบสถิติแห้งแล้งที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี1895 ซึ่งระดับความแห้งแล้งทั่วทั้งภูมิภาคสูงกว่า 90%

แคลิฟอร์เนีย เริ่มแห้งแล้งตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงเดือนตุลาคมถึงเริ่มมีฝนโปรยปรายลงดับความร้อน พายุฝนที่รุนแรงดึงความชื้นมาจากมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่า "แม่น้ำในบรรยากาศ" พายุฤดูหนาวเหล่านี้มีความสำคัญในการพิจารณาว่าแคลิฟอร์เนียจะจบลงด้วยความแห้งแล้งหรือไม่ ระหว่างสองฤดูหนาวที่ผ่านมา มีพายุเพียงลูกเดียวเท่านั้นที่ก่อให้เกิดฝน

เมื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) มีความเร่งตัวไปในภาวะโลกร้อน (Global Warming) มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิในฤดูหนาวก็จะอุ่นมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ผลที่ตามมาคือ หิมะลดลง จากเดิมที่เคยเป็นหิมะที่ตกลงมากลับกลายเป็นฝนที่ตกลงมาแทน

นักวิทยาศาสตร์พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มความรุนแรงของสภาพอากาศที่รุนแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นการรบกวนรูปแบบธรรมชาติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างดุเดือดและสุดขั้วระหว่างความแห้งแล้งและฝนตกหนัก

แคลิฟอร์เนียได้เห็น "สภาพอากาศเลวร้าย" ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งพายุในบรรยากาศของแม่น้ำทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหนึ่งปีและความแห้งแล้งที่รุนแรงทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในครั้งต่อไป

ในทำนองเดียวกัน ชวาร์ตษ์ กล่าวว่า พวกเขาเห็นฤดูหนาวที่เปลี่ยนไป ในปีนี้อาจเป็นฤดูหนาวที่ปราศจากหิมะ แต่ปีถัดไปกลับเป็นพายุหิมะที่หนาวเหน็บ และวนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบนี้ตลอดๆ พร้อมย้ำซ้ำว่า "หิมะในเซียร์ราเนวาดากำลังลดลงอย่างชัดเจน!"

related