ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19 ฟื้นฟูและต่อเติมเพื่อเติบโต”
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2564 ในหัวข้อ “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่ : โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19”
งานดังกล่าว จัดขึ้นวันที่ 2 , 9 และ 16 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบเวทีประชุม Virtual Conference ซึ่งจะมีนักวิชาการ-นักวิจัย TDRI และผู้เชี่ยวชาญ มากันร่วมเสนอแนวคิดใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องและเท่าทันโลกยุคหลังโควิด-19
ในการสัมมนาวันแรก (2 พ.ย.) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เสนอ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19: ฟื้นฟูและต่อเติมเพื่อเติบโต” โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ทำไม ไทยต้องทบทวนโมเดลสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ?
ดร.สมเกียรติ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็น ที่ไทยต้องทบทวนโมเดลสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะโมเดลเดิมไม่พอเพียงต่อการรักษาอัตราการเจริญเติบโตให้ทันกับสังคมสูงอายุ ที่ไทยกำลังจะประสบ และมีแนวโน้มทำให้ไทยติดกับดักรายได้ปานกลางไปอีกยาวนาน
ซึ่งเกือบ 2 ปี ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ฯลฯ ต่างบอบช้ำไปตามๆ กัน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กล้มละลาย มีอัตราคนว่างงานเพิ่มขึ้นสูง การขาดความรู้และทักษะของนักเรียน ส่งผลให้ “ปัจจัยการผลิต” คือ “คน” และ “ทุนขนาดเล็ก” อ่อนแอลง ฉะนั้นแล้วโมเดลเดิม หรือโมเดลในปัจจุบัน จะไม่เพียงพอในการกู้วิกฤตครั้งนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Twitter ทดสอบฟีเจอร์ใหม่ แจ้งเตือนเมื่อการถกเถียงที่อาจรุนแรงขึ้น
2. คาด หากไม่เปลี่ยนโมเดลในการพัฒนาประเทศ ไทยจะเติบโตช้าลงในระยะยาว
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า หลังจากนี้เศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากวิกฤติโควิด-19 แต่เป็นเพียงระยะสั้นๆ ในช่วงต้นเท่านั้น แต่มีแนวโน้มเติบโตช้าลงในระยะยาว จากการที่สังคมไทยกลายเป็นสังคมสูงวัย อัตราการเติบโตอาจลดลงเหลือระดับประมาณร้อยละ 2.6 ต่อปี ในปี 2579 - 2583
ซึ่งโมเดลเดิมนั้น ไทยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเน้นการลงทุน และเพิ่มจำนวนแรงงานเข้าสู่ตลาด ตลอดจนสร้าง ผลิตภาพโดยรวม* ซึ่งหมายถึงการสร้างผลผลิตมากขึ้น โดยใช้ทุนและแรงงานเท่าเดิม โดยมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพโดยรวม จะไม่ถึง 2 % ต่อปี
แต่ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภาพโดยรวมขึ้นได้อีกร้อยละ 0.5 ต่อปี อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ก็ยังจะไม่สูงพอที่จะทำให้พ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ได้ในเวลา 20 ปี
และเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ ก็จะไม่มีทรัพยากรมากพอสำหรับเงินบำนาญและสวัสดิการการรักษาพยาบาล ซึ่งจะทำให้คนไทยจำนวนมากเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ฉะนั้นแล้ว จึงจำเป็นต้องสร้างโมเดลใหม่ๆ ในการพัฒนาประเทศ ที่อาศัยการฟื้นฟู และต่อเติม
โดย ดร.สมเกียรติได้ขยายความว่า “ฟื้นฟู” และ “ต่อเติม” ในที่นี้หมายถึง การฟื้นฟูคนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่เดิม พร้อมกับต่อเติมด้วยการยกระดับผลิตภาพในภาคการผลิตควบคู่ไปกับการปฏิรูปภาครัฐ
3. ฟื้นฟู : ลดความสูญเสียชีวิต สุขภาพและเวลาของประชาชน
ดร.สมเกียรติ อธิบายว่า การฟื้นฟูคนและสิ่งแวดล้อม คือ ลดความสูญเสียชีวิต สุขภาพ และเวลาของประชาชน เพราะคนไทยสูญเสียชีวิต สุขภาพ และเวลาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ และอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก
เช่น ป่วยเป็นโรคจาก PM 2.5 ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละ 3 หมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกประมาณ 2 หมื่นคน ต่อปี ทำให้คนไทยสูญเวลาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ และอุบัติเหตุรวมกันสูงถึงกว่า 4 ล้านปี ในแต่ละปี
และไทยยังสูญเสียเวลาจากกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพ จากการถูกเกณฑ์ทหาร โดยชายไทยอายุ 21-22 ปีถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารปีละเกือบ 1 แสนคน ทำให้เกิดความสูญเสียจากการไม่ได้ทำงานและเรียนรู้ทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพในช่วงเวลาที่เหมาะสม
โดยการฟื้นฟูเริ่มได้จากการลดความสูญเสียเสียชีวิต สุขภาพ และเวลาในการทำงาน หากประเทศไทยสามารถลดการสูญเสียชีวิต สุขภาพ และเวลาในการทำงานได้ จากการลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุลง 50 % ใน 5 ปี ลดการสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อลง 25 % ใน 10 ปี ซึ่งเป็นเป้าที่ประเทศไทยตั้งไว้อยู่แล้ว และลดการเกณฑ์ทหารลง 50 % โดยทันที ก็จะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยขึ้นได้อีก 0.62 % ต่อปี เมื่อเทียบกับแนวโน้มในปัจจุบันไปตลอด 20 ปี
4. ฟื้นฟู : ด้วยการเพิ่มคุณภาพให้กับประชากร
นอกจากการลด ที่กล่าวไว้ในข้อที่ 3 แล้ว ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การฟื้นฟูยังรวมถึงการเพิ่มคุณภาพประชากร โดยเฉพาะการเพิ่มคุณภาพให้กับเยาวชน ด้วยการดูแลให้มีเด็กตกหล่นในระบบการศึกษาลดลง การยกระดับคุณภาพในการดูแลเด็กเล็กและคุณภาพการศึกษาโดยรวม
เพราะหากสามารถลดจำนวนเด็กตกหล่นในระบบการศึกษาได้ และยกระดับทักษะตั้งแต่เด็กปฐมวัยไปจนถึงนักเรียนในระบบการศึกษาพื้นฐาน พร้อมเพิ่มคุณภาพการศึกษา ก็จะช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเมื่อเทียบกับแนวโน้มในปัจจุบันได้อีกเฉลี่ย 0.21 % ต่อปีไปตลอด 20 ปี
5. ต่อเติม : การลงทุนและเพิ่มผลิตภาพประเทศ
ดร.สมเกียรติ อธิบายว่า “การต่อเติม” ในที่นี้ หมายถึงการลงทุนและเพิ่มผลิตภาพประเทศในแนวทางที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น
การเพิ่มผลิตภาพของภาคการผลิต สามารถทำได้โดยการลดความสูญเสียต่างๆ ด้วยการผลิตแบบลีน (lean production) ควบคู่กับภาครัฐลงทุนในการวิจัยพัฒนา และสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก
หากประเทศไทยสามารถยกระดับผลิตภาพรวมให้สูงกว่าระดับในปัจจุบันได้อีก 0.5 % ต่อปี โดยการดำเนินการที่กล่าวมานี้ ก็จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตเฉลี่ยขึ้นอีก 0.91 % ต่อปี ตลอดระยะเวลา 20 ปีนับจากนี้
6. ต่อเติม : เร่งปฏิรูปภาครัฐ
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การต่อเติมยังรวมถึงการเร่งปฏิรูปภาครัฐ ซึ่งมีความล่าช้ามานาน ทำให้หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งไม่สามารถให้บริการแก่ภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเต็มไปด้วยกฎระเบียบที่ล้าหลัง สร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็นแก่ภาคธุรกิจและประชาชน
โดยต้องมีปฏิรูปภาครัฐ ด้วยการปรับไปสู่รัฐบาลดิจิทัล (digital government) และการปฏิรูปกฎระเบียบที่ล้าสมัยที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของประชาชน ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า “การกิโยตินกฎระเบียบ” (regulatory guillotine)
ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการกิโยตินกฎระเบียบในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตหรืออนุมัติ 198 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับ 1,094 กระบวนงาน โดยแก้ไขกฎระเบียบที่ล้าสมัย 43 % และเลิกกฎระเบียบที่สร้างปัญหาและไม่มีประโยชน์ 39 % ก็จะสามารถลดต้นทุนของทั้งภาครัฐและประชาชนได้ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 0.8 % ของ GDP
ดังนั้น การให้บริการรัฐบาลดิจิทัล และการกิโยตินกฎระเบียบอย่างต่อเนื่อง จะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉลี่ยขึ้นได้อีกร้อยละ 0.25 ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มในปัจจุบันไปตลอด 20 ปี
7. สรุป “โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19: ฟื้นฟูและต่อเติมเพื่อเติบโต”
แม้ไทยบอบช้ำจากวิกฤตโควิด-19 และกำลังจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงจากการกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่ไทยก็ยังมีโอกาสในการฟื้นฟูและต่อยอดการพัฒนาจากการดำเนินการปฏิรูปใน 4 แนวทางคือ
- ลดความสูญเสียด้านชีวิต สุขภาพ และเวลาของประชาชน
- ยกระดับทักษะของประชาชน
- ลงทุนและยกระดับผลิตภาพ
- ปฏิรูปภาครัฐ
หากดำเนินการได้ตามนี้ ไทยก็จะเติบโตได้ในระดับที่สูงกว่าแนวโน้มที่เป็นอยู่ได้อีก 2 % ต่อปี ไปอีกตลอด 20 ปี ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูง หลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ด้ในที่สุด
ที่มา
Day 1 TDRI Annual Public Virtual Conference 2021
โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ หลังโควิด-19: ฟื้นฟู-ต่อเติมเพื่อเติบโต
*ผลิตภาพ หรือ Productivity คือ ตัวชี้วัดความสำเร็จในการบริหารจัดการต้นทุนทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วัตถุดิบ เวลา และบุคลากร เพื่อสร้างผลกำไรสูงสุดหรือผลผลิตที่ตอบโจทย์ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ
**การผลิตแบบลีน (lean production) คือ ระบบการผลิตที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value added) ให้กับผลิตภัณฑ์โดยการระบุหรือบ่งชี้และขจัดความสูญเปล่าที่เกิดจากกระบวนการผลิตการบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบพอดีและพอเพียงในเวลาที่เหมาะสม แนวคิดลีนจะเป็นการปรับเปลี่ยนจากความสูญเปล่า (waste) ไปสู่คุณค่า (Value) ในมุมมองของกระบวนการถัดไปหรือผู้รับ