น้ำมูกทะเล : ปัญหาสิ่งแวดล้อมประเทศตุรกีต้อง เร่งแก้ไข เพราะหากไม่เร่งรีบดำเนินการเรื่องนี้ มันกำลังจะกลายเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสัตว์ทะเล และธุรกิจท่องเที่ยว กระทบชิ่งล้มกันต่อเนื่องทั้งระบบเป็นโดมิโน
เกิดอะไรขึ้นที่ทะเลตุรกี
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นาย มูรัต คูรุม รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมประเทศตุรกี ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมการทำความสะอาดทะเลครั้งใหญ่ที่สุด และตระหนักถึงปัญหา น้ำมูกทะเล ซึ่งประเด็นนี้ เริ่มกันมาในวันอังคารที่ 8 มิถุนายนนี้ จนกระทั่งถึง ณ เวลานี้เป็นเวลาเกิน 1 สัปดาห์แล้ว
โดยกิจกรรมการทำความสะอาดทะเลนั้น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่เอาชนะปัญหาเรื้อรังจากการเกิดภาวะ น้ำมูกทะเล (sea snot) ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อทะเลมาร์มาร่า ซึ่งทะเลมาร์มาร่า มีลักษณะเป็นอ่าวค่อนข้างปิด เพราะมีทางออกทะเลแค่นิดเดียว และอยู่ทางตอนใต้ของเมืองอิสตันบูล
ทำความรู้จัก "น้ำมูกทะเล"
น้ำมูกทะเล หรือ เมือกทะเล นั้น คือชั้นของอินทรียวัตถุหนา เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และอุตสาหกรรมประมงของประเทศ
ทะเลจะปกคลุมไปด้วยสารเหนียวหนืดสีเทา ซึ่งบางส่วนจมอยู่ใต้คลื่น ทำให้สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลขาดอากาศหายใจ
โดยในถ้อยคำแถลง นาย มูรัต คูรุม ระบุว่า ตุรกีมีแผนการที่จะกำหนดให้ทะเลมาร์มาร่าทั้งหมดเป็นพื้นที่คุ้มครอง ลดปัญหามลพิษ และปรับปรุงดูแลแก้ปัญหาน้ำเสียจากเมืองชายฝั่งและเรือต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาวะ "น้ำมูกทะเล" ลุกลามรุนแรง โดยมาตรการที่ตุรกีวางแผน คือตั้งเป้าลดระดับไนโตรเจนในทะเลลงประมาณ 40%
ขณะที่ บรรดานักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนและปัญหามลพิษ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของอินทรียวัตถุเหล่านี้
ส่วน ราซีป ทายยิป เออร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้ประณามการระบาดของน้ำเสียจากเมืองต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งนครอิสตันบูล ที่มีประชากร 16 ล้านคน และให้คำมั่นว่าจะ ทำความสะอาดน้ำมูกทะเลของให้หมดไปให้ได้
ผลกระทบทุกภาคส่วน
ธุรกิจร้านอาหารริมทะเล ต่างได้รับผลกระทบด้านการท่องเที่ยว หลังจากต้องปิดกิจการยาวนานในช่วงโควิด-19 แต่พอภาครัฐให้เปิดกิจการได้ก็ต้องมาประสบปัญหาเรื่องน้ำมูกทะเลซ้ำเติมอีก
ด้าน มุสตาฟา ส่าหรี ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลของตุรกี ระบุว่า สาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำมูกทะเล ก็คือการปล่อยของเสียลงทะเล จนมีการสะสมของมลพิษที่รุนแรงขึ้น ประกอบกับภาวะโลกร้อน ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเมือกทะเลในตุรกี แต่นับว่าครั้งนี้มีความรุนแรงมากที่สุด
โดยทางการตุรกี จัดตั้งทีมเฉพาะกิจ จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ลงปฏิบัติการทำความสะอาดเก็บกวาดเมือกทะเล หรือ น้ำมูกทะเล ให้หมดโดยเร็ว. ซึ่งนับเป็นเวลาเป็นสัปดาห์แล้ว สีของน้ำทะเลก็ยังขุ่นมัว และ ยังไม่กลับไปมีสี เทอร์ควอยซ์ เหมือนเดิม
บรรดานักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนและปัญหามลพิษ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของอินทรียวัตถุ ซึ่งประกอบด้วยจุลินทรีย์หลากหลายชนิด และสามารถเจริญเติบโตได้เมื่อน้ำเสียที่อุดมด้วยสารอาหารไหลลงสู่ทะเล ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า จะช่วยฟื้นฟูสภาพน้ำทะเลให้ดีขึ้นได้ กลับมาอยู่ในสภาพเดิมได้แต่ต้องใช้เวลา
อันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
น้ำมูกทะเล เป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์น้ำ และเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือและการทำประมง เพราะแม้สารที่เป็นครีมและเจลาตินโดยทั่วไปไม่เป็นอันตราย แต่สามารถดึงดูดไวรัสและแบคทีเรีย ตลอดจนมนุษย์ที่สัมผัสกับน้ำปนเปื้อน นอกจากนี้ ยังไปเคลือบเหงือกของสัตว์ทะเล ทำให้สัตว์ขาดออกซิเจน และตายในที่สุด
น้ำมูกทะเล สะท้อนให้เห็นแล้วว่าพฤติกรรมของมนุษย์มีผลต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และต้องและเอฟเฟกต์จากธรรมชาติก็มีผลต่อมนุษย์เช่นกัน
ดังนั้นภาพที่ ปรากฏออกมาบ่งบอกแล้วว่า ทั้ง 2 ต้องเกื้อกูลกันไปอีกนาน... และมันไม่สำคัญว่าจะเริ่มต้นแก้ปัญหาเรื่องนี้ช้าไปแค่ไหน แต่ตราบใดที่พยายามแก้ไข เดินหน้าปรับปรุง...สุดท้ายปัญหาน้ำมูกทะเลจะคลี่คลายปมในที่สุด