svasdssvasds

‘ทะเล’ ไม่ใช่ที่ทิ้ง! แต่ทำไม ‘ขยะพลาสติก’ กลับเกลื่อนทะเล

‘ทะเล’ ไม่ใช่ที่ทิ้ง! แต่ทำไม ‘ขยะพลาสติก’ กลับเกลื่อนทะเล

สำหรับ วันทะเลโลก หรือ วันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) ปี 2021 นี้ ปัญหาขยะพลาสติกจะหนักขึ้นอีก บวกกับหายนะทางทะเลครั้งล่าสุด เมื่อเรือขนสินค้า ทั้งสารเคมี ขยะพลาสติก น้ำมันหล่อลื่น เกิดเหตุไฟไหม้กลางทะเลศรีลังกา ส่งผลให้ทะเลและชายหาดอ่วมหนักด้วยขยะพลาสติก 78 ตัน!

พลาสติกทุกรูปแบบที่อำนวยความสะดวกให้เราตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชี้ชัดว่า ทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติในปัจจุบัน โดยเฉพาะ ระบบนิเวศทางทะเล ที่เสียหายและเสื่อมโทรมหนักหนาสาหัสขึ้นทุกวัน เพราะกลายเป็นปลายทางของขยะทุกรูปแบบ โดยเฉพาะ ขยะพลาสติก ที่ย่อยสลายยากและนานสุดๆ

ขยะพลาสติกในทะเลเยอะจริง นี่คือ 7 สิ่งที่ประเทศไหนๆ ก็เจอ

  • ก้นบุหรี่ 
  • พลาสติกห่ออาหาร 
  • ขวดน้ำดื่ม 
  • หลอด 
  • ถ้วยและจาน 
  • ฝาขวด 
  • ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 

มนุษย์ยังไม่ไหว แล้วสัตว์ทะเลจะไหวเหรอ

  • ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สัตว์ทะเลอาจถูกจับหรือถูกฆ่า เพราะโดนอวนหรือตาข่ายใดๆ ลากติดไปได้ 
  • แหล่งอาหารตามธรรมชาติลดลง สัตว์ทะเลอาจคิดว่าขยะพลาสติกนั้นเป็นอาหารกินได้ โดยขยะพลาสติกที่น่ากังวลที่สุดคือ ขยะพลาสติก โดยเฉพาะที่มีขนาดเล็กมากในระดับ ไมโครพลาสติก ยิ่งย่อยสลายยากเข้าไปใหญ่

ขยะพลาสติก

'ไมโครพลาสติก' ที่เขาพูดกัน มันคืออะไร?

ไมโครพลาสติก (Microplastics) ก็คือ พลาสติกที่มีอนุภาคเล็กมากๆ โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งมักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือไม่ก็เป็นพลาสติกที่ผ่านการผลิตให้มีขนาดเล็ก สำหรับการใช้งานเฉพาะ รวมถึงเป็นพลาสติกที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ ต่อไป

ปัญหาสำคัญที่เกิดจากไมโครพลาสติก

  • สามารถแพร่กระจาย สะสม ตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ทั้งในน้ำและในตะกอนดิน
  • ไม่ใช่วัสดุตามธรรมชาติจึงย่อยสลายยาก อาจใช้เวลานานหลายสิบปี
  • หากสิ่งมีชีวิตในทะเลกินไมโครพลาสติกเข้าไป สารเคมีต่างๆ ก็จะค่อยๆ สะสมในร่างกาย สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก ขยายวงเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร ส่งผลต่อการอยู่รอด การสืบพันธุ์หรือสูญพันธุ์ กระเทือนไปทั้งระบบนิเวศ
  • สำหรับสัตว์ที่กินเม็ดไมโครพลาสติกเข้าไป เคยมีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบว่า 1) ไมโครพลาสติกเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือด ส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจ 2) สารที่เป็นองค์ประกอบและพบการปนเปื้อนอยู่ในไมโครพลาสติกมักเป็นสารพวกโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ดีดีที (DDT) เป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้
  • เมื่อสัตว์ทะเลกลายเป็นอาหารของสัตว์ปีก สัตว์บก มนุษย์ สารเคมีหรือสารปนเปื้อนทั้งหลายก็เข้ามาสะสมในร่างกายของผู้บริโภคต่อ ซึ่งสามารถก่อโรคได้อีกมากมาย ส่งผลร้ายต่อระบบนิเวศทั้งหมด ไม่ใช่แค่ระบบนิเวศทางทะเลเท่านั้น 

เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น ไมโครพลาสติก ก็คล้ายวายร้ายที่แฝงตัวอยู่ในขวดน้ำดื่ม หลอด ภาชนะพลาสติกต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา และผ่านร้อนผ่านหนาวมา เมื่อมนุษย์ทิ้งขยะหรือธรรมชาติพัดพาพลาสติกออกไป สารเคมีในตัววายร้ายก็จะแพร่กระจายและสะสมไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ก่อเกิดเป็นหายนะระลอกใหม่

ขยะพลาสติก ทะเล

วันทะเลโลก วันมหาสมุทรโลก ขยะพลาสติก

Source : Unsplash

แนวทางที่ต้องตอกย้ำ เพื่อช่วยให้ระบบนิเวศทางทะเลดีขึ้น

  • ลดการใช้พลาสติก (Reduce)
  • ใช้พลาสติกซ้ำ (Reuse)
  • รีไซเคิล (Recycle)
  • ทิ้งขยะอย่างถูกต้องเหมาะสม (Dispose of waste properly)
  • มีส่วนร่วมในการทำความสะอาดและร่วมดูแลพื้นที่ของตัวเอง  (Focus) 
  • ตระหนักอยู่เสมอว่า ผืนดิน - ผืนน้ำนั้นเชื่อมกันอยู่ ดังนั้น ไม่ว่าจะทิ้งขยะใดๆ ก็สามารถพัดพา กระจัดกระจายไปไกลกว่าที่เราจะคาดคิดได้ ดังเรื่องเคยเกิดขึ้นคือ พบหมีโพลาร์คาบถุงพลาสติกเดินไปมาอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ

ที่มา : marinedebris.noaa.govotop.dss.go.th

related