ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ที่ได้รับผลกระทบเสียหายอย่างรุนแรงจากสึนามิ เมื่อ 10 ปีก่อน ลงสู่ท้องทะเล แต่ชาติเพื่อนบ้านต่างก็พยายามคัดค้านเต็มที่ ขณะที่ไทยมีมาตรการคัดกรองสุดเข้มในการนำเข้าปลาจากญี่ปุ่น
ย้อนกลับไปปี 2011 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งรุนแรง 9.0 แมกนิจูด คลื่นยักษ์ซัดสาดถล่มแนวป้องกันและเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะจนทำให้เกิดหายนะครั้งใหญ่
ทางการญี่ปุ่นได้กำหนดเขตหวงห้ามไม่ให้คนเข้าและมีขยายพื้นที่ออกไปเรื่อย ๆ ตามการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้า และต้องมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่มากกว่า 150,000 คน ณ เวลานั้น และมีผู้เสียชีวิตราวๆ 19,000 คน
และในปี 2018 รัฐบาลญี่ปุ่น เคยยอมรับว่าคนงานคนหนึ่งได้เสียชีวิตหลังจากสัมผัสกับสารกัมมันตรังสี และยอมรับที่จะจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย และทำให้มีการประท้วงของคนญี่ปุ่นจำนวนมาก เพราะคนที่เสียหายมองว่า การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้า เป็น "ภัยพิบัติที่เกิดจากฝีมือมนุษย์อย่างแท้จริง" เพราะโรงไฟฟ้ามีแผนรับมือที่ดีไม่พอ
ถึงแม้เวลาผ่านมาถึง 10 ปีแล้ว แต่เมืองหลายแห่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ที่อยู่ใกล้กับฟุกุชิมะ ยังเป็นพื้นที่หวงห้าม และทางการกำลังทำความสะอาดพื้นที่เพื่อให้ชาวเมืองกลับเข้ามาได้
ในปี 2020 รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มปล่อยข่าวว่า อาจเริ่มปล่อย "น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว" แล้วเพื่อลดการปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ปีหน้า 2021 และเรื่องนี้ก็กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง
โดย รัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า เตรียมจะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีราว 1.25 ล้านตัน ที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุมิชะลงสู่ทะเล ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มปฏิบัติการได้ในราว 2 ปีนี้ และน่าจะใช้เวลาหลายสิบปีจึงจะเสร็จสิ้นทั้งหมด โดยมีบริษัท Tokyo Electric Power หรือ TEPCO ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลโรงงาน รับผิดชอบกระบวนการปล่อยน้ำทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมา ญี่ปุ่นนำน้ำไปผ่านการแปรรูปขั้นสูง และเก็บ "น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว" อยู่ในแทงก์มาเป็นเวลา 10 ปี แต่ก็ยังเหลือสาร "ทริเทียม" อยู่
นอกจากนี้ ญี่ปุ่น ให้คำมั่นว่าจะ "การตัดสินใจปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดแล้ว และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการฟื้นฟูฟุกุชิมะ"
โดย บริษัท TEPCO ซึ่งช่วยดูแลโครงการนี้ ระบุว่า หลายปีที่ผ่านมา ได้ใช้ระบบกรองรังสีออกจากน้ำ ที่เรียกกันว่า ALPS (Advanced Liquid Processing System) เพื่อให้มั่นใจว่า แท่งเชื้อเพลิงยูเรเนียมที่ร้อนจัดได้เย็นลงแล้ว กล่าวแบบง่ายๆคือน้ำที่ปล่อย อยู่ในขั้นที่ปลอดภัยได้รับการกรองสารพิษแล้ว
ขณะที่ นักวิทยาศาสตร์บางส่วน เชื่อว่า น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี หากลงในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่จะช่วยเจือจางน้ำที่มีการปนเปื้อนได้ และทำให้ความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ลดต่ำลง แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มสิ่งแวดล้อมกรีนพีซระบุว่า น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีอาจสร้างความเสียหายถึงขั้นทำลายดีเอ็นเอของมนุษย์ได้
ด้าน โยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรี เผยว่า การปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้า เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อที่จะได้จัดการกับโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ และดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ของฟุกุชิมะต่อไป โดยปริมาณน้ำที่จะปล่อยลงสู่ทะเล เทียบเท่ากับน้ำในสระว่ายน้ำโอลิมปิกราว 500 สระเลยทีเดียว
ด้าน ราฟาเอล มาริอาโน กรอสซี่ ผู้อำนวยการ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ระบุว่า ทั่วโลกก็มีการปล่อย “น้ำปนเปื้อนทริเทียม” แบบที่ญี่ปุ่นกำลังจะปล่อยสู่มหาสมุทรออกมาเป็นประจำอยู่แล้ว และการปล่อยน้ำปนเปื้อนของฟุกุชิมะลงสู่ทะเลนี้ จะต้องได้รับการจับตาให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างใกล้ชิด ดังนั้น มันไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร...
แต่...เพื่อนบ้านญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ต่างก็คัดค้านการตัดสินใจนี้ และกังวลผลกระทบจากการปล่อยทริเทียมสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ จีนและเกาหลีใต้เป็น 1 ใน 15 ประเทศที่จำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากญี่ปุ่น อันเนื่องมาจากภัยพิบัติฟุกุชิมะ และยังมีรายงานว่า ชาวเกาหลีใต้จำนวนหนึ่งไปรวมตัวประท้วงด้านหน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล ชี้ว่า สิ่งที่ญี่ปุ่นทำเป็น “การก่อการร้ายทางนิวเคลียร์”
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ยังออกมาท้าทายให้นายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นด้วยลองดื่มน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วด้วย เพราะก่อนหน้านี้ รมต.คลังญี่ปุ่น เคยคุยโวว่า "น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีนั้น ถ้าจะดื่มก็ดื่มได้..."
ข่าวญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ที่ผ่านการกรองบำบัดแล้ว ย่อมมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นแฟนปลาดิบชาวไทยด้วย เพราะไทย นำเข้า ปลานำเข้าจากฟุกุชิมะ ตลอดตั้งแต่หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2011
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ไทยก็นำเข้าปลาจากทุกประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นเป็นปกติอยู่แล้ว โดยไม่มีการสั่งห้ามนำเข้าแต่อย่างใด แต่การดำเนินการจำต้องเป็นไปตามมาตรฐานนำเข้าที่สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กำหนด ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีปัญหาใดๆ
ในอดีต มีการตั้งคำถามถึงความปลอดภัย ปลานำเข้าจากฟุกุชิมะมาเสมอ ซึ่งทางไทยได้ไขคำตอบกับเรื่องนี้ โดยแจกแจงรายละเอียดขั้นตอนการนำเข้าปลาทุกชนิดต้องผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอน โดยเจ้าหน้าที่ด่านตรวจประมง จะต้องตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงต้องเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจด้วย และหากผ่านเกณฑ์มาตรฐานจึงสามารถให้นำเข้าได้
นอกจากนี้ หลังเกิดเหตุวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แจ้งว่า มีมาตรการในการเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าอาหารทุกประเภท จาก 8 จังหวัด ได้แก่ ฟุกุชิมะ, กุมมะ, อิบารากิ, โทจิงิ, มิยางิ, ชิบะ, คานากาวะ, และชิซูโอกะ แสดงผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากห้องปฏิบัติการของรัฐ หรือเอกชนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากประเทศญี่ปุ่น โดยระบุประเภทชนิดอาหาร และปริมาณกัมมันตรังสี (Certificate of Analysis)
หากผู้นำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นไม่มีเอกสารตามที่ประกาศฯ กำหนด ด่านอาหารและยาจะยังไม่อนุญาตให้ผู้นำเข้านำอาหารเข้ามาในประเทศ จนกว่าจะมีเอกสารหรือหลักฐานดังกล่าวมาแสดง
ดังนั้น แฟนบอยปลาดิบไทย ยังคงจะพอวางใจได้ในระดับหนึ่ง...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• เพลงดาบพิฆาตอสูรโควิด : ซามูไรปรับตัวสอนออนไลน์
• รมว.สาธารณสุขญี่ปุ่น ขอโทษ คนในกระทรวงจัดปาร์ตี้ฝ่าฝืนมาตรการควบคุม
• Dead sea ทะเลสาบมรณะ : ภาวะวิกฤตที่บ่งบอกว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป