svasdssvasds

7 มิ.ย. กลุ่มจองผ่าน "หมอพร้อม" ได้ฉีดวัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" เป็นหลัก

7 มิ.ย. กลุ่มจองผ่าน "หมอพร้อม" ได้ฉีดวัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" เป็นหลัก

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผย ผู้ที่จองฉีดวัคซีนโควิด วันที่ 7 มิ.ย.64 ผ่าน "หมอพร้อม" จะได้รับการฉีด "แอสตร้าเซนเนก้า" เป็นหลัก โดย กทม. ได้สัดส่วนสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ

วันนี้ (2 มิ.ย.) องค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ร่วมกันจัดบรรยายสรุปเกี่ยวกับเรื่อง ข้อมูลโควิดและการกระจายวัคซีนในประเทศไทย โดยมีผู้แทนขององค์การอนามัยโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข และผู้เกี่ยวกับในการบริหารจัดการการกระจายวัคซีนมาให้ข้อมูลผ่านทาง Zoom

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้จะเป็นวันที่เริ่มต้นการฉีดจำนวนมากในทุกพื้นที่ ซึ่งครั้งนี้จะมีวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค การจัดการจะมีทั้งการเตรียมการพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดจะมีโรงพยาบาลระดับจังหวัด โรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่นๆ ร่วมดำเนินการ โดยจุดใหญ่ของเช้าวันที่ 7 มิ.ย.นี้จะอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ ที่ผ่านมาได้มีการทดสอบระบบแล้ว โดยครั้งนี้จะเป็นการฉีดให้กลุ่มที่ 2 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ซึ่งคนที่จองสิทธิฉีดและขึ้นทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” ตั้งแต่ พ.ค.ที่ผ่านมาก็จะได้รับการฉีดวัคซีนตามนัดหมายของสถานพยาบาล ส่วนการลงทะเบียนเพิ่มเติมอื่นๆ ก็จะเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น

ลักษณะการฉีดวัคซีนวันที่ 7 มิ.ย. จะทำให้เห็นว่าการเข้าถึงการฉีดวัคซีนเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มคือผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และมีระบบการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ด้วย ซึ่งขณะนี้ทุกโรงพยาบาลได้ทยอยรับวัคซีนเพื่อเตรียมการแล้ว และจะคิกออฟพร้อมกันในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ส่วนชาวต่างชาติเข้าถึงได้เช่นกัน แต่เป็นการลงทะเบียนล่วงหน้า ส่วนการกระจายวัคซีน จะส่งเป็นงวด 4 งวดในเดือน มิ.ย.นี้ โดย 1-2 วันนี้ได้ส่ง 240,000 โดส และจะส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า อีกล้านกว่าโดสช่วงท้ายสัปดาห์  

ดังนั้น ทั้งเดือน มิ.ย.จะมีการส่งวัคซีนไปยัง รพ.ต่างๆ ประมาณ 5-6 ล้านโดส ส่วนจังหวัดที่ห่างออกไปและไม่มีการระบาดมากก็จะได้รับจำนวนวัคซีนลดลง แต่จะได้ครบแน่นอนทุกจังหวัดและครบทุกคนภายใน 4-5 เดือนนี้

นพ.โสภณ กล่าวย้ำว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ที่ลงทะเบียนหมอพร้อม มีแนวโน้มได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก แต่ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ด้วย โดยคาดว่าในวันที่ 7 มิ.ย. นี้ อาจมีการฉีดวัคซีนได้มากถึง 5 แสนโดส ทั้งนี้การฉีดวัคซีนในปัจจุบันที่พบว่าฉีดได้ในจำนวนคนที่ไม่มากนักเนื่องจากเพราะยังมีวัคซีนจำนวนที่น้อยอยู่แต่ศักยภาพในการฉีดหากมีปริมาณวัคซีนมากพอสามารถฉีดได้ถึง เดือนละ 10 ล้านโดส ส่วนสัดส่วนการกระจายวัคซีนในพื้นที่กทม. ยอมรับว่า เนื่องจากกทม.เป็นพื้นที่ที่มีประชากรจำนวนมาก และ เป็นพื้นที่ระบาด ในเบื้องต้น 2 สัปดาห์แรก จะมีการจัดสรรวัคซีนให้ 5 แสนโดส จากเดิมที่ขอไว้ 1 ล้านโดส

กรณีคนที่จองฉีดวัคซีนผ่าน “หมอพร้อม”จะได้วัคซีนชนิดใด นพ.โสภณ กล่าวว่า คนที่จองผ่านระบบหมอพร้อม ที่จะฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป จะได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย ส่วนจำนวนวัคซีนนั้น เนื่องจากเราได้ส่งมอบเป็นระยะนั้น ในส่วนกทม. จะได้สัดส่วนสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ เพราะประชากรมากกว่าจังหวัดอื่นและสถานการณ์การแพร่ระบาด น่าจะได้ประมาณ 1 ล้านโดส โดยส่งครั้งแรก 5 แสนกว่าโดสใน 2 สัปดาห์แรก มีทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เราสนับสนุนค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งจุดเด่นของการฉีดวัคซีนครั้งนี้คือ สามารถฉีดนอกรพ.ได้ โดยสปสช.มีกระบวนการสนับสนุนค่าบริการฉีดวัคซีนตรงนี้ นอกจากนี้ ในส่วนอาการไม่พึงประสงค์ สปสช. ก็เตรียมงบประมาณสำหรับค่าเสียหายเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอการตรวจสอบ คือ หากฉีดแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ ผู้เสียหายสามารถยื่นเรื่องมาที่สปสช. จะมีคณะกรรมการพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 5 วัน ซึ่งตรงนี้จะเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนที่มาฉีดทุกคน

กรณีอาการหลังรับวัคซีนมีข้อบ่งชี้หรือไม่ หรือต้องมีอาการลักษณะใดจึงยื่นเรื่องขอเยียวยาได้ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ไม่ได้มีการกำหนดว่าอาการใดยื่นได้ หรือยื่นไม่ได้ แต่หากผู้รับวัคซีนสงสัยว่า มีอาการ เกี่ยวข้องกับวัคซีนก็ให้ยื่นเรื่องมาได้ตลอด หรือง่ายที่สุดไปปรึกษากับแพทย์ ว่า หากเกี่ยวกับวัคซีนก็จะช่วยดำเนินการเยียวยาให้ ซึ่งวัคซีนที่ใช้ทั้งหมดเป็นการใช้ภาวะฉุกเฉิน หากมีอาการแล้วสงสัยให้รีบแจ้ง ซึ่งทางรัฐบาลมีการเตรียมการรองรับช่วยเหลือตรงนี้ บางกรณีไม่ต้องรอผลจนถึงที่สุด เราสามารถช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นได้ หลังจากนั้นก็จะมีทีมลงไปดูอีก ทั้งนี้ หากได้รับความเสียหายจากวัคซีน แม้จะมีประกันเอกชนก็สามารถยื่นเรื่องได้เช่นกัน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดเรื่องให้ยื่นชดเชยมา 2 สัปดาห์ มียื่นเรื่องมาแล้ว 250 ราย และมีการชดเชยไปแล้ว 150 ราย โดยอาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่นอนรพ. และเกิน 50 รายมีอาการชา และมีบางส่วนอาการนานเกิน 2 เดือน นอกนั้นก็จะมีอาการคลื่นไส้ อ่อนเพลียจนต้องนอนพัก รพ. ก็มีการชดเชยไป

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีข่าวฟิลิปปินส์ที่ระบุว่า อาจได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล่าช้า ว่า อาจเข้าใจผิด หากได้รับช้าน่าจะจากแอสตร้าเซนเนก้า ไม่ใช่สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ากับประเทศนั้นๆ ตอบแทนไม่ได้ แต่ส่วนของเราก็เป็นไปตามกำหนด ดังนั้น การผลิตและกระจายวัคซีนบนสถานการณ์ตอนนี้ เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ได้มีวัคซีนในคลัง แต่เป็นการผลิตและส่งมอบไป จึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีการตรวจสอบอย่างครบถ้วน

“การใช้เวลาการผลิตอาจนานก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่ในส่วนของต่างประเทศ เราคงรับฟัง แต่การจัดการจะเป็นของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า แต่ของไทยเราก็ต้องพูดคุยว่า จะส่งมอบให้เราในช่วงเวลาอย่างไรต่อไป ซึ่งการผลิตเริ่มแล้ว มีวัคซีนส่งมอบแล้ว แต่ก็ต้องมาดูในเรื่องของช่วงเวลา หลายคนอาจคับข้องใจ แต่หากเราเข้าใจสถานการณ์ก็จะเข้าใจได้ เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องฉุกเฉิน เป็นการผลิตไปใช้ไป แต่กระบวนการจัดสรรจะอยู่ที่การเจรจาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยเรามีการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีวัคซีนส่งมอบได้ แต่ข้อตกลงที่เรามีกับแอสตร้าเซนเนก้า คือ เราจะไม่ห้ามการส่งออกวัคซีน แต่การส่งออกจะอยู่บนพื้นที่ของการปรึกษาหารือร่วมกัน เพราะความต้องการวัคซีนจะมีมากขึ้น จึงต้องเข้าใจสถานการณ์” นพ.นคร กล่าว

นพ.นคร กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนอื่นๆ ว่า สำหรับนโยบายเตรียมการวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือ 70% ของประชากรภายในปี 2564 โดยขณะนี้เราจัดหา 2 ส่วน คือ วัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า โดยแอสตร้าเซนเนก้า ทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ ผู้ดำเนินการคือสถาบันวัคซีนและกรมควบคุมโรค ส่วนซิดนแวค ทำสัญญาเรียบร้อยลแวจัดหา 10-15 ล้านโดส และได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีน 1 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดส ที่เหลือทยอยส่งมอบเดือนละ 3 ล้านโดส ตั้งแต่ มิ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งจะมีองค์การเภสัชกรรมและกรมควบคุมโรคดำเนินการ ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ อยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไขในสัญญาจัดหา 20 ล้านโดส คาดว่าภายในไตรมาส 3 ของปี 2564 และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไขในสัญญาจัดหา 5 ล้านโดส คาดว่าภายในไตรมาส 3 ของปี 2564 นอกนั้นก็อยู่ระหว่างดำเนินการ

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ยังมีวัคซีนที่เจรจาอยู่ทั้งไฟเซอร์ สปุตนิก โดยอยู่ในเงื่อนไขต้องได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนสิ้นปีจะมีวัคซีนตัวอื่นมาให้บริการคนในประเทศไทยเพิ่มเติม

ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก บอกว่า คนส่วนใหญ่ที่ป่วยและรักษาหายแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ หากได้รับวัคซีนจะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น สำหรับวัคซีนที่ใช้อย่างแพร่หลาย คือ แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยไฟเซอร์ ซิโนฟาร์ม โมเดอร์นา ซึ่งทางองค์การเภสัชของไทยกำลังนำเข้าวัคซีนเข้ามาในประเทศไทย สำหรับแอสตร้าเซนเนก้า เข้าใจว่ากำลังทะยอยส่งมอบให้ในช่วงนี้

related