สถานการณ์โควิดอาเซียนอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องจับตามอง เพราะหลายๆประเทศมียอดเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยโควิดมาเลเซียมีคนติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 8 พันคน ขณะที่โควิดเวียดนามก็มีกราฟที่กำลังสูงขึ้น...ขณะที่ฟิลิปปินส์ นำเข้าวัคซีนเยอะมากๆ เพื่อรับมือวิกฤต
มาเลเซีย
โควิดมาเลเซีย ถือว่าสถานการณ์ น่าเป็นกังวลที่สุดในภูมิภาค อาเซียน โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อทุบสถิติติดต่อกัน 5 วัน ส่วนทางการประกาศล็อกดาวน์คุมโควิดมาเลเซีย ตั้งแต่วันนี้ (1 มิ.ย) เป็นต้นไป
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนยอดผู้ป่วยรายใหม่อาจพุ่งทะลุ 10,000 รายต่อวัน ซึ่งตอนนี้ ทำให้โควิดมาเลเซีย มีผู้ป่วยรวมทั่วประเทศขยับขึ้นกว่า 558,000 ราย และเสียชีวิต 2,650 ศพ
นับตั้งแต่ปีที่แล้ว โควิดมาเลเซียอัดฉีดงบประมาณไปแล้วราว 340,000 ล้านริงกิต (2.55 ล้านล้านบาท) ในมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่ที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดนั้น มาเลเซีย ระดมฉีดไปแล้ว 2.7 ล้านโดส มีทั้งวัคซีน Pfizer, วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และ วัคซีนซิโนแวค คิดเป็น 4.2 เปอร์เซนต์ของประชากรแล้ว
สิงคโปร์
ประเทศที่มีการรับมือดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยตอนนี้ โควิดสิงคโปร์เตรียมเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด19 อื่นๆ ได้นอกเหนือจากที่ทางการได้ให้ความเห็นชอบไปเรียบร้อยแล้ว อย่างวัคซีน Pfizer หรือวัคซีนโมเดอร์น่า
โดยวัคซีนนั้น ต้องอยู่ภายใต้มาตรการเส้นทางเข้าถึงพิเศษ (เอสเออาร์) ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
มาตรการเอสเออาร์ ของสิงคโปร์ สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณวัคซีนโควิด-19 ในประเทศได้มากขึ้น โดยวัคซีนภายใต้มาตรการนี้ต้องเป็นวัคซีนที่อยู่ในรายการรับรองให้ใช้ได้เป็นกรณีฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกทั้งหมดได้ ไม่จำเป็นต้องฉีดเพียงแค่วัคซีน Pfizerและ วัคซีนโมเดอร์น่า ซึ่งเป็นเพียง 2 วัคซีนที่ทางการสิงคโปร์อนุมัติให้ใช้เท่านั้น ซึ่งตอนนี้ผู้ป่วยโควิดสิงคโปร์รายวันอยู่ที่หลัก ไม่เกิน 30 คน ซึ่งถือว่าคุมได้ดี
ส่วนวัคซีนซิโนแวค ก็กำลังจะมีฉีดในสิงคโปร์เช่นกันในอนาคต แม้จะยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก โดยรัฐบาลสิงคโปร์เพิ่งสั่งเพิ่ม 2 แสนโดสมาจากจีน
ปัจจุบัน สิงคโปร์ ฉีดวัคซีนให้ประชากรครอบคลุมไปแล้ว 3.7 ล้านโดส คิดเป็น 32.7 เปอร์เซนต์ของประชากรทั้งหมดในประเทศ
ฟิลิปปินส์
แม้จะไม่มีพรมแดนติดกับไทย แต่ในฐานะอาเซียนด้วยกัน ถือว่าสถานการณ์ของโควิดฟิลิปปินส์น่าสนใจมาก ตอนนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์กำหนดให้กิจกรรมทางศาสนามีผู้เข้าร่วมได้ไม่เกิน 30% ของความจุสถานที่ ส่วนร้านอาหารสามารถรับลูกค้านั่งทานได้ไม่เกิน 20% โดยคำสั่งนี้มีผลครอบคลุมพื้นที่ “เมโทรมะนิลา” ซึ่งประกอบไปด้วย 16 เมืองที่มีประชากรรวมกันอย่างน้อย 13 ล้านคน และจังหวัดใกล้เคียง
ทั้งนี้ รัฐบาลจะยังคงคำสั่งห้ามการเดินทางที่ไม่มีสาเหตุจำเป็นต่อไป โดยตอนนี้ ฟิลิปปินส์มียอดผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ยอยู่ที่ 6,300 คนในเดือน พ.ค. ถือว่ามากกว่าประเทศไทยเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าลดลงประมาณ 1 ใน 3 จากสถิติผู้ป่วยใหม่เมื่อเดือน เม.ย. หลังจากที่รัฐบาลสั่งลดกำลังการทำงานของธุรกิจห้างร้านต่างๆ รวมถึงจำกัดการเคลื่อนย้ายประชากร
สำหรับ โควิดฟิลิปปินส์ ฉีดวัคซีนไปแล้ว 3.2 ล้านโดส ใกล้เคียงกับไทย แต่ในแง่ของการนำเข้าวัคซีนโควิดนั้น พวกเขาสั่งหลากหลายมากๆ อาทิ สั่งวัคซีน Pfizer 40 ล้านโดส,วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 17 ล้านโดส,วัคซีนซิโนแวค 25 ล้านโดส,วัคซีนสปุตนิค วี 20 ล้านโดส,วัคซีนโควาซิน 8 ล้านโดส,วัคซีนแยนเซ่น 6 ล้านโดส และ วัคซีนโมเดอร์น่า 25 ล้านโดส
เวียดนาม
ปัจจุบัน โควิดเวียดนาม กำลังเจอการระบาดครั้งที่ 4 ซึ่งรอบที่ 4 นั้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด ซึ่งสถานการณ์ของโควิดเวียดนามนั้นคล้ายๆกับไทย โดยในรอบล่าสุด เวียดนามเริ่มระบาดมาตั้งแต่ 27 เมษายน และมีผู้ติดเชื้อจากรอบนี้เกิน 4,000 คนแล้ว
โควิดเวียดนาม มีการใช้วัคซีนหลักๆ คือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า , วัคซีนสปุตนิค วี นอกจากนี้พวกเขายังได้วัคซีนจากโครงการโคแว็กซ์ 1.7 ล้านโดสอีกด้วย เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อัตราการฉีดวัคซีนถือว่ายังต่ำ เพราะฉีดไปเพียง 1 ล้านโดสเศษๆ คิดเป็น 0.5 เปอร์เซนต์ของประชากรเท่านั้น
ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดโควิด-19 รายใหม่ของเวียดนามเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขเวียดนามระบุว่า ทางการพบว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งมีการผสมผสานระหว่างสายพันธุ์อังกฤษกับสายพันธุ์อินเดีย ซึ่งตอนนี้มีมาตรการ สั่งระงับเที่ยวบินขาเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1-7 มิถุนายน
เมียนมา
จากตัวเลขทางการ ผู้ติดเชื้อสะสมของโควิดเมียนมาถือว่า ใกล้เคียงกับไทย แต่การติดเชื้อเพิ่มรายวันตอนนี้เมียนมาต่ำกว่าไทยมาก เพราะตอนนี้อยู่ที่ราวๆ 60 คน
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่มีการปฏิวัติเมื่อต้นกุมภาพันธ์ และนายพลอาวุโส มินอ่องหล่าย ขึ้นมาเป็นคนนำการปฏิวัตินั้น คาดว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อคงต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่มีการรายงานยอดติดเชื้อเพิ่มรายวันอีกต่อไป
โดยเจ้าหน้าที่ในหนึ่งในศูนย์เพื่อการกักกันโรคโควิด-19 ในย่างกุ้ง เปิดเผยไว้ว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญกับการรับมือโรคระบาดเป็นพิเศษประจำศูนย์แห่งนี้ เข้าร่วมในขบวนการอารยะขัดขืน กันทั้งหมด
หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าการรัฐประหาร จำนวนการตรวจสอบหาเชื้อทั่วประเทศเฉลี่ยแล้วตกวันละกว่า 17,000 ราย ถึงตอนนี้รวมกันทั่วประเทศ มีไม่ถึง 1,200 รายต่อวัน ในช่วง 7 วันจนถึง 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ส่วนประเด็นวัคซีนนั้น โควิดเมียนมาได้รับการสนับสนุนจากจีน โดยได้ทั้งวัคซีนซิโนแวคและวัคซีนซิโนฟาร์ม โดยเมียนมาร์ฉีดไปแล้ว 3 ล้านโดส คิดเป็น 2.8 % ของประชากร
สปป.ลาว
ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง อย่างลาว เพิ่งมีข่าวดี ฃเพราะล่าสุด รัฐบาลลาวโพสต์ภาพตู้เย็น -70 องศาเซลเซียส ติดตั้งรอรับวัคซีนไฟเซอร์กว่า 100,000 โดส ที่จะนำเข้ามาภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ผ่านการจัดสรรโดยโครงการโคแวกซ์ ขณะที่สื่อลาวเผยรัฐบาลกำลังคุยกับรัสเซีย หวังนำเข้าวัคซีนสปุตนิก วี เป็นวัคซีนทางเลือก
โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลลาวได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากโครงการโคแวกซ์แล้ว 132,000 โดส เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ซึ่งโครงการโคแวกซ์มีเป้าหมายจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้ทั่วถึงทั่วโลก มีแผนจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้สปป.ลาว จำนวน 480,000 โดส
ตอนนี้ มีประชาชนลาวกว่า 6.5 แสนคน ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก ซึ่งรัฐบาลลาวตั้งเป้าหมายว่า ภายในสิ้นปีนี้จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรได้ครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศให้ได้
กัมพูชา
กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา พบผู้ติดเชื้อโควิดกัมพูชารายใหม่ 690 ราย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในกัมพูชาอยู่ที่เกิน 3 หมื่นราบ เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ที่ 214 ราย ซึ่งตัวเลขถือว่ายังไม่สูงเท่ากับ อินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์,มาเลเซีย ,ไทยและเมียนมา
โดยกัมพูชา ฉีดวัคซีนไปแล้ว 3.1 ล้านโดส คิดเป็น 9.6 เปอร์เซนต์ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่กัมพูชา ใช้ วัคซีนซิโนฟาร์ม,วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า นอกจากนี้ มีซิโนแวคด้วย
อินโดนีเซีย
กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 5,662 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,821,703 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โควิดอาเซียน)
สำหรับโควิดอินโดนเซีย ฉีดวัคซีนไปแล้ว 26 ล้านโดส คิดเป็น 5 เปอร์เซนต์ของประชากร จากจำนวนประชากร 270 ล้านคน
โดยมีหลักๆจากวัคซีน 3 ชนิด ทั้งซิโนแวค,แอสตร้าเซนเนก้าและซิโนฟาร์ม อย่างไรก็ตาม ทางการอินโดนีเซีย กำลังจะนำเข้าอีก 5 ตัว นั่นคือ วัคซีน Pfizer,วัคซีนโมเดอร์น่า , วัคซีนโนนาแว็กซ์ , วัคซีนสปุตนิค วี และ วัคซีนแคนซิโน่
บรูไน
ประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดของอาเซียน ดังนั้นมาตรการควบคุมโควิด19 ถือว่า ในทางปฏิบัติจะทำได้ ง่ายที่สุด โดยปัจจุบัน บรูไนติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 242 ราย และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย
โดยบรูไนฉีดวัคซีนไปแล้ว 14,876 โดส คิดเป็น 1.6 เปอร์เซนต์ของจำนวนประชากร