เปิดพื้นที่ “อิมแพค เมืองทอง” อาคาร1-3 จ่อตั้งโรงพยาบาลสนาม 5,200 เตียง อนุทิน นำทีมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สำรวจพื้นที่เตรียมตั้งเต็นท์ความดันลบ มีเครื่องช่วยหายใจ สามารถรองรับได้ 1,200 เตียง หากจำเป็น
วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะเดินทางไปที่อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี เพื่อดูสถานที่วางแผนสำหรับจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหากมีความจำเป็น เนื่องจากอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เป็นสถานที่ที่มีความพร้อม สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,200 เตียง แบ่งเป็นอาคาร 1 อาคาร 2 อาคารละ 2,000 เตียง ส่วนอาคาร 3 เตรียมพร้อมสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ โดยจะตั้งเต็นท์ความดันลบ มีเครื่องช่วยหายใจ สามารถรองรับได้ 1,200 เตียง หากจำเป็นต้องใช้งาน มอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้าไปจัดการในพื้นที่ ทั้งระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกล้องวงจรปิด ให้ได้ตามมาตรฐานและร่วมกับภาคเอกชนอื่น ๆ ติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมี Hospitel โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาล ไว้รองรับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย เพื่อเข้ารับการรักษาตามความเหมาะสม โดยมีการคัดแยกระดับอาการเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง หากโรงพยาบาลในกทม.เต็ม กระทรวงสาธารณสุขมีเครือข่ายโรงพยาบาลอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วย
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ส่งรถเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน และรถห้องปฏิบัติการพระราชทานค้นหาเชิงรุก ลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อประชาชนในชุมชนพัฒนา 70 ไร่ หลังพบผู้ติดเชื้อในชุมชน จำนวน 37 ราย โดยวันนี้ ตั้งเป้าหมายตรวจให้ได้วันละ 700 ตัวอย่างและจะเพิ่มจำนวนในวันต่อไป เพื่อแบ่งเบาภาระของกทม. เนื่องจากชุมชนคลองเตยมีประชาชนอยู่กันอย่างหนาแน่น การคัดกรองหากพบผู้ติดเชื้อจะประสานกับ กทม. เพื่อจัดหาเตียง หากเตียงไม่เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุขจะนำเข้าศูนย์แรกรับ ส่วนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่ชุมชนคลองเตยนั้น พื้นที่ไม่เหมาะสม จะพยายามหาพื้นที่อื่นที่มีความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามต่อไป