เกษตรกรผนึกกำลัง 3 สมาคม “นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย-คนไทยธุรกิจเกษตร-อารักขาพืชไทย” สวมชุดดำเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล คัดค้านการแบน 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต
วันที่ 26 พ.ย. 2562 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเกษตรกรจำนวนมาก ได้เดินทางไปยื่นหนังสือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี นายสมภาส นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ให้ยกเลิกการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในภาคเกษตร โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไปนั้น
สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักพืชไทย และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นเกษตรกร นักวิชาการ และผู้ประกอบการทั่วประเทศ ขอคัดค้านการยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิด ด้วยเหตุผลสำคัญดังต่อไปนี้
1.การลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 มิได้มีการพิจารณาข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ และมิได้มีการพิจาณาถึงผลกระทบต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใด
2.ผลการรับฟังความเห็นจากประชาชนต่อร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 สิ้นสุดการรับฟังเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 มีผู้ไม่เห็นด้วยต่อการยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิดถึงมากกว่า 70%
3.จนถึงขณะนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ยังมิได้มีมาตรการรองรับผลกระทบจากการยกเลิก ต่อเกษตรกร อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และตลอดจนผู้บริโภค ที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่อย่างใด
4.การยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิดอย่างเร่งรีบและไม่มีมาตรการรองรับ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560 มาตรา 73 เนื่องจากการยกเลิกส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรจำนวนมากกว่า 2 ล้านครัวเรือน ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ จากการที่ผลผลิตในประเทศลดลง 20 – 30 % ในขณะที่ต้นทุนเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า
5.การยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิดอย่างเร่งรีบและไม่มีมาตรการรองรับ ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ ที่นอกจากจะประสบภาวะขาดแคลนวัตถุดิบจากการที่ผลผลิตในประเทศลดลงแล้ว ยังไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากเงื่อนไขในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560
อันจะนำไปสู่วิกฤตการขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท และการจ้างงานในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารจำนวนกว่า 12 ล้านคน
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขผลกระทบดังกล่าวข้างต้น สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักพืชไทย และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ยุติการยกเลิกสารทั้ง 3 ชนิด จนกว่าจะมีผลการศึกษาทบทวนข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และผลกระทบทางเศรษฐกิจ อย่างถี่ถ้วน รอบด้าน และเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบผลการศึกษาอย่างชัดเจน
2.ให้บังคับใช้มาตรการจำกัดการใช้ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในระหว่างการศึกษาทบทวน เพื่อส่งเสริมการใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้องและปลอดภัย ภายใต้แนวทางของเกษตรปลอดภัย (GAP)
ดังนั้นตัวแทนเกษตรกรและ 3 สมาคมฯ จึงได้มายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการพิจารณาทบทวนมติดังกล่าวโดยรอบคอบและหาทางออกที่ดีที่สุด ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ภาคเกษตรอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หากจะมีการยกเลิก 3 สารดังกล่าว ต้องมีคำตอบเรื่องสารทดแทนที่ดีกว่าหรือเทียบเท่า ทั้งในด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพ รวมถึงความคุ้มค่าในเรื่องต้นทุนเกษตรกร รวมถึงแนวทางและมาตราการรองรับต่อผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นในทุกมิติในรอบด้าน ก่อนมีการดำเนินการใดๆ
ทั้งนี้การจัดการศัตรูพืช โดยการใช้สารเคมี ยังคงมีความจำเป็นสำหรับเกษตรกร การยับยั้งภาคการผลิตและส่งออกพืชเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้สารดังกล่าว จะสร้างให้เกิดความเสียหายโดยไม่จำเป็น ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบทางการแข่งขันต่อประเทศคู่แข่งรายอื่นๆ ที่สามารถพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันด้านการผลิตและการตลาด
หลังทางกลุ่มเกษตรกรแถลงยืนยันจุดยืน และยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ต่อนายกรัฐมนตรี จะเดินเท้าจากฝั่ง กพร. ไปยังหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ่านแถลงการณ์ และ ยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนที่ช่วงบ่ายจะออกเดินทางไปยัง กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยื่นหนังสือ ข้อเรียกร้องความเดือดร้อน ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อขอให้ในวันพรุ่งนี้ (27 พ.ย.62) พลิกมติการแบนเป็นการชะลอออกไปก่อน