ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ขณะลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินข้อพิพาทเขากระโดง ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
วันนี้ (20 ธันวาคม) นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ขณะลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินข้อพิพาทเขากระโดง ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ว่า การลงพื้นที่กับกรมที่ดิน จะต้องให้เกิดความชัดเจน ที่ผ่านมามีข่าวที่ทำให้เกิดความสับสนกับประชาชน ฟังแล้วชาวบุรีรัมย์บุกพื้นที่การรถไฟ เราจึงต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคุย ซึ่งกรมที่ดินได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
สิ่งสำคัญคือเราได้เชิญการรถไฟมาด้วยเพื่อรับทราบความจริงจากประชาชน ซึ่งที่ดินกว่า 5000 ไร่ และประเด็นที่ต้องมาดูข้อเท็จจริงที่เป็นรางรถไฟ ที่การรถไฟอ้างว่าระยะประมาณแปดกิโลเมตร ซึ่งกรมที่ดินได้ภาพถ่ายและสำรวจที่ดิน ตัวเลขก็จะจะอยู่ประมาณนี้ เราต้องนำประชาชนลงมาดูข้อเท็จจริง ประชาชนในพื้นที่เขากระโดง ซึ่งการรถไฟเคยมีเอกสารยืนยันว่าไม่ใช่ที่ของการรถไฟ ประชาชนสามารถอยู่ได้หากดูข้อมูลแต่ปี 2460 ประชาชนอยู่ก่อนที่จะมีการออกกฤษฎีกาสำรวจแนวเขตการรถไฟ หากการรถไฟเป็นเจ้าของที่จริงๆ ก็ต้องออก พ.ร.ฏ.จัดซื้อที่ดินของการรถไฟ
เมื่อถามว่า การที่การรถไฟออกมาแบบนี้ มีการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า สังเกตดูทุกครั้งที่ออกมาจะอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง และประเด็นของคนที่อยู่ในการเมืองก็นำเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องด้วย ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ได้ อาจจะเกี่ยวเล็กน้อย
“ทำกับประชาชนเป็นเรื่องน่ารังเกียจ สิ่งที่ทำวันนี้กระทบกับประชาชนไม่ใช่เพียงรายเดียว บางคนได้เอกสารสิทธิ์รับรองแนวเขตจากการรถไฟ ดังนั้นต้องทำให้เกิดความชัดเจน เพราะกระทบกับสิทธิ์ประชาชนจำนวนมาก ให้ประชาชนมั่นใจว่าเอกสารที่ได้มาถูกต้องตามกฏหมาย“
เมื่อถามว่า กระทรวงมหาดไทยทำอะไรได้บ้าง เพราะชาวบ้านกังวลที่เอกสารไม่สามารถทำธุรกรรมอะไรได้ นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า ตนขอความกรุณาจากการรถไฟ ช่วยลงพื้นที่ให้เกิดความชัดเจน เมื่อเป็นข่าวแล้วกระทบประชาชนคนที่ถือเอกสารสิทธิ์ไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันในอนาคตได้ ความน่าเชื่อถือลดลง ต้องทำให้เกิดความมั่นคงต่อครอบครัว
ส่วนจะมีการเปิดโต๊ะพูดคุยกับการรถไฟเพื่อหาข้อสรุปหรือไม่นั้น กรมที่ดินรวบรวมหลักฐานทั้งหมด อนาคตอาจเป็นไปได้ เรื่องที่กระทบกับสิทธิ์ของประชาชนการรถไฟเองก็ต้องมาหารือร่วมกัน และการรถไฟก็ต้องนำหลักฐานที่แสดงความเป็นเจ้าของที่ดินมาให้สังคมได้รับรู้ว่าเป็นที่ของการรถไฟจริงๆ ไม่ใช่เอาแผนที่ที่อยู่ในศาลมาอ้าง
การลงพื้นที่วันนี้ได้เชิญการรถไฟมาด้วยใช่หรือไม่ นายทรงศักดิ์ ย้ำว่า ได้เชิญแล้ว เพราะว่าถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกรณีพิพาท เกิดปัญหากับประชาชน ความจริงการรถไฟต้องมา ตนกำกับดูแลกรมที่ดินก็ต้องมา ทั้งที่ไม่สบาย ถือว่าเราต้องพยายามแสดงความชัดเจนในสังคมโดยเฉพาะเรื่องการลิดรอนสิทธิ์ ทั้งสองฝ่ายจะทำอย่างไรให้แก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
ด้านนายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเขากระโดง ว่า ส่วนตัวตนเชื่อว่าไม่มีพี่น้องชาวบุรีรัมย์คนใดคิดจะโกงที่ดินของราชการ เพราะตนเป็นจังหวัดบุรีรัมย์เห็นความเจริญของพื้นที่มาโดยตลอด และตนมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมที่บ้านศิลาทอง โดยให้พี่น้องที่ถือครองที่ดิน นำโฉนดที่ตนถือครองมาแสดง ซึ่งทำให้เห็นว่าโฉนดที่ดินที่พี่น้องถือครองอยู่นั้นเป็นเอกสิทธิ์ตามกฎหมาย ที่ออกโดยกรมที่ดิน และโฉนดของพี่น้องบางคน ถือครองมาตั้งแต่ในสมัย ปู่ ย่า ตา ยาย
นายสนอง กล่าวต่อว่า เรื่องที่ดินเขากระโดง สำคัญคือเรื่องการเมือง ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง สมัยก่อนมีก็มักจะมีนักการเมือง นำเรื่องเขากระโดงมาหาเรื่อง และมาโจมตีผู้ที่ครอบครองที่ดินโดยเฉพาะ นายเนวิน ชิดชอบ และเมื่อการเลือกตั้งเสร็จทุกอย่างก็เงียบ และขอยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ว่าประชาชนที่อยู่อาศัยได้รับโฉนดได้รับเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนพอดี 35 แปลงที่ศาลมีคำสั่ง กรมที่ดินก็ทำตามคำสั่งของศาลไปแล้ว แต่อีก 7,000 แปลงที่เกิดขึ้นมาใหม่ ไปเกี่ยวข้องอะไรด้วย
ส่วนที่คณะกรรมาธิการทหาร นำโดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะคณะกรรมาธิการทหาร ออกมาระบุว่า มทบ.26 เลี่ยงการ ก่อสร้างในที่ดินบริเวณเขากระโดง โดยออกมาระบุว่าเป็นการเลื่อนหลักกิโลเพื่อช่วยเหลือคนบางคนให้ครอบครองที่ดินโดยการจัดตั้งค่ายทหาร ว่า ค่ายทหารไม่ได้อยู่ที่กิโลเมตรที่ 7-8 ไม่ใช่กิโลเมตร แต่อยู่ที่กิโลเมตรที่ 4 แต่เมื่อหน่วยงานทหารมาชี้แจงข้อเท็จจริง ทำให้ นายวิโรจน์ เงียบไป เพราะไม่ใช่สิ่งที่ กล่าวอ้าง
นายสนอง กล่าวย้ำว่า พวกเราทั้งหมดเราไม่เคยบุกรุกที่หลวง ที่การรถไฟ แต่เป็นที่ดินที่เรามีนส. 3 มีเอกสารสิทธิ์ ที่เราครอบครอง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคนบุรีรัมย์เคารพกฎกติกาและทำตามกฎหมายทุกประการ