svasdssvasds

วงวิชาการเห็นพ้องถึงเวลาไทยรับมือ AI เจนนี่เสนอ SMEs ต้องรับเทคฯ ปรับองค์กร

วงวิชาการเห็นพ้องถึงเวลาไทยรับมือ AI เจนนี่เสนอ SMEs ต้องรับเทคฯ ปรับองค์กร

วันนี้ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ที่รัฐสภามีการจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ ‘SMEs ไทยจะรับมืออย่างไรกับ Megatrend’ โดยมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนเข้าร่วม

ยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ หรือ จินนี่ ลูกสาวของ สุดารัตน์ เกยุราพันธ์เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้กล่าวสรุปอภิปรายครั้งนี้ว่า ในยุคนี้ SMEs ต้องปรับตัวหลายมิติ โดยเฉพาะการเติบโตของ AI ที่จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ และจะเป็นรากฐานของเศรษฐกิจในอนาคต โดยทาง SMEs ควรนำ AI มาใช้ในธุรกิจของตนเอง เช่น การตลาดออนไลน์, กระบวนการจัดซื้อ จนถึงการวิเคราะห์ข้อมูล 

ยศสุดาชี้ว่าอีกส่วนที่น่าจับตาคือ ภาวะสังคมสูงวัยในสังคมไทย ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้วในปี 2567 โดยมีประชากรสูงวัยเพิ่มถึง 13.4 ล้านคน และอาจสูงถึง 35% ในอีกไม่เกิน 30 ปีข้างหน้า ดังนั้น นี่เป็นความท้าทายที่ผู้มีอำนาจควรให้ความสำคัญ

ด้าน ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพย์โซลูชั่น จำกัด แสดงความกังวลต่อการเข้ามาตีตลาดของทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ จึงอยากเห็นเจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุกมากขึ้น เมื่อเจอสินค้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมายต้องติดตามไปให้ถึงต้นตอ ด้านผู้ประกอบการไทยเองต้องเตรียมการรับมือการบุกเข้ามาของทุนต่างชาติทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยนำเทคโนโลยี AI เข้าไปใช้ช่วยเพิ่มศักยภาพองค์กร เพิ่มทักษะบุคลากร 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรมีนโยบายสนับสนุนให้คนทำการค้าออนไลน์เพื่อให้มีแต้มต่อสามารถแข่งขันกับทุนต่างชาติได้ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมาย ทั้งในส่วนของ กฎหมายที่เกี่ยวกับสินค้าจับต้องได้และกฎหมายที่เกี่ยวกับสินค้าดิจิทัล 


 

ด้าน ไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ อดีตประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า SMEs ควรปรับโครงสร้างองค์กรให้กระฉับกระเฉง ลดโครงสร้างขององค์กรให้กระชับ พร้อมนำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน ลดปัญหาการปล่อยคาร์บอน หากไม่สำเร็จก็ควรเลิกผลิตหาแหล่งที่ผลิตถูกกว่ามาขาย หรือปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าประเภทอื่นแทน  

ด้านนายสุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวถึงการสร้างความยั่งยืนในยุคเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งธุรกิจจะต้องปรับตัว เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งจัดออกเป็น 3 มิติ

มิติที่ 1 การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางตรง(Direct Emissions) เช่น การใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต 

มิติที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (Indirect Emissions) เช่น การซื้อไฟฟ้า.

มิติที่ 3  การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Other Indirect Emissions) เช่น การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ในกระบวนการผลิต นอกเหนือจาก 2 มิติข้างต้น 

สำหรับการประเมินดังกล่าว ไม่เพียงเป็นกลไกที่ไม่เพียงช่วยให้องค์กรมองเห็น ‘ผลกระทบต่อโลก’ แต่ยังเป็นเข็มทิศให้กับองค์กรในการปรับแผนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของตน มองหาทางออกใหม่ๆ ทั้งด้านพลังงาน กระบวนการผลิต รวมถึงจัดหาวัตถุดิบทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 


 

ด้าน นรุตม์ชัย บุนนาค คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคไทยสร้างไทย เห็นว่าการพักใช้กฎหมายเพื่อให้ SMEs เติบโตเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งพรรคไทยสร้างไทย ได้ร่างกฎหมายเข้าสู่สภาแล้ว โดยมีหลักการ เพื่อขจัดอุปสรรคต่อการทำมาหากินให้กับพี่น้องประชาชนคนตัวเล็ก และเป็นการทลายช่องทางรีดไถหาประโยชน์คอร์รัปชั่นรวมกว่า 1,400 ฉบับ โดยกฎหมายเกี่ยวกับ SMEs ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย 

กระบวนการจะเริ่มจากการออก พ.ร.ก. เพื่อเว้นการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการอนุมัติอนุญาต การลงโทษทั้งอาญาและปกครองออกไป 3 ถึง 5 ปี จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงกฎหมาย ให้แล้วเสร็จเพื่อลดจำนวนลงให้เหลือกฎหมายที่จำเป็น 100 ถึง 200 ฉบับเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทำมาหากินได้อย่างเต็มที่


 

related