ประชาชนที่ใช้บริการรถไฟ กังวลหากเจ้าหน้าที่ของรถไฟต้องปฏิบัติงานเกินเวลามากไป รวมถึงใช้บุคลากรที่อายุมากในส่วนงานที่ต้องใช้ความรวดเร็ว ขณะที่เจ้าหน้าที่รถไฟยอมรับบางครั้งทำงานไม่ไหว
เสียงสะท้อนจากประชาชนที่ใช้บริการรถไฟเป็นประจำ เป็นห่วง ว่า คนไม่เพียงพอจะกระทบต่อความปลอดภัย หลายคนสังเกตว่าเจ้าหน้าที่รถไฟที่ใช้บริการเริ่มมีอายุมาก ใกล้เกษียณ บางคนให้บริการไม่ทันโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน
ทีมข่าวลงพื้นที่ไปยังสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง พบว่ามีพนักงานค่อนข้างจำกัด และ พนักงาน ก็ยอมรับว่า ขาดแคลนผู้ปฎิบัติงานจริงโดยเฉพาะพนักงานที่บรรจุแล้ว ทำให้ต้องมีลูกจ้างเข้ามาช่วยงาน แต่ก็ไม่เพียงพอ โดยยกตัวอย่างว่า ตารางเวลางานจะแบ่งหน้าที่การทำงานเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงกลางวันตั้งแต่ 6 นาฬิกา ไปจนถึง 18 นาฬิกา ใช้บุคลากร 2 คน
และช่วงกลางคืน ตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกา ถึง 24 นาฬิกา ใช้คน 1 คน
แต่ละช่วงจะมีเจ้าหน้าที่รถไฟ 1 คน และลูกจ้างมาช่วย 1 คน ในช่วงกลางวัน ถ้าหากคนใดคนหนึ่งติดธุระ หรือ ลา ก็จะต้องทำงานยาวไปจนถึงช่วงเวลาที่สิ้นสุด ซึ่งยอมรับว่าร่างการไม่ไหว หากต้องเป็นแบบนี้
เจ้าหน้าที่อีกคนเล่าว่า ทุกคนในสถานีต้องทำงานล่วงเวลา เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และบางครั้งมีการทำหน้าที่แทนกันด้วย
ทีมข่าวสปริงนิวส์ สอบถามไปยังนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า เคยนำพนักงานส่วนอื่นมาทำหน้าที่แทนบ้าง แต่มีกรอบว่าต้องเคยผ่านงาน ผ่านการฝึกอบรมอย่างน้อย 3 ปี และมีประสบการณ์ทำงานจนได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมา เนื่องจากเป็นระเบียบข้อบังคับของการรถไฟฯ หากฝ่าฝืนจะมีความผิด
ผู้ว่าการรถไฟยืนยันว่า เรื่องความปลอดภัยจะไม่มีการละเลยเด็ดขาด ก่อนออกรถ หากไม่มีพนักงานที่เพียงพอในเรื่องความปลอดภัยประจำขบวนรถ เช่น รถหนึ่งขบวนต้องมีพนักงานขับรถ 1 คน ผู้ช่วยพนักงานขับรถ 1 และ พนักงานท้ายขบวนอีก 1 คน ยังไม่รวมพนักงานบริการประจำตู้ ก็จะไม่ออกเดินรถ
ขณะเดียวกันก็สั่งการเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่ง และ อัตราขาดว่ามีทั้งหมดกี่อัตรา พร้อมเตรียมแผนรองรับหากไม่มีพนักงานมาทดแทนได้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะปรับลดจำนวนเที่ยวรถลง เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง