svasdssvasds

ทำไมแฟนคลับถึงคุกคามศิลปิน เข้าใจพฤติกรรม ‘ซาแซง’ ผ่านมุมมองงานวิจัย

ทำไมแฟนคลับถึงคุกคามศิลปิน เข้าใจพฤติกรรม ‘ซาแซง’ ผ่านมุมมองงานวิจัย

คำว่า ‘ซาแซง’ กลับมาเป็นคีย์เวิร์ดบนโลกออนไลน์อีกครั้ง จากกรณีที่ แสตมป์ – อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ออกมาเล่าถึงปัญหาการติดตามและคุกคามจากคนหนึ่ง จนนำไปสู่คดีความในเวลาต่อมา

ศิลปินและแฟนคลับต่างพึ่งพาอาศัยกันเหมือนน้ำพึ่งเรือและเสือพึ่งป่า แต่อะไรที่ทำให้แฟนคลับบางคนก้าวข้ามจากเส้นความชื่นชม กลายเป็นความหมกหมุ่นคลั่งไคล้ จนในที่สุดก้าวล่วงคุกคามพื้นที่ส่วนตัวของศิลปิน หรือที่เรียกว่า ‘ซาแซง’ 

SPRiNG ชวนทำความเข้าใจพฤติกรรมของ ‘ซาแซง’ จากงานวิจัยว่าพฤติกรรมนี้คืออะไร และทำไมแฟนคลับ (บางคน) ถึงคลั่งไคล้เลยเถิดจนกลายเป็นซาแซงได้ 

 

  • ซาแซงคืออะไร? 

‘ซาแซง’ มาจากภาษาเกาหลีแปลว่า ‘ชีวิตส่วนตัว’ โดยคำนี้ถูกใช้เรียกกลุ่มแฟนคลับที่รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของศิลปิน ไม่ว่าทางออนไลน์หรือออฟไลน์ เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิดใกล้บ้านไอดอล, ติดตามไอดอลด้วย GPS, เช่ารถเพื่อสะกดรอยตาม, บุกรุกบ้าน หรือขโมยทรัพย์สินส่วนตัวของไอดอล

เหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงกันมาก เช่น เหตุการณ์ที่ อ๊กแทคยอน ศิลปินวง 2PM ได้รับข้อความที่เขียนด้วยประจำเดือนว่า “คุณอยู่ไม่ได้หรอกถ้าไม่มีฉัน” หรือเหตุการณ์ที่กลุ่มซาแซงติดตั้งกล้องวีดีโอในโรงแรมที่สมาชิวง EXO เข้าพักเพื่อเตรียมการแสดง 

ในงานวิจัย “Sasaengpaen” or K-pop Fan? Singapore Youths, Authentic Identities, and Asian Media Fandom ได้มีการสัมภาษณ์กลุ่มซาแซง และนี่คือข้อความที่สะท้อนตัวตนของพวกเขาได้เด่นชัดมาก

“(ซาแซง) ฉันรู้สึกว่าฉันได้รู้จักและใกล้ชิดไอดอลที่ฉันปลื้มมากขึ้น ถ้าฉันไปคอนเสิร์ตที่มีคนเป็นพันๆ ไอดอลจะไม่รู้ว่าฉันคือใคร แต่ถ้าฉันเป็นซาแซง พวกเขาจะจำฉันได้.. การเป็นซาแซงและไอดอลจำเราได้ มันเป็นเรื่องที่ดี” บทสัมภาษณ์กลุ่มซาแซงจากงานวิจัย “Sasaengpaen” or K-pop Fan? Singapore Youths, Authentic Identities, and Asian Media Fandom


 

  • ทำไม ‘แฟนคลับ’ ถึงกลายมาเป็น ‘ซาแซง’

ในบทความจากงานวิจัยของ Renata Iwicka เรื่อง ‘Every Breath You Take: Sasaeng Fans’ ได้ให้เหตุผลที่แฟนคลับกลายเป็นมาเป็นซาแซงเอาไว้ 4 ข้อ 

ข้อแรก ความหลงไหลและการยึดติด 

เป็นเรื่องปกติที่แฟนคลับมองว่าไอดอลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขา แต่แฟนคลับบางคนไปไกลถึงขั้นพัฒนาความสัมพันธ์แบบ ‘Parasocial Relationship’ หรือความรู้สึกผูกพันธ์เป็นพิเศษกับบุคคลสาธารณะเพียงฝ่ายเดียว ทำให้ซาแซงพยายามเข้าไปอยู่ในชีวิตส่วนตัวของศิลปิน เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ดังกล่าว 

ข้อสอง แรงจูงใจทางจิตวิทยา 

สำหรับแฟนคลับส่วนใหญ่ ไอดอลคือที่พึ่งพิงทางจิตใจให้พวกเขาหลบหนีจากโลกความเป็นจริง ความเครียด หรือปัญหาความสัมพันธ์ในชีวิต สำหรับพวกเขาไอดอลคือพื้นที่ปลอดภัยที่ช่วยเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์มากขึ้น และเมื่อรุนแรงขึ้นอาจพัฒนาสู่การซาแซงได้ 

ข้อสาม อิทธิพลจากกลุ่มแฟนคลับ 

บางครั้งกลุ่มแฟนคลับไอดอลด้วยกันเองก็สนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมซาแซงเช่นกัน เพราะเมื่อแฟนคลับรวมตัวกัน มักมีการสร้างค่านิยม ความเชื่อ และกฎภายในกลุ่มขึ้น ดังนั้น ถ้าภายในกลุ่มเชื่อว่าการได้ภาพส่วนตัวหรืการสะกดรอยตามศิลปินเป็นวิธีแสดงความรัก ทำให้สมาชิกอาจมองว่าสิ่งนี้ทำได้ และชื่นชมผู้ที่ทำพฤติกรรมดังกล่าว 

ข้อสี่ ขอบเขตโลกออนไลน์กับออฟไลน์ 

โซเชียลมีเดียทำให้ศิลปินและแฟนคลับใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่ง มันก็ทำให้แฟนคลับบางคนลืมเคารพพื้นที่ส่วนตัวของศิลปินเช่นกัน 


 

  • ซาแซงส่งผลอย่างไรต่อศิลปิน? 

ในช่วงที่ผ่านมา ศิลปินหลายคนได้ออกมาเปิดเผยว่า การถูกซาแซงส่งผลต่อสภาพจิตใจของพวกเขาอย่างมาก เช่น กรณีของ คิมแจจุง (Kim Jae-joong) ที่ออกมาเปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีในวงการบันเทิง การถูกสะกดรอยตามส่งผลต่อสภาพจิตใจของเขามาก “การถูกสะกดรอยเจ็บปวดจนผมรู้สึกเหมือนอยากตาย” เขากล่าว

เหตุการณ์ที่รุนแรงกว่านั้นคือ กรณีของ ซงแจริม (Song Jae-rim) นักแสดงจากละครเรื่อง The Moon Embracing the Sun ที่ภายหลังเขาเสียชีวิต มีการเปิดเผยว่า เขาถูกคุกคามและสะกดรอยตามจากแฟนคลับเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี 

โดยแฟนคลับได้โพสต์ภาพชีวิตส่วนตัวของเขาลงใน X พร้อมถ้อยคำเสียดสี เช่น “ของขวัญจากแฟนกลายเป็นของขวัญแก่คนรู้จักคุณอีกทีหรือ?” หรือ “คุณจะแสดงได้ดีจนซ่อนตัวตนเลวร้ายที่แท้จริงของตัวเองได้หรือ?”

ความรักและชื่นชมเป็นความรู้สึกที่ดีและมีคุณค่าเสมอ แต่ความรักที่ลืมความเคารพ ให้เกียรติ และอิสระระหว่างกัน อาจนำไปสู่โศกนาฎกรรมมากกว่าสุขนาฏกรรม


 

related